จริยธรรมกับการเผยแพร่ผลงานวิจัย

ผมมีโอกาสฟังบรรยาย "จริยธรรมกับการเผยแพร่ผลงานวิจัย" โดย นพ.กิตติศักดิ์ กุลวิชิต คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2559 ณ อาคาร LRC มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่

ในฐานะผู้รับผิดชอบงานวารสารวิทยบริการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ พอเห็นหัวข้อในการบรรยายแล้วก็คิดว่าเป็นโอกาสดีในการทำความเข้าใจเรื่อง จริยธรรมในการเผยแพร่ผลงานวิจัย (บทความ) เพิ่มเติมจากที่ได้มีโอกาสฟังบรรยายเรื่อง ข้อควรระวังในการตีพิมพ์ โดย ศาสตราจารย์ นายแพทย์ยง ภู่วรวรรณ เมื่อปีที่แล้ว และหลังจากได้รับฟังการบรรยายแล้วก็ถือเป็นการต่อจากการบรรยายความรู้เดิมได้เป็นอย่างดี 

จริยธรรมกับการเผยแพร่ผลงานวิจัย มีประเด็นหลัก 4 ประการ คือ
1. ถูกต้อง 
2. โปร่งใส 
3. ตรวจสอบได้
4. เท่าเทียมกัน เสมอภาค ใช้ได้เท่ากัน

การตีพิมพ์ซ้ำซ้อน คือ การสื่อสารข้อมูลอย่างเดียวกันมากกว่าหนึ่งครั้ง 

วิทยากรโยนคำถามว่า การตีพิมพ์ซ้ำซ้อนสามารถทำได้หรือไม่?
คำตอบ คือ ตีพิมพ์ซ้ำซ้อนได้ ถ้าทำถูกวิธี 
ทำถูกวิธี ในที่นี้ประกอบด้วยอะไรบ้าง การบอกวารสารที่ตีพิมพ์ครั้งแรกว่าเราต้องการนำบทความไปตีพิมพ์วารสารอื่นๆ คุณโอเคไหม และขณะเดียวกันบอกวารสารที่เราจะนำบทความไปตีพิมพ์ใหม่ว่าบทความนี้เคยได้รับการตีพิมพ์ในวารสารอื่นแล้ว คุณโอเคไหม ถ้าทั้งสองวารสารโอเค คุณก็สามารถตีพิมพ์ซ้ำซ้อนได้ กระบวนการนี้เป็นการแสดงความโปร่งใสของผู้เขียน นอกจากนี้ยังต้องคำนึงถึงคุณค่าของงานว่าควรได้รับการตีพิมพ์ซ้ำหรือไม่ เพื่อให้บทความไปได้ไกล เร็ว และเข้าถึงได้มากขึ้น เนื่องจากบริบทของงานวารสารได้เปลี่ยนเข้าสู่ระบบอิเล็กทรอนิกส์หรือออนไลน์ ซึ่งสามารถเข้าถึงได้ง่ายอยู่แล้ว  

เมื่อเป็นเช่นนี้เราลองมาดูว่าทำไมการตีพิมพ์ซ้ำซ้อน จึงเรื่องที่ยอมรับกันไม่ได้ทางวิชาการ มีที่มาเหตุผลอย่างไร

ทำไมห้ามตีพิมพ์ซ้ำซ้อน 
1. การใช้ทรัพยากรอย่างสุรุ่ยสุร่าย ไม่เหมาะสม วิทยากรให้น้ำหนักกับประเด็นนี้ถึง 95% แม้เทคโนโลยีการตีพิมพ์ในปัจจุบันสามารถผลิตได้ง่ายและก้าวหน้าไปอย่างมาก รวมทั้งสามารถเข้าถึงบทความวารสารได้ทางอินเทอร์เน็ต แต่ประเด็นการใช้ทรัพยากรอย่างไม่เหมาะสมยังเป็นประเด็นสำคัญอยู่ในขณะนี้ (อนาคตความสำคัญในประเด็นนี้อาจลดลงก็เป็นได้)
2. การบิดเบือนข้อมูล (Data Distortion) ผู้เขียนที่ต้องการตีพิมพ์อาจมีการปกปิดหรือบิดเบือนข้อมูลบางอย่างเพื่อให้บทความได้รับการตีพิมพ์ซ้ำ 
3. รางวัล (เงินทอง, ตำแหน่งทางวิชาการ) ด้วยเกณฑ์การให้รางวัลที่ยึดติดอยู่กับกรอบของจำนวนบทความตีพิมพ์ในวารสาร ทำให้เกิดการเรียกร้องรางวัลโดยไม่โปร่งใส 

การส่งบทความตีพิมพ์พร้อมๆ กัน (บางคนอาจสับสนกับการตีพิมพ์ซ้ำซ้อน ซึ่งจริงแล้วมีความแตกต่างกัน) คือ การส่งบทความฉบับเดียวเข้ารับการพิจารณาตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารมากกว่า 1 ฉบับ  โดยจริยธรรมของนักวิจัยก็ไม่ควรทำเช่นเดียวกัน เนื่องจากเป็นการสิ้นเปลืองทรัพยากรที่ทรงคุณค่า ที่เรียกว่า Peer Reviewer ซึ่งทำหน้าที่ช่วยให้งานของเราดีขึ้น ชัดเจนขึ้น และเป็นผู้ปิดทองหลังพระในงานวารสารอย่างแท้จริง เนื่องจาก Peer Reviewer ต้องเสียสละเวลาเป็นอย่างมากในการพิจารณาบทความแต่ละเรื่อง และหากมองในเรื่องผลตอบแทนถือว่าได้รับน้อยมาก เมื่อเทียบกับสิ่งที่ Peer Reviewer ทำให้กับวงการวารสาร
การที่ผู้เขียนส่งบทความฉบับเดียวไปพิจารณาตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารมากกว่า 1 ฉบับ จึงเป็นการสร้างภาระให้กับ Peer Reviewer โดยไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ ทั้งที่ความจริงเราต้องการใช้ Peer Reviewer แค่วารสารฉบับเดียว เท่ากับการทำงานของ Peer Reviewer วารสารที่เหลือต้องสูญเปล่า ทั้งที่เป็นทรัพยากรอันทรงคุณค่าที่ต้องสงวนรักษาไว้เป็นอย่างยิ่ง

Plagiarism คือ การลอกเลียนโดยมิชอบ (มีการลอกเลียนโดยชอบด้วย?) ขออนุญาตสรุปเป็นประเด็นสำคัญ ดังนี้
1. ในแง่ของกฏหมาย (เรื่องพื้นฐานก่อนจริยธรรม)
    - คุ้มครองแต่ไม่ได้ให้ความเป็นธรรมกับทุกคน
    - คำนึงถึงความสงบสุขโดยรวมของสังคม

2. ลิขสิทธิ์
    - ไม่ต้องจดทะเบียน (คุ้มครองในเครือข่ายภาคีลิขสิทธิ์ครอบคลุมทั่วโลก)
    - คุ้มครองทันทีกระทั่งผู้สร้างสรรค์ผลงานเสียชีวิตไปแล้ว 50 ปี และสามารถส่งมอบให้กับทายาทได้

3. สิทธิบัตร
    - ต้องจดทะเบียน (จดที่ไหน คุ้มครองที่นั่น)
    - เป็นสิ่งประดิษฐ์ (Thing) หรือกระบวนการ (Process) ใหม่ ไม่ซ้ำใคร
     - การจดทะเบียนต้องเปิดเผยกระบวนการหรือขั้นตอนการได้มาซึ่งสิ่งประดิษฐ์นั้น จึงสามารถจดทะเบียนได้

4. กฏหมายไม่คุ้มครอง Idea แต่คุ้มครอง Expression กล่าวคือ กฏหมายไม่คุ้มครองความคิด แต่คุ้มครองสิ่งประดิษฐ์ และกระบวนจากความคิด วิทยากรยกตัวอย่างเพื่อทำความเข้าใจ โดยยกเรื่องของการเขียนประวัติของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ตัวประวัติมหาวิทยาลัย คือ Idea การเขียนและการเรียบเรียงประวัติมหาวิทยาลัย คือ Expression อีกตัวอย่างหนึ่งก็คือ การเขียนตำราวิชาทางวิชาการก็เป็นความคิดเก่า (Idea) แต่เรียบเรียงใหม่ เป็นผลงานใหม่ (Expression) จำไว้ว่าการคุ้มครองลิขสิทธิ์คุ้มครองตามกรอบของ Expression ไม่ใช่ Idea

Rating

Average: 3.5 (2 votes)