Productivity by Happy Workplace

สำนักวิทยบริการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จัดกิจกรรมอบรมบุคลากรเรื่อง Productivity by Happy Workplace เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2560 ณ ห้องปุลากง สำนักวิทยบริการ วิทยากรโดย ดร.วีรินยาอร เหลืองบริบูรณ์

กิจกรรมการอบรมส่วนใหญ่เป็นการทำกิจกรรมระดมสมองหลากหลายรูปแบบในประเด็น 8 Happy Workplace เช่น แบ่งกลุ่มให้ร่วมกันคิดในประเด็นที่กลุ่มรับผิดชอบ หลังจากนั้นให้สมาชิกแต่ละกลุ่มไปศึกษาและช่วยเพิ่มข้อคิดเห็นในประเด็นที่กลุ่มต่างๆ รับผิดชอบ โดยที่ให้สมาชิกของกลุ่มหนึ่งคนรับหน้าที่ในการนำเสนอประเด็นที่สมาชิกในกลุ่มช่วยกันคิดต่อสมาชิกกลุ่มอื่นๆ ที่มาศึกษาและช่วยเพิ่มข้อคิดเห็น ทำให้เห็นวิธีการระดมสมองที่ได้ทรัพยากรทางความคิดกลับมาเป็นจำนวนมาก เนื่องจากทุกคนได้ไปศึกษาและเพิ่มข้อคิดเห็นในแต่ละประเด็นจำนวนมาก นอกจากจะเป็นการเพิ่มทรัพยากรในกระดาษที่ช่วยกันเขียนแล้ว ยังเป็นการเพิ่มทรัพยากรทางความคิดของตนเองอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม บล็อกนี้ไม่ใช่การรวบรวม สรุปประเด็นจากการระดมสมองเหล่านั้น เนื่องจากมีข้อมูลจำนวนมาก ผมไม่สามารถเก็บรายละเอียดทั้งหมดมานำเสนอได้ อีกประการหนึ่งประเด็นมีผู้รับผิดชอบอยู่แล้ว เราคงได้เห็นกันในโอกาสต่อไป สำหรับสิ่งที่ผมจะเขียนถึงนั้นเป็นข้อคิด แนวคิดในการทำงานดีๆ ที่จะช่วยให้เราทำงานด้วยความสนุกและมีความสุขมากขึ้น

วิทยากรเปิดประเด็นด้วยประโยคที่่ว่า "ความรู้ทำให้เราโง่ลง" 
ฟังแล้วสะดุ้งไหมครับ ทำไมความรู้ถึงทำให้เราโง่ลงได้นะ
คำตอบของความโง่ลง คือ "เมื่อไหร่ที่เราคิดว่า เรารู้แล้ว เราก็จะโง่ลง"
เออเห็นจะจริง เพราะเมื่อไหร่ที่เราคิดว่าตนเองรู้ เราก็จะหยุดพัฒนาความรู้ของเราในเรื่องนั้นไปเลย มันก็จะทำให้เราล้าหลังไปในทันที
แม้นโลกจะหมุนด้วยความเร็วเท่าเดิม แต่โลกเปลี่ยนแปลงเร็วกว่าเดิมมาก
ในยุคที่โลกถูกขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีสารสนเทศที่เปลี่ยนแปลงอย่างเร็วรวด
ดังคำกล่าวที่ว่า "เมื่อไหร่ที่หยุดพัฒนา เท่ากับล้าหลังทันที"

การทำงานก็เช่นกันหากเราใช้ความรู้เดิมๆ วิธีการเดิมๆ ก็เท่ากับเราล้าหลัง เรากำลังโง่ลง
เราจึงต้องหมั่นแสวงหาความรู้ใหม่ๆ  วิธีการใหม่ๆ อยู่เสมอ เพื่อให้งานของเรามีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง

วิทยากรให้ข้อคิดในการมองปัญหาและอุปสรรคในการทำงานว่า
การทำงานย่อมมีปัญหา แต่เป็นปัญหาก็เพราะเรามองว่า ปัญหา
ถ้ามองว่า ปัญหาไม่ใช่ปัญหา อุปสรรคไม่ใช่อุปสรรคล่ะ
เราจะเริ่มต้นอย่างไร?
การเริ่มต้นมองปัญหาและอุปสรรค ว่าไม่ใช่ปัญหา ไม่ใช่อุปสรรค
ต้องเริ่มต้นที่ จุดรัก รักอะไรบ้าง ก็รักงาน รักเพื่อนร่วมงาน
ความรักเริ่มต้นที่ตัวเอง ความสุขก็เช่นกัน
เมื่อเริ่มต้นการทำงานที่จุดรัก ปัญหาและอุปสรรคก็กลายเป็นความสุข 
ความสุขที่เกิดจากการทำงาน

ประเด็นสุดท้ายที่ผมจะขอนำเสนอ คือ Key to Success (กุญแจสู่ความสำเร็จ)
ระหว่าง Employee และ Custumer
คุณคิดว่าใครสำคัญต่อความสำเร็จขององค์กรมากกว่ากัน
เรามักจะได้ยินว่า "ลูกค้า คือ พระเจ้า" "ลูกค้าต้องมาก่อน"
แต่วิทยากรบอกว่า "Employee first" ความสุขของพนักงานต้องมาก่อน
เพราะเมื่อไหร่ที่พนักงานมีความสุข เค้าจะทำให้ลูกค้ามีความสุขเอง
ในฐานะคนทำงานก็ต้องบอกว่า การจะทำให้คนทุกคนมีความสุขในการทำงานเหมือนกันนั้นเป็นเรื่องยาก
แต่ก็ไม่ต้องกังวล ก็อย่างที่บอกไปในประเด็นก่อนหน้านี้ว่า ความสุขเริ่มต้นที่ตัวเอง
ฉะนั้น ก็ต้องฝากตัวเอง ทำตัวเองให้มีความสุขในการทำงานกันทุกตัวเอง
อย่าฝากภาระไว้ที่องค์กรมากเลยนะครับ


จบแบบงงๆ ดีเนอะ

Rating

Average: 3 (2 votes)