ความรักและความผูกพันธ์ของนัก CATALOG กับ Online Thai Subject Headings

       นับเป็นอีกหนึ่งประสบการณ์สำคัญที่ผู้เขียนได้รับจากการเข้ามาปฏิบัติงานในตำแหน่งใหม่ จากเดิมเคยเป็นบรรณารักษ์บริการคอยให้คำปรึกษาและบริการผู้ใช้บริการมาเป็นเวลาราวๆ 4-5 ปี สู่หน้าที่ความรับผิดชอบใหม่นั่นคือการเป็นบรรณารักษ์งานพัฒนาระบบสารสนเทศและเทคโนโลยีสารสนเทศ โดยทำหน้าที่หลักเป็นบรรณารักษ์งานวิเคราะห์ทรัพยากรสารสนเทศภาษาไทย เนื่องด้วยตัวผู้เขียนก็ร่ำเรียนจบมาแล้วก็หลายปี คล้ายๆ ว่าจะส่งมอบสรรพวิชาความรู้ด้าน Catalog คืนให้แก่อาจารย์ผู้สอนไปแล้วมากกว่าครึ่งหนึ่งของสมองอันน้อยนิด เลยได้แต่คลับคล้ายคลับคลาว่าหลักเกณฑ์การ Catalog หนังสือน่าจะเป็นแบบนั้นแบบนี้ แต่พอได้เริ่มทำงานอย่างจริงจังก็ต้องมารื้อฟื้นความทรงจำและหาข้อมูลเพิ่มเติมกันยกใหญ่ ขอบคุณประสบการณ์ใหม่ที่ได้รับ ผู้เขียนจะตั้งใจและปฏิบัติงานใหม่นี้ให้สำเร็จลุล่วงอย่างดียิ่ง เกริ่นมานาน เข้าเรื่องเลยแล้วกัน  

        ผู้เขียนเริ่มงานวิเคราะห์สารสนเทศโดยการระดมอ่านหนังสือคู่มือของงานวิเคราะห์ทรัพยากรสารสนเทศหลากหลายเล่ม และบวกกับมีพี่เลี้ยงที่น่ารักคอยให้คำปรึกษาและสอนวิธีการใช้ฐานข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับงาน Catalog วันนี้ผู้เขียนจะมาแชร์ประสบการณ์เพื่อบันทึกไว้เป็นความทรงจำว่าครั้งหนึ่งได้เรียนรู้และลงมือปฏิบัติงานจริงๆ สิ่งหนึ่งที่ผู้เขียนสังเกตเห็นนั่นก็คือ การวิเคราะห์ทรัพยากรสารสนเทศจะมีความรักและมีความผูกพันธ์ที่ดีกับฐานข้อมูลการให้หัวเรื่องภาษาไทย หรือ Online Thai Subject Headings ซึ่งผู้เขียนจะขอนำเสนอเป็นขั้นตอนสั้นๆ ในการใช้งาน เพื่อน้องใหม่งาน Catalog จะไว้เป็นแนวทางในการใช้งานต่อไป

    การใช้ฐานข้อมูลหัวเรื่องภาษาไทยออนไลน์ (Thai Subject Heading Database) ซึ่งเป็นฐานข้อมูลหัวเรื่องภาษาไทยที่คณะทำงานกลุ่มวิเคราะห์ทรัพยากรสารสนเทศ ห้องสมุดสถาบันอุดมศึกษาได้จัดทำคู่มือกำหนดหัวเรื่องสำหรับการลงรายการหนังสือภาษาไทยมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2528 โดยเริ่มต้นจากความร่วมมือของคณะทำงานฯ แต่ละสมัย ในการรวบรวมจัดพิมพ์รายการหัวเรื่องเป็นรูปเล่มและได้พัฒนามาเป็นระบบฐานข้อมูล โดยเริ่มต้นจากการใช้ระบบโปรแกรมสำเร็จรูป CDS/ISIS ซึ่งเป็นฐานข้อมูลแบบ Stand Alone และในปี พ.ศ. 2550 คณะทำงานฯ ได้จัดทำโครงการพัฒนาฐานข้อมูลหัวเรื่องภาษาไทยออนไลน์เพื่อให้บริการจัดเก็บและสืบค้นผ่านระบบเครือข่าย ทำให้ผู้ใช้สามารถเข้าใช้ได้จากที่ต่างๆ ข้อมูลถูกต้องตามมาตรฐานการลงรายการแบบ MARC21 มีความทันสมัยตลอดเวลาและสะดวกในการใช้งานมากยิ่งขึ้น      
         ปัจจุบันฐานข้อมูลหัวเรื่องภาษาไทยฯ ได้ขึ้นทะเบียนเป็นหนึ่งในแหล่งหัวเรื่องที่ใช้ในการลงรายการเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลบรรณานุกรมระหว่างห้องสมุด หรือ “Subject Heading and Term Source Codes” เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2563 ตามประกาศ TECHNICAL NOTICE (July 28, 2020) ของ Network Development and MARC Standards Office, Library of Congress (https://www.loc.gov/marc/relators/tn200728src.html) โดยได้รับรหัส “tshd” การใช้หัวเรื่องจากฐานข้อมูลหัวเรื่องภาษาไทยออนไลน์ (Thai Subject Heading Database)  ของคณะทำงานกลุ่มวิเคราะห์ทรัพยากรสารสนเทศ ห้องสมุดสถาบันอุดมศึกษา โดยเข้าสู่ฐานข้อมูลผ่าน URL ดังนี้
ttps://webhost2.car.chula.ac.th/thaiccweb/main.php

ภาพที่ 1 การเข้าใช้ฐานข้อมูลหัวเรื่องภาษาไทยออนไลน์

วิธีการเข้าใช้ฐานข้อมูลหัวเรื่องภาษาไทยออนไลน์ (Thai Subject Heading Database)
1. เข้าสู่ระบบด้วยการพิมพ์ Username: visitor
2. Password: 123
3. Verify code: เป็นเลขที่โปรแกรมกำหนด และจะเปลี่ยนเลขทุกครั้งที่มีการ

    เข้าใช้โปรแกรม เช่น 5234
4. คลิกที่เมนู เข้าสู่ระบบ
5. พิมพ์หัวเรื่องที่ต้องการสืบค้น เช่น วิวัฒนาการ
6. แสดงหน้าจอ อธิบายการใช้หัวเรื่อง วิวัฒนาการ

ภาพที่ 2 แสดงหน้าจอการค้นหาหัวเรื่อง

ภาพที่ 3 แสดงหน้าจอ อธิบายการใช้หัวเรื่อง

    นี่เป็นตัวอย่างการใช้งานแบบคร่าวๆ หวังว่าจะเป็นประโยชน์กับน้องใหม่หรือนักศึกษาที่เรียนในสาขาที่เกี่ยวข้องนะคะ ผู้เขียนก็ขอจบการแชร์ขั้นตอนการใช้งานฐานข้อมูลหัวเรื่องภาษาไทยไว้แค่นี้ก่อนนะคะ ไว้ถ้าผู้เขียนไปเจอเรื่องราวอะไรดีๆ จะนำมาฝากใหม่นะคะ ขอบคุณที่ติดตามอ่านค่ะ

​​​​​​​​​​​​​​

 

Rating

Average: 5 (1 vote)