การประชุมเพื่อสร้างเครือข่ายการพัฒนาคุณภาพวารสารวิชาการไทย ครั้งที่ 11
ศูนย์ดัชนีการอ้างอิงวารสารไทย (Thai Journal Citaion Index Centre: TCI) จัดการประชุมเพื่อสร้างเครือข่ายการพัฒนาคุณภาพวารสารวิชาการไทย ครั้งที่ 11 ภายใต้ธีม "The 11th TCI Symposium on Thai Scholarly Journals Towards Scholarly Publishing Qualities: Ethics, Visibility and E-Journal Management" ณ โรมแรมแมนดาริน เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2559 โดยมีลำดับการประชุม ดังนี้
- การประกาศผลการพิจารณารางวัล TCI-SCOPUS-TRF Journal Award ครั้งที่ 3
- การบรรยายเรื่อง "Scopus: if you can't be found, you don't exist" โดย Susanne Steiginga (Product Manager Scopus Content)
- การบรรยายเรื่อง "Seeking Quality in Scholarly Publishing: How to Identify and Avoid Predatory Journals" โดย Jeffrey Beall (University of Colorado Denver)
- การบรรยายเรื่อง "กระบวนการเชื่อมต่อระบบ EPS กับ ThaiJO" โดย ชูชาติ หฤไชยะศักดิ์ (ห้องปฏิบัติการวิจัยเทคโนโลยีเสียง (SPT) ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC))
- การบรรยายเรื่อง "การตรวจสอบรูปแบบบทความเพื่อเข้าสู่ระบบค้นหาความซ้ำซ้อนของเนื้อหาสำหรับวารสารและงานวิชาการไทย" โดย สันติพงษ์ ไทยประยูร (NECTEC) และ สันติ อิทธิฤทธิ์มีชัย (TCI)
- การระดมสมองเรื่อง "การพัฒนาคุณภาพวารสารวิชาการไทย" โดย ณรงค์ฤทธิ์ สมบัติสมภพ (TCI)
การบรรยายใน 3 เรื่องแรก (ช่วงเช้า) เป็นการบรรยายภาคภาษาอังกฤษล้วน ซึ่งต้องเรียนตามตรงว่าผมเองภาษาอังกฤษไม่ดีเลย (จริงๆ แย่เลยด้วยซ้ำ) จึงไม่สามารถเก็บเกี่ยวข้อมูล ความรู้ใน 3 เรื่องแรกมาได้เลย ต้องกราบขออภัยผู้อ่านที่คาดหวังองค์ความรู้ใน 3 เรื่องแรกไว้ ณ ที่นี้ด้วย แต่หากท่านใดสนใจเอกสารประกอบการบรรยายก็ฝากข้อความไว้ เดี๋ยวผมจะส่งไปให้ครับ
ทีนี้ มาเข้าสู่ประเด็นที่ผมเก็บเกี่ยวมาได้กันเลยครับ
ตลอดระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมา ในการประชุมประจำปีของ TCI เรื่องที่เน้นย้ำและผลักดันให้เกิดขึ้นมาคือ การทำให้วารสารวิชาการไทยเป็นวารสารอิเล็กทรินิกส์ ซึ่งหมายถึงกระบวนการทำงานของวารสารทั้งหมด ตั้งแต่การส่งบทความ (submission) การพิจารณาบทความ (peer review) และการเผยแพร่บทความ (publish) ซึ่งทาง TCI ร่วมกับ NECTEC ในการพัฒนา ThaiJO เพื่อเป็นเครื่องมือสนับสนุนการก้าวเข้าสู่ยุควารสารอิเล็กทรอนิกส์ของไทย เบื้องต้นทาง TCI จะให้บริการกับวารสารที่อยู่ในฐานข้อมูล TCI ก่อนเป็นลำดับแรก ทั้งการติดตั้งระบบและการฝึกอบบรม ปัจจุบันมีวารสารใช้บริการ ThaiJO จำนวน 241 วารสาร มีการอัพเดทข้อมูลต่อเนื่อง 170 วารสาร และใช้ระบบ online submission จำนวน 40 วารสาร
แต่นับจากปี 2560 เป็นต้นไป ThaiJO จะไม่ใช่แค่ระบบจัดการวารสารอิเล็กทรอนิกส์หรือวารสารออนไลน์เพียงเท่านั้น เพราะนอกจาก TCI จะใช้ในการสกัดข้อมูลหรือการทำ index บทความในวารสารที่อยู่ในฐานข้อมูล TCI เพื่อหาค่า impact factor แล้ว TCI ยังทำการเพิ่มความสามารถให้กับตัว ThaiJO โดยการติดตั้งระบบ EPS (Extraction and Plagiarism Checking System) ซึ่ง EPS ประกอบด้วย 2 ส่วนหลัก คือ ส่วนแรก matadata extraction เป็นการสกัดเมทาเดตา (matadata) จากบทความ เช่น ชื่อเรื่อง ชื่อผู้แต่ง บทคัดย่อ คำสำคัญ เนื้อหา และรายการอ้างอิง และส่วนที่สอง plagiarism checking เป็นการตรวจสอบความซ้ำซ้อนของเนื้อหาบทความ โดยจะทำการตรวจเทียบกับคลังบทความวารสารที่จัดเก็บไว้ ซึ่งแสดงเป็นเปอร์เซ็นต์พร้อมระบุแหล่งข้อมูลที่พบ
ฉะนั้น ThaiJO + EPS นอกจากจะช่วยให้วารสารวิชาการไทยก้าวเข้าสู่การเป็นวารสารอิเล็กทรอนิกส์แล้ว ในฝั่ง TCI จะช่วยในการจัดเก็บข้อมูลบทความและวารสาร การจัดทำค่า impact factor ที่มีการประกาศทุกปี ซึ่ง TCI อ้างว่าระบบนี้จะช่วยให้ประกาศได้เร็วขึ้น รวมทั้งลดภาระของคนทำงานลงด้วย สำหรับในฝั่งของวารสารก็จะได้ประโยชน์ในการตรวจหาความซ้ำซ้อน การคัดลอกบทความ (plagiarism) รวมทัั้งสร้างความตระหนักในเรื่องจริยธรรมในการตีพิมพ์บทความของวงการวารสารวิชาการไทย อย่างไรก็ตาม ทาง TCI มีกำหนดใช้งาน ThaiJO + EPS ภายในปี 2560 แต่จะใช้ได้จริงช่วงไหนนั้นคงต้องรอประกาศจาก TCI อีกครั้ง
TCI กำหนดเงื่อนไขสำหรับการใช้งานระบบ EPS ไว้ดังนี้
- ต้องเป็นวารสารที่อยู่ในฐานข้อมูล TCI เท่านั้น
- ต้องเป็นวารสารที่ผ่านเกณฑ์การตรวจสอบรูปแบบจาก TCI เท่านั้น
- ไฟล์บทความควรแปลงเป็นไฟล์ PDF จาก Adobe Acrobat, Adobe Indesign และ Microsoft Word เท่านั้น
นอกจากนี้ เบื้องต้นวารสารที่จะใช้ EPS ได้นั้นต้องอยู่ใน ThaiJO ด้วย เนื่องจาก EPS เป็นโปรแกรมที่ติดตั้งเป็นเสมือนปลั๊กอินในตัว ThaiJO วารสารที่อยู่ใน TCI แต่ไม่ได้ใช้ตัว ThaiJO ก็อาจไม่มีโอกาสใช้ EPS ฉะนั้น วารสารที่ต้องการใช้ EPS จริงๆ นอกจากจะต้องอยู่ใน TCI แล้ว คุณต้องอยู่ใน ThaiJO ด้วย ซึ่งในความคิดส่วนตัวของผมเกณฑ์การทำงานของ TCI แบบนี้ เหมือนทำให้วารสารต้องทำงานซ้ำซ้อน เนื่องจากเกณฑ์การประเมินวารสารเพื่อเข้าสู่ฐานข้อมูล TCI มีเกณฑ์ข้อหนึ่งคือ วารสารต้องมีระบบ submission online ซึ่งทำให้วารสารต้องจัดทำระบบวารสารอิเล็กทรอนิกส์ของตัวเองก่อนในการประเมินวารสารเพื่อเข้าสู่ฐานข้อมูล TCI ทั้งนี้เพราะ TCI ไม่ให้บริการ ThaiJO กับวารสารที่ไม่อยู่ในฐานข้อมูล TCI เท่ากับว่าหากวารสารต้องการใช้ ThaiJO + EPS วารสารนั้นต้องทำการโอนย้ายข้อมูลจากระบบที่ทำการพัฒนาก่อนหน้านี้มายัง ThaiJO อีกครั้ง ซึ่งเป็นการทำงานซ้ำซ้อน ความจริงหาก TCI เล็งเห็นความสำคัญของ ThaiJO + EPS และต้องการผลักดันวารสารวิชาการไทยให้ไปสู่วารสารอิเลิกทรอนิกส์ให้เร็วยิ่งขึ้น ควรเปิดโอกาสในการใช้งาน ThaiJO ให้กว้างขวางขึ้น
การบรรยายในหัวข้อที่ 5 เป็นการสาธิตระบบ EPS และการประกาศรายชื่อวารสารที่ผ่านการพิจารณารูปแบบบทความ ซึ่งสามารถดูได้จากเว็บไซต์ TCI อยู่แล้ว สำหรับรูปแบบบทความที่ TCI กำหนดไว้คร่าวๆ ผมได้เขียนไว้ในเนื้อหาการประชุมครั้งที่แล้ว สามารถศึกษาได้จากลิงค์นี้ http://km.oas.psu.ac.th/blog/607 ประเด็นที่เพิ่มเติมเข้ามา คือ รูปแบบการอ้างอิง TCI ขอความร่วมมือให้ปรับรูปแบบการอ้างอิงให้มีลักษณะเดียวกัน เพื่อให้ระบบ EPS สามารถนำเข้าข้อมูลเมทาเดตาได้ถูกต้อง โดยกำหนดรูปแบบและตัวอย่างมา 8 รูปแบบ คือ APA, AMA, Chicago, Turabian, Vancouver, Harvard, IEEE, Numberic อย่างไรก็ตาม รูปแบบ APA ได้รับการท้วงติงว่าอยากให้อ้างอิงรูปแบบจากแหล่งปฐมภูมิ ซึ่งทาง TCI รับไปพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง ส่วนรูปแบบอื่นไม่มีการท้วงติง
มาถึงช่วงที่ทุกคนรอคอย คือ การระดมสมองเรื่อง "การพัฒนาคุณภาพวารสารวิชาการไทย" โดย ณรงค์ฤทธิ์ สมบัติสมภพ (TCI) เช่นเคยเหมือนทุกครั้งมีประเด็นมาบอกเล่า ชี้แจง และแลกเปลี่ยนความคิดในหลายๆ ประเด็น ดังนี้
- ข้อร้องเรียนเกี่ยวกับการพิจารณาคุรณภาพบทความ เช่น การตอบรับบทความโดยไม่มีกระบวนการ peer review พิจารณาจากการตอบรับที่เร็วผิดปกติ การเอื้อประโยชน์กับผู้เขียนบางท่าน การตอบรับบทความของนักศึกษาของกลุ่มที่ปรึกษาเดียวกัน ซึ่งมีเนื้อหาคล้ายกัน ใช้กลุ่มตัวอย่างเดียวกัน ตีพิมพ์ในคราวเดียวกัน เหล่านี้คือประเด็นที่ไม่ควรเกิดขึ้นในวงการวารสารวิชาการไทย และถูกปรับลดกลุ่มภายหลังจากการตรวจสอบแล้ว
- การขอถอนบทความออกจากฐานข้อมูล TCI อันเนื่องมาจากการที่ผู้เขียนตีพิมพ์บทความซ้ำซ้อน TCI แจ้งว่า TCI ไม่มีสิทธิ์ในการเอาบทความออก เพราะบทความมีการ Tranfer ลิขสิทธิ์ ซึ่งลิขสิทธิ์เป็นของวารสาร ฉะนั้น บรรณาธิการเท่านั้นที่มีสิทธิ์ถอน
- ผู้เขียนตีพิมพ์บทความซ้ำซ้อนหรือไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขการตีพิมพ์ของวารสาร การเอาผิดผู้เขียนในกรณีแบบนี้บรรณาธิการต้องร้องเรียนไปยังหน่วยงานต้นสังกัดของผู้เขียน เช่น กรณีเป็นอาจารย์ก็ร้องเรียนไปยังอธิการบดีของมหาวิทยาลัย เพราะผู้เขียนส่งบทความในฐานะอาจารย์ของมหาวิทยาลัยนั้น
- วารสารที่อยู่ในกลุ่ม 1 และกลุ่ม 2 มีพฤติกรรมเปลี่ยนไปเมื่อเข้าสู่ฐานข้อมูล TCI แล้ว เช่น การตีพิมพ์ล่าช้า (มากกว่า 1 ฉบับ) การเปลี่ยนแปลงกำหนดออกของวารสาร เพื่อประโยชน์ในการเข้าสู่ฐานข้อมูล TCI ทาง TCI ขอให้วารสารดำเนินการให้มีความสม่ำเสมอทั้งก่อนและหลังอยู่ในฐานข้อมูล TCI มิเช่นนั้นอาจมีผลในการพิจารณาคุณภาพครั้งต่อไป
- วารสารออกคร่อมปี/วารสารที่ตีพิมพ์ตามปีงบประมาณ TCI แจ้งว่าวารสารไม่ควรมีการตีพิมพ์คร่อมปี เนื่องจากเวลาอ้างอิงคุณจะบอกว่าบทความของคุณอยู่ในวารสารปีไหน
- วารสารที่ตีพิมพ์บทความจำนวนน้อยต่อฉบับ (1-3 บทความต่อฉบับ) จริงอยู่ว่า TCI ไม่ได้กำหนดจำนวนบทความต่อฉบับที่ตายตัวสามารถเพิ่มหรือลดจำนวนบทความได้ตามความเหมาะสม แต่ก็ไม่ควรต่ำกว่า 6-8 บทความต่อฉบับ อย่างน้อย 2 ฉบับต่อปี
- การตีพิมพ์บทความจาก proceedings ในวารสารฉบับพิเศษ ไม่สามารถทำได้ ถ้าจะตีพิมพ์ต้องเลือกบทความและนำมาผ่านกระบวนการ peer review ของวารสารอีกครั้ง การนำเสนอใน proceeding เป็นการนำเสนอเพื่อขอความเห็นจากที่ประชุม เพื่อนำมาปรับปรุงและเผยแพร่ในวารสารอีกครั้ง แต่บทความควรมีพัฒนาการจากการนำเสนอใน proceeding
- การตีพิมพ์เผยแพร่บทความควรมีข้อมูลวันเวลาในกระบวนการทำงานของของวารสาร เช่น received, revised, accepted และ available online เพื่อแสดงกระบวนการทำงานของวารสารและป้องกันการฟ้องร้องเวลามีปัญหาทางกฏหมาย
- การเรียกเก็บค่าตีพิมพ์ (page charge) จะเก็บก็ต่อเมื่อมีการตีพิมพ์ กรณีที่วารสารเรียกเก็บค่าใช้จ่ายจากผู้เขียนไม่ว่าจะเป็นค่าสมาชิกและค่า peer review ควรมีการเขียนให้ชัดเจนว่า "การเก็บค่า... ไม่มีส่วนได้ส่วนเสียกับการตีพิมพ์บทความ" เนื่องจากผู้เขียนอาจเข้าใจว่าเป็นการเรียกเก็บค่าตีพิมพ์ และอาจเกิดปัญหาการฟ้องร้องได้
- ข้อแนะนำสำหรับวารสารกลุ่ม 1 ที่ต้องการเข้าฐานข้อมูล ACI กรณีวารสารตีพิมพ์บทความภาษาไทย จำเป็นต้องมี ชื่อบทความภาษาอังกฤษ ชื่อผู้แต่งและสังกัดภาษาอังกฤษ บทคัดย่อภาษาอังกฤษ รายการอ้างอิงภาษาอังกฤษ (เท่านั้น) กรณีรายการอ้างอิงภาษาอังกฤษ เป็นประเด็นที่ได้รับการถกเถียงกันเป็นเวลานาน จากวารสารฝั่งมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ที่มีคำถามว่าถ้าเอกสารต้นฉบับ (เอกสารเก่า) ไม่มีภาษาอังกฤษจะทำอย่างไร จะให้แปลตามความหมาย (meaning) หรือใช้วิธีทับศัพท์ (romanization) ประเด็นก็คือทั้ง 2 วิธี ไม่สามารถทำให้ผู้แปล 2 ท่าน แปลออกมาตรงกันได้ ข้อสรุปสำหรับประเด็นนี้ คือ ยังไม่มีข้อสรุป TCI รับไปพิจารณาใหม่อีกครั้ง
ปี พ.ศ. 2560 เป็นปีที่ TCI จะผลักดันให้วารสารไทยเข้าสู่วารสารอิเล็กทรอนิกส์อย่างเต็มรูปแบบ เพื่อให้วงการวารสารไทยมีความก้าวหน้าทัดเทียมสากล มาช่วยกันพัฒนาวารสารไทยให้ไปยังจุดนั้น จุดที่วารสารไทยจะพัฒนาไปสู่สากลพร้อมๆ กัน โดยมี TCI คอยช่วยเหลือสนับสนุน
ขอขอบคุณ TCI มา ณ โอกาสนี้
- Log in to post comments
- 56 views