คิดเชิงกลยุทธ์ = คิดให้ชนะ ใครเป็นอย่างไรช่างมัน

เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2560 ผมมีโอกาสได้ฟัง รศ.สมชัย ศรีสุทธิยากร บรรยายเรื่อง "การคิดเชิงกลยุทธ์และการคิดวิเคราะห์อย่างเป็นระบบ เพื่อการแก้ปัญหาและการตัดสินใจที่มีประสิทธิภาพ" ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาบุคลากรเพื่ออนาคตของสำนักงานอธิการบดี (PSU Smart Team) อันเป็นโครงการต่อเนื่องและผมไม่ได้เข้าร่วมโครงการนี้มาแต่ต้น แต่ด้วยสำนักวิทยบริการเห็นความสำคัญของการพัฒนาบุคลากร ผมจึงมีโอกาสเข้าฟังการบรรยายในครั้งนี้ อย่างไรก็ตามการเขียนจะเป็นแบบจับประเด็นมาเขียน (เท่าที่จำได้) ไม่ได้เรียบเรียงตั้งแต่ต้นจนจบ ทำให้อาจขาดความต่อเนื่อง

วิทยากรเริ่มต้นการบรรยายที่ภาพนี้ ด้วยโจทย์ที่ให้ทุกคนคิดว่า รูปใดที่แตกต่างจากรูปอื่น?

คุณจะตอบข้อไหนครับ
คำตอบที่คนส่วนใหญ่ตอบ คือ ข้อ 2 และ 4 ตรงกับที่คุณคิดหรือเปล่า
วิทยากรให้คนตัวแทนของคนที่ตอบข้อ 2 และ 4 มาอธิบายว่าทำไมถึงได้ตอบข้อนี้
ตัวแทนข้อ 2 อธิบายว่า เป็นข้อ 2 เนื่องจากสามเหลี่ยมมีรูปร่าง รูปทรงที่ต่างจากข้ออื่นๆ
ตัวแทนข้อ 4 อธิบายว่า เป็นข้อ 4 เนื่องจากทุกข้อเป็นรูปทรงเลขาคณิต สามารถคิดคำนวนหาพื้นที่ได้ แต่ข้อ 4 ไม่สามารถทำได้
เมื่อได้ฟังคำอธิบายทั้งสองข้อแล้วก็ให้ตอบใหม่อีกครั้ง ซึ่งคำตอบของคนส่วนใหญ่ก็ยังเป็นข้อ 2 และ 4 เช่นเดิม
วิทยากรจึงช่วยตัดข้อที่ไม่ใช่คำตอบให้ คือ ข้อ 1 และ 3 (ซึ่งก็ไม่ได้ช่วยอะไรเลย)
และให้คนทั้งสองกลุ่ม (ข้อ 2, 4) โน้มน้าวให้คนที่เห็นต่างมาเห็นด้วยให้ได้ 
แต่สุดท้ายก็ไม่เป็นผล คนยังเห็นต่างกันในสัดส่วนที่ใกล้เคียงกันอยู่ดี
วิทยากรจึงเฉลยคำตอบที่ถูกต้อง คือ ข้อ 4 โดยให้เหตุผลด้านรูปทรงเลขาคณิต สามารถคิดคำนวนหาพื้นที่ได้
และต่อท้ายคำตอบนี้ว่า นี่เป็นโจทย์เพื่อสอบเข้าเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ยินดีกับผู้ตอบถูกต้องคน หัวเราะกันทั้งห้องครับ

จากโจทย์นี้จะเห็นได้ว่า คำตอบแต่ละเรื่องมันมีมากกว่า 1 ข้อเสมอ อยู่ที่วิธีคิด
คิดแบบข้อ 2 ก็ถูกด้วยวิธีคิดแบบข้อ 2
คิดแบบข้อ 4 ก็ถูกด้วยวิธีคิดแบบข้อ 4

การทำงานก็เช่นกันย่อมมีคำตอบสำหรับงานแต่ละเรื่องมากกว่า 1 คำตอบเสมอ บางครั้งเราไปยึดติดกับวิธีการและรูปแบบเดิมๆ มากเกินไป อย่างในหน่วยงานราชการมักจะไม่ฟังเด็กหรือผู้น้อย งานเลยขาดความสมบูรณ์ ในการประชุมจึงควรถามความคิดเห็นเเด็กหรือผู้น้อยก่อน มิฉะนั้นก็จะไม่ได้ความคิดจากเด็ก เพราะเกรงใจความคิดของผู้ใหญ่ที่นำเสนอก่อน

 

มาต่อกันด้วยโจทย์ข้อที่ 2 หากคุณเป็นเจ้าของห้าง คุณจะทำทางเข้าห้างแบบไหน?

คุณจะตอบข้อไหนครับ
แน่นอนไม่ 1 ก็ 2 โอกาสที่จะตอบถูกต้องมากถึง 50% 
มีคนเลือกตอบทั้งแบบที่ 1 และ 2 ในจำนวนที่ใกล้เคียงกัน
วิทยากรก็ให้แต่ละฝ่ายนำเสนอให้เหตุผลว่าทำไมถึงเลือกข้อนี้
ตัวแทนแบบที่ 1 ให้เหตุผลว่า เมื่อลูกค้าขับรถผ่านหน้าห้างแล้วเห็นโฆษณา เห็นโปรโมชั่น เห็นการจัดกิจกรรม สามารถเลี้ยวเข้าห้างได้เลย
ตัวแทนแบบที่ 2 ให้เหตุผลว่า ลูกค้าที่ต้องการมาเที่ยวห้างสามารถเลี้ยวเข้าไปจอดรถได้เลย เวลาออกก็ไม่ต้องวนรถ
เมื่อให้เหตุผลเรียบร้อยแล้วก็ให้ตอบใหม่อีกครั้ง ซึ่งคำตอบทั้งแบบที่ 1 และ 2 ก็ยังมีจำนวนที่ใกล้เคียงกันเช่นเดิม
วิทยากรให้คำตอบแบบที่ 1 โดยยกตัวอย่างแบบนี้ครับ
เมื่อต้องการเข้าต้องการไปห้างสรรพสินค้า ซื้อสินค้าเสร็จเรียบร้อยแล้ว ขับรถออกมาหน้าห้างแล้ว นึกขึ้นได้ว่าลืมของ แบบที่ 1 สามารถเลี้ยวรถกลับไปเอาได้ แบบที่ 2 ต้องวนรถกลับมาซึ่งอาจใช้เวลามาก
เมื่อขับรถผ่านหน้าห้างเห็นโปรโมชั่นลดราคา อยากเข้าไปซื้อสินค้า แบบที่ 1 สามารถเลี้ยวรถเข้าห้างได้เลย แบบที่ 2 ค่อยมาพรุ่งนี้

แบบที่ 1 หรือ 2 ที่คุณคิดว่าสะดวกกับลูกค้ามากกว่า และแบบไหนที่เจ้าของห้างจะสามารถเรียกลูกค้าได้มากกว่ากัน
อย่างไรก็ตาม ห้างบ้านเรานิยมใช้แบบที่ 2 ซึ่งก็ไม่แน่ใจว่าด้วยเหตุผลอะไร หรือแค่นิยมทำตามๆ กันมา

คิดเชิงกลยุทธ์ = คิดให้ชนะ ใครเป็นอย่างไรช่างมัน

มีตัวอย่างหนึ่งที่วิทยากรยกขึ้นมาเพื่ออธิบายความคิดนี้
หากเราเปิดร้านค้าและร้านของอยู่ตรงกลางของ 2 ร้านใหญ่
โดยที่ร้านแรกขึ้นป้ายว่า ถูกกว่าใคร
ร้านที่อยู่ถัดจากร้านเราขึ้นป้ายว่า ถูกสุดสุด
เราจะขึ้นป้ายว่าอะไรเพื่อให้ชนะ 2 ร้านนี้
...
...
...
วิทยากรให้ 2 คำ ดังนี้ ทางเข้า

.............................................................................

อารมณ์ 6 อย่าง ตามหมวก 6 ใบ

  1. ข้อเท็จจริง
  2. อารมณ์
  3. คิดเชิงบวก
  4. ใคร่ครวญ ไตร่ตรอง ยั้งคิด
  5. ริเริ่ม สร้างสรรค์ คิดแนวข้าง
  6. บูรณาการ ใช้ทุกรูปแบบ รู้จักเลือกใช้ในโอกาสที่เหมาะสม

ในการทำงานเราจะพบเจอกับอารมณ์ทั้ง 6 อย่างนี้อยู่เป็นประจำ บางเรามองงานด้วยอารมณ์ บางครั้งมองงานบนพื้นฐานความเป็นจริง บางครั้งมองงานในแง่บวก บางครั้งมองงานด้วยความเพ้อฝัน การทำงานหนึ่งๆ จึงต้องอาศัยอารมณ์ทั้ง 6 อย่าง เช่น ถ้าคิดบวกเยอะต้องใช้การใคร่ครวญเข้ามาช่วยให้งานรอบคอบขึ้น

มีข้อคิดสำหรับคนที่จะเริ่มงานใหม่ แต่ไม่กล้าเริ่มต้น
เส้นทางที่เราไม่เคยเดิน  ไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด
เส้นทางที่เราคุ้นเคย  ไม่น่าเดินอย่างที่คิด

ทำในสิ่งที่ไม่เคยทำ จะได้อะไรใหม่ๆ

คิดในสิ่งที่ไม่เคยคิด
อ่านในสิ่งที่ไม่เคยอ่าน
ดูในสิ่งที่ไม่เคยดู
ไปในที่ไม่เคยไป
ทำในสิ่งที่ไม่เคยทำ

.............................................................................

ตัวชี้วัดความสำเร็จ (KPIs) ควรกำหนดอย่างไร?

  • ตัวชี้วัดที่ดีควรมีความเป็นรูปธรรม จับต้องได้ เป็นตัวเลข และสามารถเปรียบเทียบความสำเร็จตามค่าเป้าหมาย
  • บ่งบอกความสำเร็จในการดำเนินงานตามกลยุทธ์

การวิเคราะห์จุดแข็ง-จุดอ่อน (SWOT) ควรวิเคราะห์ประเด็นใดบ้าง?

Input (4M)

  • Man คน ทักษะ ความสามารถ
  • Money เงิน งบประมาณ
  • Material ทรัพยากร วัถุดิบ
  • Management การบริหารจัดการ

Output (4P)

  • Price การตั้งราคา
  • Place สถานที่ ช่องทางการจำหน่ายหรือบริการ
  • Product ผลิตภัณฑ์ คุณภาพบรรจุภัณฑ์
  • Promotion การส่งเสริมการขาย

การตั้งเป้าหมาย ควรมีลักษณะอย่างไร?

  • ท้าทาย
  • ต้องไม่สูงเกินจริง

แนวทางในการตั้งเป้าหมาย

  • การเทียบผลงานปีที่ผ่านมา
  • การเทียบผลงานเฉลี่ยในช่วงเวลาที่ผ่านมา
  • การพิจารณาจากแนวโน้มที่น่าจะเป็นไปในอนาคต
  • การเทียบกับผลงานที่ดีที่สุดในช่วงเวลาที่ผ่านมา
  • การเทียบกับหน่วยงานอื่นๆ ที่มีลักษณะคล้ายคลึงกัน
  • การตั้งเป้าหมายร่วมจากผู้ปฏิบัติงาน

Rating

Average: 3.5 (2 votes)