การพัฒนาวารสารเข้าสู่ฐานข้อมูล TCI (3)
การที่ ก.พ.อ. ประกาศหลักเกณฑ์และวิธีการพิจารณาแต่งตั้งบุคคลให้ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ รองศาสตราจารย์ และศาสตราจารย์ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2564 เพื่อส่งเสริมและเปิดโอกาสให้ผู้ขอตำแหน่งทางวิชาการ ใช้ผลงานทางวิชาการที่มีความเหมาะสมและยืดหยุ่นมากขึ้น แต่ยังคงมีมาตรฐานทางวิชาการ จึงให้ใช้ผลงานทางวิชาการที่ได้รับการเผยแพร่ในวารสารวิชาการระดับชาติ โดยไม่ต้องอยู่ในฐานข้อมูล TCI ได้ ทั้งนี้ วารสารวิชาการระดับชาติต้องเป็นวารสารวิชาการที่มีคุณภาพและเป็นที่ยอมรับในวงวิชาการในสาขาวิชานั้น ๆ หรือสาขาวิชาที่เกี่ยวข้อง ในประกาศให้ยกเลิกข้อความที่กำหนดให้การเผยแพร่ผลงานทางวิชาการต้องได้รับการเผยแพร่ในวารสารวิชาการที่อยู่ในฐานข้อมูล TCI (ประกาศก่อนหน้า) แล้วใใช้ข้อความนี้แทน
“ผลงานทางวิชาการต้องได้รับการเผยแพร่ในวารสารวิชาการระดับชาติ ซึ่งวารสารวิชาการระดับชาติต้องเป็นวารสารวิชาการที่มีคุณภาพและเป็นที่ยอมรับในวงวิชาการในสาขาวิชานั้น ๆ หรือสาขาวิชาที่เกี่ยวข้อง โดยวารสารวิชาการนั้นต้องมีการตีพิมพ์อย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 3 ปี และมีการตรวจสอบคุณภาพของบทความโดยผู้ทรงคุณวุฒิตรวจสอบบทความ (peer reviewer) ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกจากหลากหลายสถาบัน อย่างน้อย 3 คน ทั้งนี้ วารสารวิชาการนั้นอาจเผยแพร่เป็นรูปเล่มสิ่งพิมพ์ หรือเป็นสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ที่มีกำหนดการเผยแพร่อย่างแน่นอนชัดเจน”
ส่วนตัวผมมองว่าประกาศฉบับนี้มีรายละเอียดที่สั่นคลอนวงการวารสารวิชาการของไทยและ TCI เป็นอย่างมาก แต่จะขอพูดในมุมของคนที่รับผิดชอบวารสารเท่านั้น
ประกาศฉบับนี้นิยามผลงานวิชาการที่สามารถยื่นขอกำหนดตำแหน่งวิชาการได้ ดังนี้
-
ต้องเป็นวารสารวิชาการระดับชาติ
-
ต้องเป็นวารสารวิชาการที่มีคุณภาพและเป็นที่ยอมรับในวงวิชาการในสาขาวิชานั้น ๆ หรือสาขาวิชาที่เกี่ยวข้อง
-
ต้องมีการตีพิมพ์อย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 3 ปี
-
ต้องมีการตรวจสอบคุณภาพของบทความโดยผู้ทรงคุณวุฒิตรวจสอบบทความ (peer reviewer) ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกจากหลากหลายสถาบัน อย่างน้อย 3 คน
-
ต้องมีกำหนดการเผยแพร่อย่างแน่นอนชัดเจน
เมื่อพิจารณาเกณฑ์ข้อที่ 1 และข้อที่ 2 จะเกิดคำถามว่า ระดับชาติ และมีคุณภาพและเป็นที่ยอมรับในวงวิชาการ ใครเป็นผู้กำหนดและใช้เกณฑ์อะไรในการตัดสินวารสารนั้นๆ (ก่อนหน้านี้ใช้เกณฑ์ของ TCI) แล้วผู้เขียนหรือผู้ยื่นขอกำหนดตำแหน่งทางวิชาการจะทราบได้อย่างไรว่าสามารถตีพิมพ์ในวารสารใดได้บ้าง หรือต้องรอดูข้อมูลส่วนนี้จากทาง ก.พ.อ. ในอนาคต
เมื่อพิจารณาเกณฑ์ข้อที่ 3 ข้อที่ 4 และข้อที่ 5 จะเห็นว่าเป็นส่วนหนึ่งของเกณฑ์หลักและเกณฑ์รองของ TCI อยู่แล้ว (แสดงว่าวารสารที่อยู่ในฐานข้อมูล TCI อาจจะใช้ยื่นขอกำหนดตำแหน่งทางวิชาการได้) เพียงแต่ TCI กำหนดจำนวนผู้ทรงคุณวุฒิตรวจสอบบทความ (peer reviewer) อย่างน้อย 2 คน เท่านั้นเอง ประเด็นนี้หลายวารสารอาจมองว่าสามารถดำเนินการได้ และบางวารสารได้ดำเนินการแก้ไขจำนวนผู้ทรงคุณวุฒิตรวจสอบบทความให้สอดคล้องกับประกาศ ก.พ.อ. แล้ว แต่ผมมองว่า การเพิ่มจำนวนผู้ทรงคุณวุฒิตรวจสอบบทความอีก 1 คน จะมีผลกระทบต่อกระบวนการพิจารณาคุณภาพบทความ เนื่องจาก 1) เป็นการเพิ่มภาระงานให้กับบรรธิการวารสารในการสรรหาผู้ทรงคุณวุฒิที่มาจากต่างหน่วยงาน 2) กระบวนการพิจารณาคุณภาพบทความใช้เวลานานมากขึ้น (ต้องรอผลการพิจารณาให้ครบทั้ง 3 คน) 3) วารสารมีค่าใช้จ่ายมากขึ้นในการจ่ายค่าตอบแทนผู้ทรงคุณวุฒิ (ค่าใช้จ่ายส่วนนี้วารสารอาจผลักภาระไปให้ผู้เขียนรับผิดชอบ) โดยรวมแล้วผู้ได้รับผลกระทบจริงๆ ดูจะเป็นผู้เขียนเสียมากกว่า ด้วยระยะเวลาในการพิจารณาคุณภาพบทความที่นานขึ้น (จบการศึกษาหรือยื่นขอตำแหน่งล่าช้า) และค่าใช้จ่ายในการส่งบทความเพื่อพิจารณาตีพิมพ์สูงขึ้น
อย่างไรก็ตาม TCI จัดประชุมหารือแนวปฏิบัติที่เกี่ยวข้องกับประกาศ ก.พ.อ. ฉบับที่ 4 (2564) เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2564 โดยเชิญบรรณาธิการวารสารที่อยู่ในฐานข้อมูล TCI กลุ่ม 1 และกลุ่ม 2 ประชุมผ่านระบบออนไลน์ การประชุมเป็นการขอความคิดเห็นจากบรรณาธิการในประเด็นดังกล่าว และจัดทำหนังสือเสนอต่อทาง ก.พ.อ. ต่อไป ซึ่งขออนุญาตไม่กล่าวถึงรายละเอียดการประชุมดังกล่าว ส่วนผลจะเป็นอย่างไรคงต้องรอคำตอบจากทาง ก.พ.อ. อีกสักระยะหนึ่ง
อีกประเด็นหนึ่งที่ผมบอกว่าสั่นคลอน TCI เป็นอย่างมาก คือข้อความที่ว่า "ในวาระเริ่มแรกการพิจารณาแต่งตั้งบุคคลให้ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์และรองศาสตราจารย์อาจนำผลงานทางวิชาการที่ได้รับการเผยแพร่ในวารสารวิชาการที่อยู่ในฐานข้อมูล TCI กลุ่ม 1 และ TCI กลุ่ม 2 มาใช้ในการยื่นเสนอขอกำหนดตำแหน่งทางวิชาการได้ภายในวันที่ 23 มิถุนายน 2565 โดยอนุโลม" (แสดงว่าวารสารที่อยู่ในฐานข้อมูล TCI ใช้ยื่นขอกำหนดตำแหน่งทางวิชาการไม่ได้?) อ่านแล้วตีความอย่างไรครับ เพราะแต่ละคนตีความได้ไม่เหมือนกันครับ สำหรับผมคือ ก.พ.อ. ให้ใช้เกณฑ์ TCI 1 และ TCI 2 ในการยื่นขอตำแหน่งทางวิชาการได้ถึงวันที่ 23 มิถุนายน 2565 เท่านั้น ประเด็นนี้เป็นสิ่งที่ผู้ต้องการยื่นขอตำแหน่งทางวิชาการต้องรู้เป็นอย่างยิ่ง เพราะปัจจุบันยังใช้ประกาศฉบับนี้อยู่และเราก็ไม่รู้ว่าจะมีประกาศแก้ไขหรือเพิ่มเติมต่อจากนี้อย่างไร
เมื่อ ก.พ.อ. ประกาศไม่ใช้เกณฑ์ TCI เท่ากับว่าสิ่งที่ TCI เริ่มต้นมาตั้งแต่ 2544 เป็นระยะเวลาร่วม 20 ปี กับการพัฒนาวงการวารสารวิชาการไทยเหมือนกับไม่มีตัวตนในวงการวารสารวิชาการไทยเลย สำหรับคนทำงานวารสารต้องบอกว่าการมีแนวทางและหลักเกณฑ์ในการทำงานที่ชัดเจน ช่วยให้การทำงานง่ายขึ้น เหมือนมองเห็นเส้นทางที่จะเดินและเตรียมการสำหรับการเดินทางได้อย่างเหมาะสม ก็หวังว่า ก.พ.อ. กับ TCI จะพูดคุยกันและได้ข้อสรุปที่ดีร่วมกันในอนาคตนะครับ
- Log in to post comments
- 379 views