อะไรคือ BIBFRAME

 

 

           ปัจจุบันเทคโนโลยีได้มีความเจริญก้าวหน้าไปอย่างมาก และมีบทบาทในทุก ๆ วงการ ในวงการห้องสมุดเองก็มีการพัฒนาไปอย่างมาก โดยการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้มากขึ้น มีการนำระบบฐานข้อมูลต่าง ๆ เข้ามาใช้ในการดำเนินงานห้องสมุด และการก้าวสู่ห้องสมุดยุคดิจิทัลขึ้นเรื่อย ๆ เพื่อให้ผู้ใช้บริการได้รับประโยชน์มากที่สุด ในส่วนของงานพัฒนาระบบสารสนเทศซึ่งเป็นงานหลังบ้านของงานห้องสมุดก่อนนำหนังสือหรือทรัพยากรสารสนเทศออกบริการสู่มือผู้ใช้ กระบวนงานที่สำคัญหลาย ๆ ด้าน ก็ได้นำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในกระบวนการทำงานด้วยเช่นกัน และโดยมีการสร้างมาตรฐานการจัดเก็บข้อมูลสารสนเทศใช้ร่วมกันมาอย่างยาวนาน และมีการอับเดทข้อมูลให้ทันสมัยอยู่เสมอ ถ้าใครได้ติดตามข่าวสารวงการห้องสมุดอาจจะได้ข่าวว่า เมื่อวันพุธที่ 21 กันยายน 2022 Library of Congress ได้ประกาศว่าจะมีการย้ายไปใช้งานแพลทฟอร์มบริการห้องสมุด FOLIO โดยใช้บริการจาก EBSCO FOLIO Services  เพื่อ "เปลี่ยนรูปแบบการจัดการคอลเลกชั่นและการเข้าถึง" ผ่านแพลตฟอร์มการเข้าถึงคอลเลกชั่นของห้องสมุด การประกาศดังกล่าวแสดงให้เห็นชัดเจนว่า Library of Congress เห็นว่าการตัดสินใจย้ายไปยัง FOLIO เป็นวิธีการเพื่อ “พัฒนา และใช้แพลตฟอร์มไอทีแบบโอเพ่นซอร์ส (Open Source) ที่จะปฏิวัติวิธีการจัดการและเข้าถึงคอลเลกชั่นทั้งแบบรูปเล่มและแบบดิจิทัลที่มีอยู่เป็นจำนวนมากของห้องสมุด สำหรับประชาชนทั่วไป สมาชิกรัฐสภา พนักงานห้องสมุด บรรณารักษ์ และสถาบันอื่น ๆ ที่ใช้งาน การตัดสินใจของ Library of Congress ครั้งนี้ ทำให้ FOLIO ห้องสมุด และแพลตฟอร์มบริการห้องสมุดโอเพนซอร์ส (Open Source) ที่ผู้ขายสร้างขึ้น เป็นทางเลือกที่เป็นไปได้มากขึ้นสำหรับห้องสมุดทั่วโลก และการตัดสินใจนี้เองก็ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญต่ออุตสาหกรรมห้องสมุดในวงกว้าง โดยส่วนหนึ่งของกลยุทธ์ "digital-forward" นี้ รวมถึงแนวทางใหม่ที่ทันสมัยในการเข้าถึงข้อมูล metadata คุณภาพสูง รวมถึงการขยายงานที่ Library of Congress ได้ทำใน BIBFRAME ซึ่งการประกาศดังกล่าวเรียกว่า "มาตรฐานคำอธิบายบรรณานุกรมใหม่คือ พัฒนาโดยห้องสมุด และองค์กรพันธมิตรที่ใช้แบบจำลองข้อมูลที่เชื่อมโยงเพื่อทำให้ข้อมูลบรรณานุกรมมีประโยชน์มากขึ้นทั้งใน และนอกชุมชนห้องสมุด” 

      จากประกาศดังกล่าวได้กล่าวถึง BIBFRAME ซึ่งคืออะไรนั้นหลายคนอาจจะยังสงสัย วันนี้เราจะมาทำความรู้จักไปพร้อมกันค่ะ 

 

       BIBFRAME (Bibliographic Framework Initiative) เป็นแบบจำลองข้อมูลสำหรับคำอธิบายบรรณานุกรมที่ออกแบบมาเพื่อแทนที่มาตรฐาน MARC (Machine-Readable Cataloging) สำหรับข้อมูลบรรณานุกรมในห้องสมุด  ได้รับการพัฒนาโดยหอสมุดแห่งชาติเพื่อให้แนวทางที่อิงตามข้อมูลที่เชื่อมโยงและยืดหยุ่นมากขึ้นในการจัดระเบียบและแบ่งปันข้อมูล metadata ของบรรณานุกรม BIBFRAME ใช้เทคโนโลยี Semantic Web ซึ่งช่วยให้สามารถสร้างข้อมูลที่เชื่อมโยงซึ่งสามารถแชร์และใช้งานโดยระบบต่าง ๆ ได้อย่างง่ายดาย ซึ่งหมายความว่าข้อมูล BIBFRAME สามารถรวมเข้ากับแหล่งข้อมูลอื่นได้ ทำให้ค้นพบและใช้ทรัพยากรของห้องสมุดได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น คุณสมบัติหลักอย่างหนึ่งของ BIBFRAME คือความสามารถในการแสดงความสัมพันธ์ระหว่างหน่วยงาน เช่น ระหว่างงานกับผู้แต่ง หรือระหว่างหนังสือกับหัวเรื่อง สิ่งนี้ช่วยให้สามารถค้นหาและค้นพบทรัพยากรห้องสมุดที่เหมาะสมและแม่นยำยิ่งขึ้น BIBFRAME ยังอยู่ในระหว่างการพัฒนา และแม้ว่าจะได้รับความสนใจในชุมชนห้องสมุด แต่ก็ยังไม่ได้ถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลาย อย่างไรก็ตาม ถือเป็นก้าวสำคัญของวิวัฒนาการของมาตรฐานข้อมูล metadata ของห้องสมุด และมีศักยภาพในการปรับปรุงการเข้าถึงและการค้นพบทรัพยากรของห้องสมุดได้อย่างมาก 

BIBFRAME model 

        ตัวแบบข้อมูลของ BIBFRAME ประกอบด้วยคลาสหลัก 4 คลาส ได้แก่ Creative Work, Instance, Authority และ Annotation ซึ่งในตัวแบบข้อมูลดังกล่าว Creative Work หรือที่นิยมใช้กันโดยทั่วไปว่า Work จะทำหน้าที่เป็นตัวแทนแนวคิดของรายการ (item) ในระบบห้องสมุดแบบดั้งเดิม ส่วน Istance เป็นตัวแทนของวัสดุสารสนเทศของ Work รายการนั้น ๆ สำหรับ Authority จะทำหน้าที่เป็นเหมือนแหล่งสารสนเทศที่เก็บหรือให้นิยามของความสัมพันธ์ระหว่าง Work และ Instance เป็นต้นว่า ข้อมูลที่เป็นนามบุคคล สถานที่ หัวเรื่อง และชื่อหน่วยงาน สำหรับ Annotation จะแสดงสารสนเทศจากแหล่งอื่นที่มีเกี่ยวข้องกับ Work และไม่ได้เป็นเนื้อหาโดยตรงของ Creative Work นั้น ๆ เป็นต้นว่า ข้อมูลของจำนวนหรือตัวเล่มที่ห้องสมุดมี (library holding information) ภาพจากหน้าปก ข้อมูลที่เป็นการวิจารณ์หรือรีวิว 

        จะเห็นว่าตัวแบบข้อมูลของ BIBFRAME จะมีลักษณะที่คล้ายคลึงกันกับ FRBR (Functional Requirements for Bibliographic Reords) ซึ่งมีองค์ประกอบคือ 1) Work อันเป็นข้อมูลของงาน หรือผลงานสร้างสรรค์ที่ได้ถูกจัดทำขึ้น 2) Expression หรือรูปแบบการนำเสนอ 3) Manifestation รูปแบบการเผยแพร่ และ 4) Item อันเป็นข้อมูลของหน่วยรายการทรัพยากรสารสนเทศ แต่วัตถุประสงค์ของ BIBFRAME รวมไปถึงคุณสมบัติในการทำงานระหว่างระบบกลับแตกต่างไปจาก FRBR และ MARC record กล่าวคือ โดยโครงสร้างการอธิบายรายการแล้ว BIBFRAME ยังคงใช้แนวคิดของ RDA ((Resource Description and Access) ซึ่งเป็นการทำรายการบรรณานุกรมทรัพยากรสารสนเทศ (catalog) มาตรฐานใหม่ ซึ่งพัฒนาโดยคณะกรรมการดำเนินการร่วมเพื่อการพัฒนา RDA (Joint Steering Committee for Development of RDA) เป็นแหล่งทรัพยากรในการให้ข้อมูลสำคัญของทรัพยากรสารสนเทศเช่นเดียวกับ FRBR แต่ผู้ใช้ BIBFRAME ไม่จำเป็นต้องคำนึงถึงการใช้ไวยากรณ์ หรือกฎเกณฑ์ (rules) ในการอธิบายรายการใด ๆ นอกจากการระบุแหล่งอ้างอิงของเกณฑ์ในการทำรายการแต่ละชุด  ซึ่งหมายถึงชุดข้อมูล (data set) ทั้งหลายใน BIBFARME จะเน้นเฉพาะความสำคัญของเนื้อหาและเป็นอิสระจากกฎเกณฑ์การทำรายการใด ๆ นั่นเอง 

ข้อจำกัดของ MARC 

       มาตรฐาน MARC เริ่มใช้กันอย่างแพร่หลายทั่วโลกตั้งแต่ทศวรรษที่ 1960 และยังคงใช้เป็นมาตรฐานด้านระเบียนบรรณานุกรมอย่างยาวนานมาจนถึงปัจจุบัน (Gonzales, 2014) ซึ่งในทางปฏิบัตินั้นการใช้ MARC เป็นมาตรฐานอ้างอิงเริ่มประสบปัญหาเมื่อบริบทในการผลิต จัดเก็บ และให้บริการทรัพยากรสารสนเทศได้เปลี่ยนไปตามเทคโนโลยีและกาลเวลา ตัวอย่างของข้อจำกัดของมาตรฐาน MARC ได้แก่ 1) การขาดมาตรฐานอ้างอิงเดียวกัน 2) ไม่ยืดหยุ่นต่อการใช้งาน และ 3) ไม่เอื้อต่อสภาพแวดล้อมที่เป็นเว็บ กล่าวคือ 

        การขาดมาตรฐานอ้างอิงเดียวกันของโครงสร้าง MARC เป็นผลมาจากผู้ใช้ในแต่ละประเทศ ที่ปรับประยุกต์โครงสร้างของ MARC ให้เอื้อต่อการทำงานด้านระเบียนบรรณานุกรมในประเทศของตน ทำให้ปัจจุบันมีเวอร์ชั่นที่แตกต่างกันของ MARC อยู่เป็นจำนวนมากทั่วโลก (Andresen, 2004) ในประเทศไทยใช้ MARC21 เมื่อต้องอ้างอิงมาตรฐาน MARC ในการทำงานระหว่างระบบเช่นเดียวกับสถาบันสารสนเทศในประเทศอื่น แต่ในทางปฏิบัติโครงสร้างของระเบียน MARC อาจแตกต่างกันไปตามการใช้งานในแต่ละประเทศ เช่น MARC21, UKMARC, UNIMARC หรือ KMARC (Korean MARC) เป็นต้น ทำให้โครงสร้างระเบียนซึ่งควรจะมีมาตรฐานเดียวกันเกิดความแตกต่างกันไปในรายละเอียด 

        นอกจากปัญหาของมาตรฐานอ้างอิงที่เป็นหนึ่งเดียวแล้ว MARC ยังมีโครงสร้างข้อมูลที่ขาดความยืดหยุ่นในการใช้งาน เนื่องจากในตอนเริ่มต้นนั้น MARC ถูกพัฒนาขึ้นเพื่ออธิบายรายการทรัพยากรสารสนเทศที่เป็นสื่อสิ่งพิมพ์ ทำให้เมื่อบริบทของทรัพยากรสารสนเทศเปลี่ยนไป ทำให้โครงสร้าง MARC ไม่เอื้อต่อการอธิบายรายการทรัพยากรสารสนเทศที่อยู่ในรูปของสื่อดิจิทัล โสตทัศนวัสดุ ตลอดจนแหล่งทรัพยากรที่เป็นมัลติมีเดีย (Tharani, 2015) แม้ว่าจะมีการสร้างข้อกำหนดของโครงสร้างเพื่อให้ MARC สามารถใช้ในการอธิบายรายการของทรัพยากรสารสนเทศที่เป็นดิจิทัลได้ แต่ด้วยโครงสร้างแบบดั้งเดิมที่ถูกกำหนดมาตั้งแต่ต้น ทำให้ MARC ขาดความยืดหยุ่นในการใช้งาน และยังส่งผลกระทบต่อการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างฐานข้อมูลห้องสมุดกับระบบฐานข้อมูลสหบรรณานุกรม (union catalog system) โดยทั่วไปด้วย (Andresen, 2004) 

          ปัญหาอีกประการของโครงสร้าง MARC คือ ไม่เอื้อต่อสภาพแวดล้อมที่เป็นเว็บ เนื่องจาก MARC จะถูกจัดเก็บในระบบฐานข้อมูลและเข้าถึงได้โดยผ่านระบบสืบค้นของห้องสมุด เช่น OPAC หรือคลังสารสนเทศสถาบัน (IR) เป็นต้น ทำให้กลไกการสืบค้นบนเว็บทั่วไปไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลเหล่านี้ได้ เนื่องจากกลไกการสืบค้นไม่สามารถเข้าถึงฟังก์ชั่นในการอธิบายความสัมพันธ์ ระหว่างตัวข้อมูลและคำอธิบายที่ใช้ควบคุมเนื้อหาในแต่ละเขตข้อมูลได้ ดังนั้น ในยุคปัจจุบันที่รูปแบบการสืบค้นเป็นรูปแบบที่ยึดข้อมูลเป็นศูนย์กลาง (data-centric) โครงสร้าง MARC ซึ่งเป็นรูปแบบการสืบค้นที่ยึดเอกสารเป็นศูนย์กลาง (document-centric) อาจไม่เหมาะสมต่อการนำมาประยุกต์ใช้งานเมื่อพิจารณาในแง่ของการสืบค้นสารสนเทศผ่านเว็บและกลไกการสืบค้น (Alemu, 2012) 

                      ภาพประกอบของโมเดล BIBFRAME 2.0  

 

       นี่ก็เป็นเพียงส่วนหนึ่งของข้อมูลเกี่ยวกับ Bibframe นะคะ ซึ่งกำลังเป็นที่ได้รับความสนใจและกำลังอยู่ระหว่างการศึกษาและเริ่มต้นใช้งาน Demo ในหลาย ๆ ประเทศ ส่วนประเทศไทยของเรานั่นก็กำลังเริ่มต้นศึกษากันในวงกว้างเช่นกัน หากมีการอับเดทข้อมูลใหม่ ๆ อย่างไร ผู้เขียนจะนำมาบอกเล่าให้ฟังกันในครั้งถัดไปนะคะ

 

ที่มา :  

  1. https://bibframe.reasonablegraph.org/ 

  1. https://newsroom.loc.gov/news/library-of-congress-launches-effort-to-transform-collections-management-and-access/s/c432d3c2-780b-4bfe-9123-bbb6c25631bc 

  1. https://tise2015.kku.ac.th/drupal/?q=node/413 

 

 

Rating

Average: 5 (1 vote)