การประชุมเพื่อสร้างเครือข่ายพัฒนาคุณภาพวารสารวิชาการไทย ครั้งที่ 10

เมื่อวันจันทร์ที่ 30 พฤษภาคม 2559 ผม (คณิศร รักจิตร) และพี่พิเชษฐ (พิเชษฐ เพียรเจริญ) ในฐานะตัวแทนวารสารวิทยบริการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้มีโอกาสเข้าร่วมการประชุมเพื่อสร้างเครือข่ายพัฒนาคุณภาพวารสารวิชาการไทย ครั้งที่ 10 (AUTOMATED DATA INPUT AND ELECTRONIC JOURNAL MANAGEMENT) ซึ่งจัดโดย ศูนย์ดัชนีการอ้างอิงวารสารไทย (Thai-Journal Citation Index Centre: TCI) 

หัวข้อในการประชุมมีอยู่ประมาณ 3-4 ประเด็นหลัก คือ 1) การรายงานความเป็นมาและวัตถุประสงค์การจัดประชุมเพื่อสร้างเครือข่ายการพัฒนาคุณภาพวารสารวิชาการไทยครั้งที่ 10 โดย ศ.ดร.ณรงค์ฤทธิ์ สมบัติสมภพ หัวหน้าศูนย์ดัชนีการอ้างอิงวารสารไทย  ซึ่งตามด้วย 2) การเสวนาเรื่อง คุณภาพของวารสารในฐานข้อมูล TCI กับการขอกำหนดตำแหน่งทางวิชาการ และการจบการศึกษาของนักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา โดยศาสตราจารย์ผู้อยู่ในวงการการขอกำหนดตำแหน่งทางวิชาการ 2 ท่าน คือ ศ.ดร.สุวิมล ว่องวาณิช และ ศ.ดร.ประมวล ตั้งบริบูรณ์รัตน์ (เรื่องนี้มีประเด็นที่เกี่ยวโยงกับ TCI ที่น่าสนใจมาก) 3) การนำเสนอระบบบริหารจัดการข้อมูลวารสารผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์สำหรับวารสารใน TCI โดย ดร.ชูชาติ หฤไชยะศักดิ์ จาก NECTEC (ประเด็นนี้เป็นที่มาของชื่อการประชุมในครั้งนี้ด้วย) และ 4) บทเรียน เหตุการณ์ ข้อร้องเรียน หลังการประเมินคุณภาพวารสารในฐานข้อมูล TCI รอบที่ 3 และการขอรับการประเมินเพื่อปรับกลุ่มคุณภาพวารสาร 2559 รวมถึงการตอบคำถามข้อสงสัย โดย ศ.ดร.ณรงค์ฤทธิ์ สมบัติสมภพ ดร.ชูชาติ หฤไชยะศักดิ์  และทีมงานของ TCI 

การรายงานความเป็นมาและวัตถุประสงค์การจัดประชุมเพื่อสร้างเครือข่ายการพัฒนาคุณภาพวารสารวิชาการไทยครั้งที่ 10

ศ.ดร.ณรงค์ฤทธิ์ สมบัติสมภพ หัวหน้าศูนย์ดัชนีการอ้างอิงวารสารไทย ได้บอกเล่าที่มาของศูนย์ TCI รวมถึงแสดงให้เห็นถึงช่วงเวลา (Timeline) การทำงานและความก้าวหน้าของศูนย์ TCI ซึ่งผลที่เกิดจากการทำงานอย่างต่อเนื่องยาวนานกว่า 10 ปี รวมทั้งการกำหนดรูปแบบและแนวคิดการพัฒนาวารสารวิชาการไทยอย่างต่อเนื่อง ทำให้การจัดกลุ่มวารสารของ TCI ถูกนำมาเป็นใช้เป็นเกณฑ์ในการพิจารณาขอกำหนดตำแหน่งทางวิชาการ เกณฑ์การขอยื่นสำเร็จการศึกษาของสถาบันอุดมศึกษาทั่วประเทศ หลากหน่วยงานหลายสถาบันนำเกณฑ์ของ TCI ไปใช้ จนบางครั้งก็เกิดคำถามว่า TCI เป็นใคร? จึงได้มาจัดกลุ่มวารสาร ซึ่งเป็นการกำหนดคุณภาพวารสารแต่ละฉบับไปโดยปริยาย ความเป็นจริงการยอมรับการใช้เกณฑ์คุณภาพวารสารของ TCI เป็นคำตอบของคำถามนี้ได้เป็นอย่างดีอยู่แล้ว

คุณภาพของวารสารในฐานข้อมูล TCI กับการขอกำหนดตำแหน่งทางวิชาการ และการจบการศึกษาของนักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา (TCI ไม่ได้บอกถึงคุณภาพบทความ แต่บอกถึงคุณภาพวารสาร)

ศ.ดร.สุวิมล ว่องวาณิช และ ศ.ดร.ประมวล ตั้งบริบูรณ์รัตน์ นำเสนอมุมมองการทำผลงานวิชาการ การเผยแพร่ผลงานทางวิชาการ รวมทั้งบทบาทของวารสารในวงการวิชาการ บอกเล่าถึงปัญหาของนักวิจัยในปัจจุบัน ปัญหาของวารสาร และได้นำเสนอแนวทางการแก้ปัญหา ประเด็นที่ได้หยิบยกมานำเสนอคือ การกำหนดตำแหน่งทางวิชาการ เมื่อบังคับให้ตีพิมพ์บทความในวารสารที่อยู่ใน TCI กลุ่ม 1 แต่เมื่อบทความได้รับการตีพิมพ์แล้วทำไมบางครั้งการขอกำหนดตำแหน่งทางวิชาการจึงไม่ผ่าน คำตอบในประเด็นนี้ก็คือ บทความที่ตีพิมพ์กับวารสารที่อยู่ใน TCI กลุ่ม 1 ไม่ได้หมายความว่าบทความนั้นจะมีคุณภาพ ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น ในเมื่อ TCI ทำการจัดกลุ่มเพื่อบ่งชี้คุณภาพของวารสาร บทความที่ตีพิมพ์ในวารสารที่อยู่ใน TCI กลุ่ม 1 ก็น่าจะมีคุณภาพไปด้วยมิใช่หรือ คำตอบสำหรับประเด็นนี้ทั้งจาก ศ.ดร.สุวิมล ว่องวาณิช และ ศ.ดร.ณรงค์ฤทธิ์ สมบัติสมภพ ตอบตรงกันว่า TCI ประเมินวารสาร (กระบวนการผลิตวารสาร) ไม่ได้ประเมินคุณภาพบทความ การประเมินคุณภาพบทความเป็นหน้าที่ของกองบรรณาธิการวารสาร ฉะนั้น บทความในวารสารที่อยู่ใน TCI กลุ่ม 1 ไม่ได้หมายความว่าบทความนั้นจะมีคุณภาพเสมอไป การพิจารณาตำแหน่งทางวิชาการในบางครั้งจึงไม่ผ่าน เนื่องจากคณะกรรมการพิจารณาการกำหนดตำแหน่งวิชาการพิจารณาคุณภาพบทความเป็นสำคัญ

ศ.ดร.สุวิมล ว่องวาณิช ยังกล่าวต่ออีกว่า การขอกำหนดตำแหน่งทางวิชาการผู้ที่ยื่นขอด้วยบทความต้องมีความกล้าหาญและต้องแน่มากๆ เพราะการนำงานวิจัยเล่มหนาๆ เป็นร้อยๆ หน้า มานำเสนอในรูปแบบบทความเพียงไม่ถึง 20 หน้า ไม่ใช่เรื่องง่าย ฉะนั้น การขอกำหนดตำแหน่งทางวิชาการขอให้แนบตัวเล่มวิจัยฉบับเต็มไปด้วยจะมีโอกาสสำเร็จมากกว่า

ศ.ดร.สุวิมล ว่องวาณิช ได้ฝากถึงบทบาทของกองบรรณาธิการวารสาร เพื่อพัฒนาคุณภาพบทความและวงการวารสารวิชาการไทยโดยรวม ดังนี้
    - รู้และเข้าใจบทบาทหน้าที่ในการผลิตวารสารตามจุดมุ่งหมายที่กำหนด
    - รู้และเข้าใจเกี่ยวกับคุณสมบัติ/องค์ประกอบที่บ่งชี้ถึงคุณภาพของวารสาร
    - มีการประกับคุณภาพกระบวนการกลั่นกรอง คัดสรรบทความตีพิมพ์ในวารสารอย่างเข้มข้น มุ่งหวังให้เกิดคุณภาพและเกิดประโยชน์กับผู้อ่าน ไม่ใช่มุ่งเน้นที่ประโยชน์ของเจ้าของบทความหรือองค์กรที่เป็นเจ้าของวารสาร
    - การกำหนดผู้ตรวจอ่าน (คนในคนนอกที่ไม่มีส่วนได้ส่วนเสียกับเจ้าของผลงาน)
    - แต่งตั้งผู้ตรวจอ่านที่มีความรู้ความสามารถในบทความที่อ่านจริง ชื่อสัตย์ต่อการอ่าน ให้ข้อเสนอแนะที่ทำให้บทความมีคุณภาพจริง เป็นประโยชน์ต่อวงวิชาการ

นอกจากนี้ ศ.ดร.สุวิมล ว่องวาณิช ได้ฝากถึงบทบาทของนักวิจัย นักวิชาการที่ผลิตผลงานวิชาการ
    - เข้าใจและยอมรับว่าการเผยแพร่ผลงานวิชาการให้เป็นที่รับรู้ในวงวิชาการเป็นบทบาทหน้าที่หนึ่งของนักวิชาการ
    - มีความรู้และเข้าใจเกี่ยวกับมาตรฐานของบทความวิจัย บทความวิชาการที่ดี
    - อ่านและศึกษาหาความรู้ในการผลิตบทความจากวารสารวิชาการที่มีคุณภาพ
    - ผลิตงานวิจัยที่มีคุณภาพตามองค์ประกอบด้านสาระและวิธีวิทยาการวิจัย

การนำเสนอระบบบริหารจัดการข้อมูลวารสารผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์สำหรับวารสารใน TCI

ดร.ชูชาติ หฤไชยะศักดิ์ จาก NECTEC นำเสนอระบบบริหารจัดการข้อมูลวารสารผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ ประเด็นค่อนข้างมีความสำคัญกับการจัดเก็บข้อมูลเมทาเดตา (Metadata) ของบทความในวารสารที่อยู่ใน TCI ทั้งหมด ซึ่งอยู่ระหว่างการทดลองใช้และคาดว่าจะประกาศใช้งานในเร็วๆ นี้ ซึ่งเป็นผลทำให้กองบรรณาธิการวารสารไม่ต้องส่งตัวเล่มให้กับทาง TCI อีกแล้ว แต่ให้เข้าไปส่งไฟล์ PDF ทางตัวระบบแทน ซึ่งระบบจะทำการสกัดเมทาเดตาโดยอัตโนมัติ ซึ่งจะเป็นการลดเวลา จำนวนคนที่ต้องมานั่งกรอกข้อมูลในส่วนนี้ รวมทั้งตัวระบบยังมีความสามารถในการป้องกันการคัดลอก (Plagiarism) ความซ้ำซ้อนของบทความด้วย 

ประเด็นนี้มีความสำคัญค่อนข้างมาก จะเห็นได้จากเป็นชื่อการประชุมครั้งที่ 10 นี้ด้วย (AUTOMATED DATA INPUT AND ELECTRONIC JOURNAL MANAGEMENT) ซึ่งก็เป็นเรื่องที่สืบเนื่องจากการประชุมครั้งที่ 9 ด้วย สำหรับในวันนั้นมีการสาธิตการใช้งานและการนำเสนอการจัดรูปแบบบทความที่ระบบสามารถจัดเก็บเมทาเดตาได้อย่างสมบูรณ์ ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ TCI ขอความร่วมมือในการจัดรูปแบบการจัดเรียงบทความที่รองรับกับการทำงานของระบบด้วย ซึ่งรูปแบบก็มีความยืดหยุ่นอยู่พอสมควร และไม่กระทบกับอัตลักษณ์การจัดเรียงบทความของแต่ละวารสารมากนัก เราไปดูสิ่งที่ทาง TCI ขอให้ปรับกันคร่าวๆ

  • ชื่อบทความมีขนาดไม่น้อยกว่า 18 point และเป็นตัวหนา หรือต้องมีขนาดใหญ่กว่าชื่อผู้เขียนและชื่อหน่วยงานอย่างน้อย 3 point
  • ชื่อผู้เขียนอยู่ด้านล่างชื่อบทความ มีขนาดเล็กกว่าชื่อบทความอย่างน้อย 3 point และไม่ต้องใส่ตำแหน่งหรือคำนำหน้าใดๆ
  • ขื่อหน่วยงานอยู่ด้านล่างชื่อผู้เขียน มีขนาดเล็กกว่าชื่อบทความอย่างน้อย 3 point และไม่ต้องใส่ตำแหน่งหรือสถานภาพใดๆ

  • บทคัดย่อ ในภาษาไทย ให้ใช้คำว่า บทคัดย่อ และเป็นตัวหนา
  • บทคัดย่อ ในภาษาอังกฤษ ให้ใช้คำว่า Abstract หรือ ABSTRACT และเป็นตัวหนา
  • คำสำคัญ ในภาษาไทย ให้ใช้คำว่า คำสำคัญ และเป็นตัวหนา
  • คำสำคัญ ในภาษาอังกฤษ ให้ใช้คำว่า Keywords หรือ KEYWORDS และเป็นตัวหนา
  • บทนำ ในภาษาไทย ให้ใช้คำว่า บทนำ และเป็นตัวหนา
  • บทนำ ในภาษาอังกฤษ ให้ใช้คำว่า Introduction หรือ INTRODUCTION และเป็นตัวหนา

  • เอกสารอ้างอิง ในภาษาไทย ให้ใช้คำว่า เอกสารอ้างอิง รายการอ้างอิง บรรณานุกรม และเป็นตัวหนา
  • เอกสารอ้างอิง ในภาษาอังกฤษ ให้ใช้คำว่า References REFERENCES Bibliography BIBLIOGRAPHY และเป็นตัวหนา
  • หน่วยงานผู้เขียน อาจไม่ต้องระบุอะไรก็ได้ หรือถ้าจะระบุให้ระบุว่า หน่วยงานผู้แต่ง ในภาษาไทย หรือ Affiliation ในภาษาอังกฤษ และเป็นตัวหนา

รูปแบบการจัดเรียงบทความคร่าวๆ เป็นประมาณนี้ สำหรับวารสารที่ต้องการปรับรูปแบบการจัดเรียงบทความและมีข้อสงสัยสามารถศึกษาเพิ่มเติมได้จากวารสารที่ TCI ได้ประกาศผลการพิจารณารูปแบบบทความ ซึ่งระบบสามารถสกัดเมทาเดตาได้เป็นอย่างดีได้ที่ http://www.kmutt.ac.th/jif/public_html/News/2559/30_May/News.html

บทเรียน เหตุการณ์ ข้อร้องเรียน หลังการประเมินคุณภาพวารสารในฐานข้อมูล TCI

ขอนำเสนอเป็นประเด็นคำถามที่เห็นว่าเป็นประโยชน์ต่อผู้อ่านในวงกว้างเท่านั้น เพราะจริงๆ แล้ว มีคำถามหลายข้อมากที่เกิดขึ้นในวันนั้น

การ Reject บทความ
การ Reject หรือการปฏิเสธการตีพิมพ์บทความถือเป็นเรื่องปกติของการทำงานวารสารวิชาการ เนื่องจากปัจจุบันวารสารที่อยู่ในฐานข้อมูล TCI จะต้องมีกระบวนการพิจารณาคุณภาพบทความ และเมื่อมีการพิจารณาคุณภาพก็จะมีบทความที่เห็นว่าสามารถตีพิมพ์เผยแพร่ได้และไม่สามารถตีพิมพ์เผยแพร่ได้ เป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ อย่างไรก็ตาม มุมมองของ ศ.ดร.ณรงค์ฤทธิ์ สมบัติสมภพ เห็นว่าการ Reject บทความมีประโยชน์มากกว่าการทำให้วารสารมีคุณภาพมากขึ้น เพราะในขณะเดียวกันก็เป็นการที่ทำให้ผู้เขียนมีโอกาสในการพัฒนาคุณภาพบทความมากขึ้นด้วยเช่นกัน การให้ข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะในการแก้ไขบทความ (Reject)ทำให้ผู้เขียนสามารถผลิตงานเขียนที่มีคุณภาพ มีความรอบคอบ และระมัดระวังในการเขียนบทความมากขึ้นด้วย ฉะนั้นการ Reject บทความทำให้วงการวารสารวิชาการไทยมีคุณภาพมากขึ้น อย่าไปมองว่าวารสารใจร้าย ไม่ช่วยเหลือนักศึกษาหรือผู้ผลิตผลงานวิชาการ จริงๆ แล้วเรากำลังช่วยให้วงการวารสารวิชาการไทยมีคุณภาพมากขึ้นต่างหาก (วารสารต่างประเทศแค่จัดรูปแบบบทความไม่สม่ำเสมอ (ย่อหน้า วรรค กั้นหน้า กั้นหลังไม่เท่ากัน) ยังโดน Reject เลย โดยที่ยังไม่พิจารณาตัวบทความด้วยซ้ำ เพราะเขามองว่า เรื่องเล็กๆ น้อยๆ แค่นี้ยังจัดการไม่ได้ ไม่จำเป็นต้องดูเรื่องอื่นแล้ว)

กองบรรณาธิการจากหลากหลายหน่วยงาน
กองบรรณาธิการจากหลากหลายหน่วยงานเป็นเกณฑ์ในพิจารณาคุณภาพวารสารของ TCI ข้อหนึ่ง ด้วยแนวคิดที่ต้องการให้วารสารมีคณะทำงานที่เข้มแข็งและหลากหลาย (ส่งให้ผู้ทรงคุณวุฒิหลายๆ หน่วยงาน) เพื่อให้วารสารได้รับการเผยแพร่และยอมรับในวงกว้าง สำหรับสัดส่วนที่เหมาะสมในการจัดตั้งกองบรรณาธิการวารสารคือ ต้องเป็นผู้ทรงคุณวุฒิจากภายนอกหรือต่างหน่วยงาน ร้อยละ 60 ของกองบรรณาธิการทั้งหมด

บทความจากหลากหลายหน่วยงาน
บทความจากหลากหลายหน่วยงานก็เป็นเกณฑ์ในพิจารณาคุณภาพวารสารของ TCI ข้อหนึ่งเช่นกัน ด้วยแนวคิดที่ต้องการให้วารสารมีความหลากหลายและเผยแพร่ไปในวงกว้าง (ส่งให้ผู้เขียนหลายๆ หน่วยงาน) สำหรับสัดส่วยที่เหมาะสมในการตีพิมพ์บทความแต่ละฉบับคือ ควรเป็นบทความจากหน่วยงานภายนอกหรือต่างหน่วยงาน ร้อยละ 60 ของบทความที่ตีพิมพ์แต่ละฉบับ

การเลือกผู้ทรงคุณวุฒิในการพิจารณาคุณภาพบทความต้องไม่ใช่หน่วยงานเดียวกัน
การเลือกผู้ทรงคุณวุฒิในการพิจารณาบทความก็เป็นเกณฑ์ในพิจารณาคุณภาพวารสารของ TCI ข้อหนึ่งเช่นกัน TCI มองว่าผู้ทรงคุณวุฒิในการพิจารณากลั่นกรองคุณภาพบทความต้องไม่ได้มาจากหน่วยงานเดียวกับผู้เขียน และต้องเป็นผู้ไม่มีส่วนได้ส่วนเสียกับผู้เขียนและบทความนั้น จึงเป็นที่มีของเกณฑ์ข้อนี้ 

การประเมินปรับกลุ่มคุณภาพวารสารที่อยู่ในฐานข้อมูล TCI สำหรับวารสารกลุ่มที่ 2 และกลุ่มที่ 3 จากการประเมินรอบที่ 3 พ.ศ. 2558 ในวันที่ 1-30 มิถุนายน 2559 นี้ วารสารที่ขอรับการประเมินลองนำเกณฑ์ 3 ข้อ ดังกล่าวข้างต้นไปใช้กับวารสารดูนะครับ

 

ขอให้มีความสุขกับการทำงานวารสารกันทุกคนนะครับ

Rating

Average: 3 (2 votes)