การบริหารเงินสไตล์มนุษย์เงินเดือน

กองการเจ้าหน้าที่ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ร่วมกับ บลจ.ไทยพาณิชย์ (ผู้ดูแลกองทุนสำรองเลี้ยงชีพมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์) จัดการบรรยายในหัวข้อ การบริหารเงินสไตล์มนุษย์เงินเดือน เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2560 ณ ห้องประชุมวิทยาเขตปัตตานี วิทยากรโดย คุณ Z

วิทยากรเปิดประเด็นด้วยเรื่องเล่าของผู้เกษียณคนหนึ่ง โดยให้โจทย์ว่าเราต้องมีเงินเท่าไหร่จึงจะพอใช้ โดยมีสูตรในการคำนวนง่ายๆ คือ

จำนวนเงินที่ต้องการใช้ต่อเดือน x 12 (เดือน) x จำนวนปีที่คิดว่าจะมีชีวิตหลังเกษียณจนเสียชีวิต

สิ่งที่ต้องคำนึงอีกประการหนึ่งสำหรับผู้สูงอายุ คือ การปรับปรุงบ้านสำหรับการใช้ชีวิตสำหรับผู้สูงอายุ เช่น ห้องน้ำต้องไม่ลื่นและมีที่จับ บันไดชันน้อย เพราะหากเกิดลื่นล้ม อาจทำให้เจ็บป่วย อัมพฤต อัมพาตได้ ฉะนั้นการวางแผนการเงินสำหรับปรับปรุงบ้านในยามสูงอายุก็เป็นเรื่องสำคัญ

การวางแผนทางการเงินที่ดีต้องรู้ 3 อย่าง คือ

  1. รู้เก็บ
  2. รู้หา
  3. รู้ใช้

รู้เก็บ ออมก่อนใช้อย่างมีวินัย และสำรองฉุกเฉิน การรู้เก็บมีความสำคัญเป็นอันดับหนึ่งในการวางแผนเกษียณ เนื่องจากหากเราไม่รู้เก็บเงินก็จะไม่เงินสำหรับใช้จ่ายหลังเกษียณ ซึ่งเราจะไม่มีรายได้จากงานประจำอีกแล้ว คนโบราณจะใช้วิธีการเก็บออมเงินไว้ 2 กระเป่า กระเป๋าใบแรก 80% ของรายได้ สำหรับใช้จ่าย กระเป๋าใบที่สอง 20% ของรายได้ สำหรับเก็บออม วิทยากรแนะนำให้ออมเงินในสัดส่วน 80:20 เช่นกัน มีคำแนะนำเพิ่มเติมสำหรับการเก็บออม 2 เรื่อง คือ เราต้องเก็บเงินสำรองฉุกเฉิน 3-6 เท่าของค่าใช้จ่ายรายเดือน เพื่อไว้สำหรับกรณีต้องการใช้เงินฉุกเฉิน และเราต้องเก็บเงินสำหรับป้องกันความเสี่ยง 3-5 เท่าของค่าใช้จ่ายรายปี เมื่อเรามีเงินเก็บเพียงพอสำหรับสองส่วนนี้แล้ว จึงค่อยนำเงินส่วนที่เหลือไปสู่การรู้หาต่อไป

รู้หา เพิ่มพูนรายรับ ใช้เงินทำงาน การรู้หาเป็นการนำเงินเก็บส่วนที่เหลือจากการสำรองฉุกเฉิน มาลงทุนไว้ใช้ระยะยาว สินทรัพย์การลงทุนที่ดี ต้องให้ผลตอบแทนเมื่อถือ ไม่ใช่เมื่อขาย เช่น เงินปันผลจากการฝากเงิน เงินปันผลจากการถือกองทุน  เงินปันผลจากการถือหุ้นบริษัทที่ดี เป็นต้น การลงทุนทีดีต้องซื้อสินทรัพย์ที่ใช่ ในราคาที่ใช่ การลงทุนที่ดีต้องมีความสม่ำเสมอ และใช้เวลาระยะยาวในการลงทุน เพื่อให้ได้ผลตอบแทนทบต้นไปเรื่อยๆ หากทำได้เช่นนี้การเก็บเงินไว้ใช้หลังเกษียณก็ไม่ใช่ปัญหา 

รู้ใช้ ความสุข เพียงพอใช้ในชีวิตประจำวัน ใช้ตามวัตถุประสงค์พิเศษ การรู้ใช้มีข้อพิจารณาก่อนใช้จ่าย/ก่อหนี้ คือ จำเป็นไหม หลีกเลี่ยงได้ไหม หากคำตอบ คือ จำเป็น หลีกเลี่ยงไม่ได้ ก็ใช้จ่ายไปเหอะ แต่ถ้าหากพิจารณาแล้ว ไม่จำเป็น หลีกเลี่ยงได้ แสดงว่าคุณกำลังใช้จ่ายอย่างฟุ่มเฟือย และการใช้จ่ายอย่างฟุ่มเฟือยนี้แหละที่ทำให้เราไม่สามารถเก็บเงินไว้ใช้ได้อย่างเพียงพอหลังเกษียณ การก่อหนี้ด้วยการซื้อรถหรือบ้าน คุณ Z แนะนำให้ทดลองผ่อนดู 12 เดือน (หักเงินที่ต้องผ่อนจริงจากรายรับต่อเดือน) การทดลองผ่อนจะทำให้คุณเข้าใจสถานะภาพทางการเงินของคุณดียิ่งขึ้นก่อนการก่อหนี้จริง นอกจากนี้การรับภาระดอกเบี้ยก็เป็นสิ่งที่ไม่อาจมองข้ามได้ เราอาจจะคิดว่าน้อย น้อยๆ แต่นาน ก็ไม่น้อยนะ

ขอทิ้งท้ายว่า
ชีวิตทำงาน คือ ช่วงเวลาเก็บเงิน (ไว้) ใช้
เมื่อไม่ทำงาน คือ ช่วงเวลาใช้เงินเก็บ

Rating

Average: 3 (2 votes)