การประชุมชี้แจงเกณฑ์การประเมินคุณภาพวารสารในฐานข้อมูล TCI รอบที่ 5 พ.ศ. 2568-2572

ศูนย์ดัชนีการอ้างอิงวารสารไทย (TCI) จัดให้มี “ประชุมชี้แจงเกณฑ์การประเมินคุณภาพวารสารในฐานข้อมูล TCI ในรอบที่ 5 พ.ศ. 2568-2572” เมื่อวันพุธที่ 30 สิงหาคม 2566 ณ โรงแรมรามาการ์เด้นส์ กรุงเทพมหานคร โดยมีบรรณาธิการ กองบรรณาธิการ และผู้เกี่ยวข้องวารสาร ทั้งสิ้น 480 คน จาก 240 วารสาร

การประชุมประกอบด้วย 4 หัวข้อ ดังนี้

1. เกณฑ์ประเมินคุณภาพวารสารในฐานข้อมูล TCI รอบที่ 5 (พ.ศ. 2568-2572)

รศ.ธีระศักดิ์ หมากผิน นักวิจัย ศูนย์ดัชนีการอ้างอิงวารสารไทย บรรยายในหัวข้อ “เกณฑ์หลักของเกณฑ์การประเมินคุณภาพวารสารในฐานข้อมูล TCI รอบที่ 5 (พ.ศ.2568-2572)” กล่าวถึงเกณฑ์หลัก 6 ข้อ (ไม่คิดคะแนน) แต่วารสารกลุ่มที่ 1 ต้องผ่านเกณฑ์หลักทุกข้อ จากนั้น คุณสันติ อิทธิฤทธิ์มีชัย และ คุณสุตพิชญ์ชา ธงดาชัย นักสารสนเทศ ศูนย์ดัชนีการอ้างอิงวารสารไทย บรรยายในหัวข้อ “เกณฑ์รองของเกณฑ์การประเมินคุณภาพวารสารในฐานข้อมูล TCI รอบที่ 5 (พ.ศ.2568-2572)” โดยกล่าวถึงเกณฑ์รอง 9 ข้อ ที่คิดเป็นคะแนนเต็ม 20 คะแนน ซึ่งวารสารกลุ่มที่ 1 นอกจากจะผ่านเกณฑ์หลักทุกข้อแล้ว จะต้องได้คะแนนในเกณฑ์รองรวม 16 คะแนนขึ้นไปด้วย

สำหรับรายละเอียดของเกณฑ์หลักและเกณฑ์รองในการประเมินคุณภาพวารสารรอบที่ 5 เพื่อรับรองวารสารตั้งแต่ พ.ศ. 2568-2572 มีดังนี้



2. ภารกิจกองบรรณาธิการหลังการประเมินคุณภาพวารสาร

คุณวุฒิสิทธิ์ ย่อชัย ผู้ช่วยนักวิจัย ศูนย์ดัชนีการอ้างอิงวารสารไทย กล่าวถึงข้อมูลในภาพรวมของกระบวนการดำเนินงานด้านวารสารและความเชื่อมโยงในระบบต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ผ่านระบบ Fast-Track Indexing เพื่อนำข้อมูลไปวิเคราะห์ในระบบ Thailand Research Analysis and Performance (ThaiRAP) พร้อมให้แนวทางและข้อควรระวังในการนำเข้าข้อมูล Metadata ที่ถูกต้อง

รายละเอียดข้อมูลบทความที่ต้องนำเข้าในระบบ Fast-Track Indexing
        1) Metadata
            1.1) ชื่อบทความ (Title) (Eng/Local)
            1.2) บทคัดย่อ (Abstract) (Eng/Local)
            1.3) คำสำคัญ (Author Keywords) (Eng/Local)
            1.4) เลขหน้า (Page Number)
            1.5) ประเภทบทความ (Document Type)
            1.6) เลข DOI (ถ้ามี)
            1.7) URL
            1.8) หน่วยงานที่ให้ทุน (Funder) (Eng/Local)
        2) Authors
            2.1) ชื่อผู้แต่ง (Name) (Eng/Local)
            2.2) สังกัดผู้แต่ง (Eng/Local)
            2.3) ประเทศผู้แต่ง (Country)
            2.4) Corresponding Author
            2.5) E-mail
        3) References

ปัญหาที่พบในการนำเข้าข้อมูล Metadata
        1) ข้อมูลไม่ตรงกับไฟล์บทความต้นฉบับที่ตีพิมพ์เรียบร้อยแล้ว
        2) ลงบทคัดย่อไม่ถูกต้องหรือไม่ครบถ้วน
        3) การใส่ Keywords ไม่ถูกต้อง ใช้ Semicolon (;) คั่นระหว่าง keyword แต่ละคำ
        4) ไม่ใส่ URL, ใส่ URL ผิด ต้องใส่ URL หน้าแรกของบทความไม่ใช่ URL ดูไฟล์ PDF
        5) การใส่ DOI ไม่ถูกต้อง
        6) ระบุหน่วยงานให้ทุน (Funder) ไม่ถูกต้อง
        7) ลงข้อมูลผู้แต่งไม่ครบและไม่ตรงช่องภาษา บทความตีพิมพ์ภาษาอังกฤษทั้งหมดไม่ต้องระบุชื่อภาษาไทย
        8) ลงสังกัดผู้แต่งไม่ครบและไม่ตรงกับไฟล์บทความต้นฉบับ บทความตีพิมพ์ภาษาอังกฤษทั้งหมด ไม่ต้องระบุสังกัดภาษาไทย กรณีผู้แต่งมีสังกัดเดียวให้นำมาใส่ที่ช่อง Primary (Eng/Local)
        9) ระบุยศ ตำแหน่งผู้แต่ง หลักสูตรวิชา ไม่ต้องระบุข้อมูลเหล่านี้
        10) ไม่ระบุอีเมลผู้แต่ง
        11) ไม่แยกหน่วยงานย่อย ระดับภาควิชา คณะ และหน่วยงานหลัก ระดับมหาวิทยาลัย
        12) ไม่เลือก Corresponding Author
        13) ไม่เลือกประเทศผู้แต่ง
        14) ไม่ลงรายการอ้างอิง ไม่แยกรายการอ้างอิง ลงรายการอ้างอิงแต่ไม่ถูกต้อง
        15) รายการอ้างอิงที่ไม่ต้องกด Auto Fill ได้แก่ วิทยานิพนธ์ (Thesis) หนังสือ (Books) รายงาน (Report) ประชุมวิชาการ (Conference)

ประโยชน์ของระบบ Fast-Track Indexing 
        1) ลดเวลาในการนำข้อมูลบทความเข้าสู่ฐานข้อมูล TCI
        2) ข้อมูลบทความวารสารที่มีการตีพิมพ์แล้วถูกบรรจุอยู่ในฐานข้อมูล TCI เร็วขึ้น
        3) ผู้อ่านสามารถเข้าถึงบทความในฐานข้อมูล TCI ได้เร็วขึ้น ทำให้มีการอ้างอิงเพิ่มขึ้น
        4) ข้อมูลบทความใน TCI มีความถูกต้องมากขึ้น เพราะกองบรรณาธิการวารสารนำเข้าข้อมูลบทความด้วยตนเองเป็นประโยชน์ต่อการวิเคราะห์ข้อมูลในระบบ ThaiRAP
        5) ผู้แต่งสามารถนำข้อมูลการตีพิมพ์ไปใช้ประโยชน์ในเรื่องการสำเร็จการศึกษา/การเลื่อนตำแหน่งทางวิชาการและการประกันคุณภาพได้เร็วขึ้น

3. การประเมินด้านจริยธรรมและจรรยาบรรณวารสารวิชาการไทยในฐานข้อมูล TCI

ศ.ดร.ณรงค์ฤทธิ์ สมบัติสมภพ หัวหน้าศูนย์ดัชนีการอ้างอิงวารสารไทย ให้ความรู้ความเข้าใจด้านจริยธรรมและจรรยาบรรณฯ ของบรรณาธิการและกองบรรณาธิการวารสาร ตามประกาศจริยธรรมฯ ณ วันที่ 21 กรกฎาคม 2566 และการประเมินจริยธรรมนี้ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของเกณฑ์การประเมินวารสารฯ รอบที่ 5 แต่เป็นการดำเนินการทุก ๆ วัน เมื่อเกิดข้อร้องเรียน ดังนั้น บรรณาธิการและกองบรรณาธิการวารสารควรจะดำเนินงานให้ถูกต้องตามหลักจริยธรรมและจรรยาบรรณ (Publication ethics) ซึ่งถือว่าเป็นองค์ประกอบสำคัญในการเพิ่มศักยภาพในการพัฒนางานวิจัยผ่านวารสารวิชาการที่มีคุณภาพ รวมถึงเรื่องการเก็บค่าธรรมเนียม Article Processing Charges (APC) วารสารควรจะประกาศให้ชัดเจนและยุติธรรม เนื่องจากหากไม่มีความโปร่งใส ไม่เท่าเทียม และไม่เป็นธรรม (Fast track) วารสารจะไม่สามารถอยู่ใน TCI กลุ่มที่ 1 ได้ เนื่องจากเหตุผลด้านจริยธรรมและจรรยาบรรณของกองบรรณาธิการวารสารนี้

4. ช่วงคำถาม-คำตอบ

ศ.ดร.ณรงค์ฤทธิ์ สมบัติสมภพ หัวหน้าศูนย์ดัชนีการอ้างอิงวารสารไทย เปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมประชุมสอบถามปัญหาและข้อสงสัย โดยมีประเด็นสำคัญ ๆ ดังนี้

การเปิดเผยข้อมูลผู้ทรงคุณวุฒิในการพิจารณาบทความเพื่อยื่นขอตำแหน่งทางวิชาการ
หากวารสารกำหนดบนเว็บไซต์ว่าเป็น Blind Peer Review นั่นหมายความว่า ต้องไม่มีการเปิดเผยชื่อและข้อมูลใด ๆ (รวมถึงต้นสังกัด) ของผู้ทรงคุณวุฒิ ถ้าหากอยากเปิดเผยกองบรรณาธิการต้องพิจารณาดำเนินการอย่างน้อย 2 ข้อ ดังนี้
    1) ระบุให้ชัดเจนบนเว็บไซต์ของวารสารว่าเป็นการ Semi-Blind Peer Review กล่าวคือ เปิดเผยข้อมูลบางส่วน เช่น ชื่อ-สกุล หรือ ต้นสังกัดผู้ประเมิน เป็นต้น
    2) แจ้งและขอความยินยอมเป็นลายลักษณ์อักษรจากผู้ทรงคุณวุฒิขณะเชิญพิจารณาบทความ

หากวารสารมีการเปิดเผยข้อมูลใด ๆ ของผู้ประเมินโดยไม่ได้มีการแจ้งบนเว็บไซต์ และไม่ได้รับความยินยอมที่เป็นลายลักษณ์อักษรจากผู้ทรงคุณวุฒิ ทาง TCI อาจถือว่าวารสารไม่ดำเนินการตามนโยบายที่กำหนด และอาจเข้าข่ายผิดจรรยาบรรณการจัดการวารสารและอาจมีผลให้วารสารถูกถอดถอนออกจากฐานข้อมูล TCI ได้
กองบรรณาธิการควรยึดมั่นในการทำงานวารสารเพื่อเผยแพร่ผลงานทางวิชาการ ไม่ใช่เพื่อตำแหน่งทางวิชาการ

สำหรับกรณีที่ต้องการแสดงชื่อผู้ทรงคุณวุฒิในการพิจารณาบทความเพื่อแสดงความขอบคุณสามารถทำได้โดยการประกาศรายชื่อผู้ทรงคุณวุฒิรวมแต่ละปีในวารสารฉบับแรกของปีถัดไป การแสดงความขอบคุณผู้ทรงคุณวุฒิที่นิยมทำกัน เช่น ถ้าเป็นวารสาร Open access ให้ผู้ทรงคุณวุฒิส่งบทความเพื่อตีพิมพ์ในอัตราค่าตีพิมพ์ 50% หรือให้ตีพิมพ์ฟรี 1 บทความ หรือถ้าเป็นวารสารบอกรับสมาชิกก็ให้ดาวน์โหลดฟรี 30 วัน เป็นต้น (Scopus ทำแบบนี้) 

จรรยาบรรณกับจริยธรรมของบรรณาธิการวารสาร
จรรยาบรรณ คือ ข้อตกลงที่มีร่วมกันในแต่ละช่วงเวลา
จริยธรรม คือ มาตรฐานการทำงานที่ดี

จรรยาบรรณาและจริยธรรมของบรรณาธิการวารสารตามประกาศ TCI พ.ศ. 2566
    1) บรรณาธิการต้องดำเนินการกับบทความที่ตรวจพบการตีพิมพ์ซ้ำ (Duplication) มีข้อมูลการวิจัยซ้ำซ้อน (Similarities) โดยไม่ได้รับอนุญาตและไม่มีการอ้างอิงอย่างถูกต้อง บรรณาธิการต้องทำการ Retracted (ไม่ได้ถอดออกแต่ให้ทำการใส่คำว่า Retracted ในบทความ พร้อมระบุเหตุผลด้วยยิ่งดี) ถ้าได้ทำการตีพิมพ์บทความไปแล้ว หรือ Reject ถ้ายังไม่ตอบรับตีพิมพ์ หรือ Withdraw ถ้ายังไม่เข้าสู่กระบวนการพิจารณา
    2) หัวหน้าบรรณาธิการวารสาร (Editor-in-Chief) บรรณาธิการ (Editors) รองบรรณาธิการ (Associate Editors) และผู้ช่วยบรรณาธิการ (Assistant Editors) (ผู้มีอำนาจตัดสินใจรับหรือไม่รับตีพิมพ์บทความ) ไม่ควรตีพิมพ์ในวารสารของตนเองอย่างมีนัยสำคัญ (ไม่เกิน 1 บทความ/ปี) เนื่องจากเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับบทความ (Conflicts of interest) เพราะคงไม่มีบรรณาธิการคนไหนปฏิเสธการตีพิมพ์บทความของตนเอง อย่างไรก็ตาม
กองบรรณาธิการวารสาร (Editorial Board) สามารถตีพิมพ์บทความในวารสารได้ตามบทบาทและหน้าที่ของกองบรรณาธิการ
    3) บรรณาธิการต้องไม่มีการให้อ้างอิงบทความในวารสารตนเองทั้งในลักษณะลับหรือเปิดเผย และ/หรือมีการใช้การอ้างอิงที่ไม่ถูกต้องและสอดคล้องกับเนื้อหา
    4) บรรณาธิการต้องมีการเก็บค่าธรรมเนียมการตีพิมพ์ (Article Processing Charges: APC) ที่โปร่งใส เท่าเทียม และเป็นธรรม เช่น มีประกาศระบุการเรียกเก็บ ระบุอัตราค่าธรรมเนียมและเงื่อนไขการเรียกเก็บอย่างชัดเจน และไม่มีการเรียกเก็บค่า APC สำหรับการดำเนินการแบบเร่งด่วน (Fast track) เป็นต้น
    5) บรรณาธิการต้องการดำเนินงานและบริหารจัดการวารสารเป็นไปตามนโยบายและวัตถุประสงค์อย่างถูกต้อง และ/หรือดำเนินการกับผู้เขียนหรือบทความที่ตรวจพบว่า มีการกระทำผิดด้านจริยธรรมและจรรยาบรรณอย่างเหมาะสม TCI จะตรวจสอบจากหน้าเว็บไซต์หลักและหน้าข้อมูลวารสาร การนำเสนอภาพบรรณาธิการหรือกองบรรณาธิการในหน้าหลักสามารถทำได้ แต่ไม่ควรนำเสนอรูปอธิการมหาวิทยาลัยเพราะหน้าหลักเว็บไซต์วารสารไม่ใช่หน้าหลักเว็บไซต์มหาวิทยาลัย
    6) บรรณาธิการต้องดำเนินการกับประเด็นอื่น ๆ ที่ละเมิดหลักจริยธรรมและจรรยาบรรณของวารสาร เมื่อมีข้อร้องเรียนบรรณาธิการวารสารมายัง TCI ทาง TCI จะทำหนังสือถึงบรรณาธิการโดยไม่มีการปกปิดชื่อและข้อมูลใด ๆ และให้เวลาในการชี้แจง 30 วัน หากบรรณาธิการวารสารสามารถชี้แจงข้อร้องเรียนได้ก็จบ (ส่วนใหญ่เป็นแบบนี้) แต่ถ้าไม่ชี้แจงหรือการชี้แจงไม่เป็นเหตุเป็นผลก็จะเข้าสู่กระบวนการพิจารณาโดยคณะกรรมการพิจารณาจริยธรรมและจรรยาบรรณของวารสารวิชาการไทยในฐานข้อมูล TCI

บทบาทและความสำคัญของกองบรรณาธิการวารสาร (ควรเปลี่ยนทุก 2-3 ปี อย่างน้อย 50%)
    1) กองบรรณาธิการมีหน้าที่กำกับนโยบาย ให้ข้อคิดเห็น และข้อเสนอแนะแก่บรรณาธิการวารสาร ตลอดจนแนวทางการดำเนินงานของวารสารด้วย
    2) กองบรรณาธิการวารสารมีหน้าที่หาผู้ทรงคุณวุฒิในการพิจารณาบทความ (Peer review)
    3) กองบรรณาธิการวารสารมีหน้าที่ในการพิจารณาบทความ ช่วยยกระดับคุณภาพวารสารให้สูงขึ้น
    4) กองบรรณาธิการวารสารมีหน้าที่ช่วยแนะนำและส่งบทความมาตีพิมพ์ในวารสาร กรณีที่วารสารมีบทความไม่เพียงพอในการตีพิมพ์

การระบุสถานะของบทความระหว่างกระบวนการพิจารณาในบทความ
    1) การระบุวันที่รับบทความ (Received) คือ วันเดือนปีที่กองบรรณาธิการวารสารส่งบทความเข้าสู่กระบวนการพิจารณาบทความ (Peer review) ไม่ใช่วันที่ผู้เขียนส่งบทความเข้าสู่ระบบ
    2) วันที่แก้ไขบทความ (Revised) คือ วันเดือนปีที่ผู้เขียนส่งบทความฉบับแก้ไขครั้งสุดท้ายเรียบร้อยแล้ว และส่งมายังกองบรรณาธิการวารสาร ทั้งนี้เพื่อยืนยันว่าวารสารมีกระบวนการพิจารณาและกองบรรณาธิการได้พิจารณาผลการแก้ไขบทความของผู้เขียนก่อนตีพิมพ์
    3) วันที่ตอบรับบทความ (Accepted) คือ วันเดือนปีที่กองบรรณาธิการวารสารตอบรับการตีพิมพ์บทความของผู้เขียน

จำนวนบทความที่ตีพิมพ์ต่อฉบับ
จำนวนบทความที่ตีพิมพ์แต่ละฉบับควรมีความสม่ำเสมอซึ่งควรมีอย่างน้อยที่สุด 4-5 บทความ แต่ที่ดีควรประมาณ 8-10 บทความ และมีความแตกต่างกันได้แต่ไม่ควรเกิน 20-25% ของจำนวนบทความในแต่ละฉบับ

การระบุและเปลี่ยนแปลงสังกัดผู้เขียน
สังกัดผู้เขียนในบทความควรระบุตั้งแต่สาขา คณะ และมหาวิทยาลัย หรืออย่างน้อยควรระบุคณะและมหาวิทยาลัย กรณีที่ผู้เขียนขอแปลงเปลี่ยนสังกัดภายหลังการประเมินคุณภาพเสร็จสิ้น (ย้ายสถานที่ทำงาน) ทำไม่ได้ เนื่องจากมีผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเกิดขึ้นจากการกระทำนี้ หน่วยงานที่สังกัดเดิมอาจฟ้องร้องวารสารได้ อะไรที่เสร็จสิ้นไปแล้วก็ต้องเป็นไปตามนั้น เพื่อป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้นตามมาจากการทำงานของกองบรรณาธิการ

ลิขสิทธิ์บทความ
เมื่อบทความได้รับการตีพิมพ์แล้วลิขสิทธิ์เป็นของวารสาร หากผู้เขียนต้องการใช้รูปในบทความของตนเองต้องขออนุญาตจากบรรณาธิการหรือสำนักพิมพ์และอ้างอิงให้ถูกต้อง

การแก้ไขไฟล์บทความที่ตีพิมพ์แล้ว
บทความที่ตีพิมพ์แล้วไม่ควรแก้ไข แต่หากไม่ใช่การแก้ไขทางวิชาการยังพอสามารถทำได้ เช่น การแก้ไขคำผิด ชื่อผู้เขียนสะกดผิด สังกัดผู้เขียนสะกดผิด เป็นต้น สำหรับการแก้ไขทางวิชาการที่ไม่ควรแก้ไข เช่น การเพิ่มหรือลบรายการอ้างอิง การแก้ไขข้อมูลตารางและภาพประกอบ หากจำเป็นต้องแก้ไขจริง ๆ ให้ทำใบชี้แจงการแก้ไข 

การเพิ่มหรือลดจำนวนฉบับที่ตีพิมพ์ต่อปี
สามารถทำได้โดยทำหนังสือหรืออีเมลแจ้ง TCI แต่ต้องแจ้งล่วงหน้าทั้งกับ TCI และผู้เขียน (ผ่านเว็บไซต์) อย่างน้อย 1 ปี เพราะผู้เขียนต้องการที่จะตีพิมพ์บทความอย่างรวดเร็ว นอกจากนี้การมีบทความจำนวนมากเป็นการเพิ่มโอกาสที่วารสารจะถูกอ้างอิงมากขึ้นด้วย

วารสารมีการตีพิมพ์บทความต่อเนื่องจากงานประชุมวิชาการ
วารสารสามารถตีพิมพ์บทความต่อเนื่องจากงานประชุมวิชาการได้ เนื่องจากแนวคิดตั้งต้นของงานประชุมวิชาการบทความจะถูกเรียกว่า Preprint และเรียกบทความที่ไปตีพิมพ์ต่อในวารสารว่า Reprint สมัยก่อนในงานประชุมวิชาการผู้นำเสนอจะนำเสนอบทความที่เขียนด้วยลายมือ (ยังไม่พิมพ์จริง = Preprint) ถ้าบทความไหนดีก็จะถูกเลือกไปตีพิมพ์ต่อในวารสารซึ่งจะกลายเป็นบทความที่เผยแพร่จริง (Reprint) ทำให้ไม่มีการตีพิมพ์ซ้ำเกิดขึ้น แต่ปัจจุบันไม่มีคำว่า Preprint โดนเปลี่ยนเป็น Proceeding 3-5 หน้า เพื่อให้ผู้เข้าร่วมประชุมสามารถเลือกได้ว่าจะเข้าฟังการนำเสนอเรื่องอะไร ในส่วนลักษณะของ Preprint หรือ Proceeding จะมีลักษณะไม่เข้มข้น แต่ส่วนมากมักจะไม่ถูกปฏิเสธการนำเสนอ (Reject) เนื่องจากแนวคิดของงานประชุมวิชาการ คือ การที่ผู้เขียนทำงานที่ทำมาแล้ว 70-80% นำเสนอในที่ประชุมเพื่อรับฟังความเห็นจากนักวิชาการในสาขาเดียวกัน เมื่อบรรณาธิการหรือประธานการประชุม (Chairman) เห็นว่า บทความนี้ดีมีผู้ให้ความคิดเห็นและสนใจเป็นจำนวนมากก็จะเลือกบทความไปตีพิมพ์เป็น Special Issue ในวารสาร หรือบางงานประชุมจะระบุไว้ว่าจะเลือกบทความไปตีพิมพ์ต่อในวารสาร เราจะเห็นลักษณะนี้เป็นส่วนมากซึ่งสามารถทำได้และทำมาอย่างยาวนาน แต่ต้องมีประเมินคุณภาพบทความก่อนตีพิมพ์ด้วยกระบวนการของวารสารเองอีกครั้ง

การทำ Special Issue สามารถทำได้เลยไม่ต้องแจ้ง TCI โดยให้เลือกฉบับใดฉบับหนึ่งของวารสารเป็น Special Issue แทนการตีพิมพ์ปกติ ไม่ใช่การเพิ่มจำนวนฉบับขึ้นมาอีกหนึ่งฉบับจากการตีพิมพ์ปกติ

สำหรับผู้เขียนเมื่อต้องการนำบทความที่ได้รับการปรับปรุงแก้ไขบทความจนมีความสมบูรณ์จากการนำเสนอในงานประชุมวิชาการแล้ว ควรมีการระบุข้อความในบทความว่า บทความนี้ได้ผ่านการนำเสนอในการประชุมวิชาการ….แล้ว การระบุข้อความลักษณะนี้เพื่อแสดงเจตนาบริสุทธิ์ของผู้เขียน และง่ายในการตัดสินใจของบรรณาธิการ

สำหรับบรรณาธิการวารสารเมื่อผู้เขียนส่งบทความที่ผ่านงานประชุมวิชาการมาแล้ว สิ่งที่ต้องทำคือตรวจสอบลิขสิทธิ์ในบทความที่เคยตีพิมพ์ในงานประชุมวิชาการว่ามีหรือไม่ หากมีลิขสิทธิ์ในบทความต้องทำการขออนุญาตเจ้าของงานประชุมก่อนรับประเมินคุณภาพบทความ

การใช้ผู้ทรงคุณวุฒิสังกัดเดียวกันกับผู้เขียน
เนื่องจากในกระบวนการประเมินคุณภาพบทความสังกัดผู้เขียนและผู้ทรงคุณวุฒิต้องไม่ใช่สังกัดเดียวกัน (มหาวิทยาลัย/กอง) เป็นเกณฑ์รองในการประเมินของ TCI ซึ่งมิอาจลดความสำคัญในเกณฑ์ข้อนี้ได้ อย่างไรก็ตาม การประเมินคุณภาพบทความผู้ทรงคุณวุฒิต้องไม่ใช่สังกัดเดียวกับผู้เขียนอย่างน้อย 2 ท่านต่อบทความ ฉะนั้น หากมีความจำเป็นด้วยข้อจำกัดเรื่องความเชี่ยวชาญของผู้ทรงคุณวุฒิที่ต้องใช้ในสังกัดเดียวกับผู้เขียน สามารถใช้ผู้ทรงคุณวุฒิท่านที่ 3 เป็นผู้ประเมินบทความได้ และต้องไม่เกิน 50% ของผู้ประเมินทั้งหมด

Rating

Average: 1 (1 vote)