การพัฒนาวารสารเข้าสู่ฐานข้อมูล TCI (2)
หลังจากทราบผลการประเมินและอ่านรายละเอียดทั้งหมด ผมเริ่มต้นด้วยการทบทวนว่า ตัวเองพลาดอะไรไปบ้าง แล้วจะปรับการทำงานส่วนใดบ้าง จากนั้นนำประเด็นปัญหาและแนวทางการแก้ไขเรียนปรึกษากับ รศ.อิ่มจิต เลิศพงษ์สมบัติ ผู้ผลักดันให้วารสารวิทยบริการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ขึ้นสู่ TCI 1 พร้อมทาบทามและขอความกรุณาให้ช่วยเป็นบรรณาธิการคนต่อไป (เนื่องจากบรรณาธิการพิเชษฐ เพียรเจริญ กำลังเกษียณอายุราชการ) บทสรุปแนวทางการปรับปรุงแก้ไข มีดังนี้
แนวทางการปรับปรุงแก้ไข
-
ปรับวัตถุประสงค์และนโยบายการตีพิมพ์ของวารสารให้แคบและชัดเจนยิ่งขึ้น โดยตีพิมพ์บทความ 2 สาขา คือ สารสนเทศ และ สื่อการเรียนรู้ ซึ่งสอดคล้องกับภาระงานของหน่วยงานต้นสังกัดวารสาร (สำนักวิทยบริการ)
-
ปรับเปลี่ยนบรรณาธิการและกองบรรณาธิการวารสารใหม่ทั้งหมด เนื่องจากวาระของกองบรรณาธิการสิ้นสุดลงในปี พ.ศ. 2562 และปลายปี พ.ศ. 2563 บรรณาธิการวารสาร (นายพิเชษฐ เพียรเจริญ) เกษียณอายุราชการ จึงแจ้งความประสงค์ในการปรับเปลี่ยนบรรณาธิการและกองบรรณาธิการในคราวเดียวกัน เพื่อความสะดวกในการบริหารจัดการวารสาร โดยกองบรรณาธิการต้องมาจากผู้ทรงคุณวุฒิในสาขาที่เกี่ยวข้องจากหลากหลายสถาบัน
-
ขอใช้บริการระบบจัดการวารสารของ ThaiJo เนื่องจากสามารถเข้าถึงฐานข้อมูลผู้ทรงคุณวุฒิจากหลากหลายวารสารในระบบ ThaiJo ได้ นอกจากนี้ ThaiJo ยังมีบริการที่ออกมาแล้วและกำลังดำเนินการ (อนาคต) ที่เอื้อต่อการดำเนินงานวารสาร เช่น การตรวจสอบการคัดลอกบทความ (Plagiarism) การบันทึกข้อมูลเข้าสู่ฐานข้อมูล TCI แบบ fast track ระบบแนะนำผู้เขียน ระบบแนะนำผู้ทรงคุณวุฒิ เป็นต้น
-
เปลี่ยนชื่อวารสารใหม่เพื่อให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ นโยบายการตีพิมพ์ และสามารถบ่งบอกถึงตัวตนของวารสารได้ โดยชื่อวารสารใหม่ คือ Journal of Information and Learning [JIL]
-
ทำการตีพิมพ์บทความที่ผ่านกระบวนการพิจารณาคุณภาพบทความแล้วและกำลังอยู่ในกระบวนการพิจารณาทั้งหมดในปีที่ 31 ฉบับที่ 1 (พ.ศ. 2563) เพื่อเริ่มต้นวารสารใหม่ในปีที่ 31 ฉบับที่ 2 เนื่องจากต้องการเตรียมวารสารในการส่งประเมินเพื่อขอปรับกลุ่มฯ ในเดือนมกราคม 2564
-
ปรับเปลี่ยนโลโก้ รูปแบบการตีพิมพ์เพื่อรองรับการประเมินปรับกลุ่มวารสาร และการประเมินเข้าสู่ฐานข้อมูล ACI และ SCOPUS ต่อไป (ข้อมูลวารสาร ข้อมูลบทความ ชื่อตาราง ชื่อภาพประกอบ และรายการอ้างอิง ต้องมีภาษาอังกฤษด้วย)
-
เตรียมข้อมูลวารสาร ข้อมูลการเตรียมต้นฉบับทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ เพื่อเพิ่มโอกาสในการตีพิมพ์เผยแพร่บทความของวารสาร
-
เพิ่มขั้นตอนการตรวจสอบ Abstract โดยผู้เชี่ยวชาญด้านภาษา
กระบวนการปรับเปลี่ยนวารสาร เช่น การเปลี่ยนบรรณาธิการ กองบรรณาธิการ และการเปลี่ยนชื่อวารสาร ต้องแจ้งข้อมูลให้ทาง TCI ทราบด้วยเสมอ เพื่อให้สามารถเข้ารับการประเมินเพื่อขอปรับกลุ่มฯ ในเดือนมกราคม พ.ศ. 2564 (รอบที่ 4 ครั้งที่ 2) ได้ดังเดิม ส่วนรายละเอียดในการดำเนินการแต่ละประเด็นขออนุญาตไม่กล่าวถึงเพราะมีรายละเอียดที่ยิบย่อยค่อนข้างเยอะ
วารสาร Journal of Information and Learning [JIL] ตีพิมพ์เผยแพร่ต่อจากวารสารวิทยบริการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โดยวารสารฉบับแรกในชื่อ Journal of Information and Learning [JIL] คือ ปีที่ 31 ฉบับที่ 2 พร้อมเริ่มเปิดรับบทความเพื่อพิจารณาตีพิมพ์ในระบบ ThaiJO ในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2563 ซึ่งใช้ระยะเวลาค่อนข้างนานในการปรับปรุงแก้ไข เนื่องจากอยู่ในช่วงของการแพร่ระบาดโควิด 19 รอบแรกด้วย อย่างไรก็ตาม การปรับเปลี่่ยนรูปแบบและปรับกระบวนการทำงานแล้วเสร็จ และพร้อมสำหรับการยื่นขอรับการประเมินเพื่อขอปรับกลุ่มในเดือนมกราคม พ.ศ. 2564 (สิ้นสุดการยื่นเอกสารในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564) และ TCI ประกาศผลการประเมินคุณภาพวารสารที่ส่งมาเพื่อปรับกลุ่มฯในฐานข้อมูล TCI รอบที่ 4 พ.ศ. 2563-2567 ครั้งที่ 2 (2564-2567) เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2564 โดยผลการประเมินวารสาร Journal of Information and Learning ได้รับการรับรองคุณภาพใน TCI 1 อีกครั้ง
ขออนุญาตกล่าวถึงผลการประเมินในการขอปรับกลุ่ม (รอบที่ 4 ครั้งที่ 2) ซึ่งมีระยะเวลาการรับรองคุณภาพวารสารตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2564 ไปจนถึง วันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2567 มีจำนวนวารสารขอรับการประเมินทั้งสิ้น 194 วารสาร วารสารที่ได้รับการรับรองคุณภาพใน TCI 1 จำนวน 88 วารสาร วารสารที่ได้รับการรับรองคุณภาพใน TCI 2 จำนวน 102 วารสาร และวารสารที่ได้รับการรับรองคุณภาพใน TCI 3 จำนวน 4 วารสาร จะเห็นว่า TCI ยังมีคงความเข้มข้นในการประเมินอยู่เช่นเดิม เนื่องจากมีวารสารไม่ถึงกึ่งหนึ่ง (45.36%) จากที่ส่งประเมินที่ได้รับการรับรองคุณภาพใน TCI 1
การที่วารสารอยู่ใน TCI 2 เป็นเวลา 1 ปี 6 เดือน ผลกระทบที่เห็นได้ชัดที่สุด คือ จำนวนบทความที่เข้าสู่กระบวนการพิจารณาตีพิมพ์เผยแพร่น้อยลงเป็นอย่างมาก แม้ว่าภายหลังบางมหาวิทยาลัยได้ปรับเกณฑ์การสำเร็จการศึกษาและการยื่นขอตำแหน่งทางวิชาการให้สามารถตีพิมพ์เผยแพร่ผลงานในวารสาร TCI 2 ได้ บวกกับการที่วารสารปรับวัตถุประสงค์และนโยบายการตีพิมพ์ของวารสารให้แคบและชัดเจนยิ่งขึ้น ทำให้บทความน้อยลงจนวารสารฉบับกลางปี พ.ศ. 2564 ไม่สามารถดำเนินการตีพิมพ์ได้ตามกรอบเวลาที่กำหนด เนื่องจากไม่มีบทความที่พิจารณาเสร็จได้ทันเวลา อย่างไรก็ตาม ช่วงเดือนกรกฎาคมถึงสิงหาคมเป็นต้นมา มีบทความเข้าสู่กระบวนการพิจารณามากขึ้นและมีแนวโน้มว่าบทความน่าจะเพียงพอสำหรับการตีพิมพ์ในวารสารฉบับที่ 2 และ 3 ของปีนี้ เพียงแต่ต้องรอให้ผ่านกระบวนการพิจารณาบทความให้เรียบร้อยก่อน
อย่างไรก็ตาม ก.พ.อ. ประกาศหลักเกณฑ์และวิธีการพิจารณาแต่งตั้งบุคคลให้ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ รองศาสตราจารย์ และศาสตราจารย์ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2564 เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2564 เพื่อส่งเสริมและเปิดโอกาสให้ผู้ขอตำแหน่งทางวิชาการ ใช้ผลงานทางวิชาการที่มีความเหมาะสมและยืดหยุ่นมากขึ้น ส่วนตัวผมมองว่าประกาศฉบับนี้มีรายละเอียดที่สั่นคลอนวงการวารสารวิชาการของไทยและ TCI เป็นอย่างมาก จะมีประเด็นใดบ้างติดตามต่อกันในเนื้อหาต่อไป "การพัฒนาวารสารเข้าสู่ฐานข้อมูล TCI (3)" นะครับ
- Log in to post comments
- 322 views