“Authorship” ผู้เขียน ผู้ประพันธ์ หรือผู้นิพนธ์ เป็นอย่างไร

“ผู้เขียน” ในเนื้อหานี้มุ่งเน้นไปที่ผู้เขียนซึ่งเป็นผู้สร้างสรรค์ผลงานวิชาการทั้งงานวิจัย บทความวิชาการ และงานเขียนทางวิชาการอื่น ๆ โดยกล่าวถึงความเป็นผู้เขียน (Authorship) ต้องมีคุณสมบัติ หรือองค์ประกอบ หรือความรับผิดชอบอย่างไรบ้าง และยิ่งไปกว่านั้นในปัจจุบันที่มีเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) หรือที่เรียกสั้น ๆ ว่า AI เข้ามามีบทบาทในการเขียนหรือช่วยในการเขียนผลงานวิชาการด้วยเช่นนี้ มีอะไรที่ผู้เขียนซึ่งเป็นมนุษย์ต้องคำนึงถึงบ้าง ในเนื้อหาจะมีการแนบลิงค์แหล่งข้อมูลสำหรับผู้ที่สนใจรายละเอียดเพิ่มเติมนอกเหนือจากที่ผมได้สรุปไว้สั้น ๆ เพื่อเป็นประโยชน์กับผู้อ่านต่อไป

ภาพด้านบนเป็นองค์ประกอบ 5 ประการ ของผู้เขียน ผู้ประพันธ์ หรือผู้นิพนธ์ ในมุมมองของผู้เขียน เราเลื่อนไปดูรายละเอียดในแต่ละองค์ประกอบกันเลย


คุณสมบัติผู้เขียน (Author)

ผู้เขียนที่มีคุณสมบัติการเป็นผู้เขียน ประกอบด้วย

  • ผู้มีส่วนร่วมในการออกแบบโครงการวิจัย รวบรวมข้อมูล หรือวิเคราะห์ผลลัพธ์
  • ผู้มีส่วนร่วมในการร่างหรือแก้ไขต้นฉบับ
  • ผู้อนุมัติต้นฉบับก่อนตีพิมพ์ขั้นสุดท้าย
  • ผู้รับผิดชอบต่อความถูกต้องและสมบูรณ์ของต้นฉบับ

International Committee of Medical Journal Editors (ICMJE) ได้ระบุว่า ใครควรมีชื่อเป็นผู้เขียนหรือเจ้าของผลงานตามคุณสมบัติทั้ง 4 ข้อด้านบน จะเห็นว่า การมีชื่อเป็นผู้เขียนผลงานต้องเป็นผู้มีส่วนร่วมในการวิจัย การร่างหรือแก้ไขต้นฉบับ เป็นผู้อนุมัติต้นฉบับก่อนตีพิมพ์ และที่สำคัญต้องเป็นผู้รับผิดชอบในผลงานทั้งในแง่ของความถูกต้องและสมบูรณ์ด้วย การได้มาซึ่งชื่อผู้เขียนจึงต้องเป็นผู้ที่ลงมือทำหรือมีส่วนร่วมในผลงานนั้นจริง ๆ เพราะชื่อผู้เขียนเป็นชื่อเสียงที่มาพร้อมความรับผิดชอบเสมอ ทั้งนี้การระบุชื่อผู้เขียนในผลงานมักมีปัญหาหรือมีข้อพิพาทเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง อาจเนื่องมาจากความรับผิดชอบและการใช้ประโยชน์ในผลงานที่แตกต่างกัน ลองในหัวข้อถัดไป

ตำแหน่งผู้เขียน (Author position)

ชื่อผู้เขียนในผลงานวิชาการ ประกอบด้วย

  • ผู้สร้างสรรค์ทางปัญญา (First Author)
  • ผู้มีส่วนสำคัญทางปัญญา (Contributor author)
  • ผู้ทำหน้าที่ติดต่อประสานงานกับวารสาร (Corresponding author)
  • ผู้ที่ไม่ได้มีส่วนสำคัญทางปัญญาแต่มีชื่อเป็นผู้เขียน (Gift author)
  • ผู้ที่มีส่วนสำคัญทางปัญญาแต่ไม่มีชื่อเป็นผู้เขียน (Ghost author)

จากตำแหน่งผู้เขียนข้างต้น การระบุชื่อผู้เขียนในลำดับหรือตำแหน่งที่ต่างกันทำให้การนำใช้ประโยชน์ในผลงานต่างกัน สำหรับนักศึกษาปริญญาโทหรือปริญญาเอก การเป็นผู้สร้างสรรค์ทางปัญญาหรือผู้เขียนชื่อแรกเพื่อใช้สำหรับยื่นสำเร็จการศึกษา สำหรับอาจารย์ในสถาบันอุดมศึกษาการเป็นผู้เขียนชื่อแรกหรือผู้ทำหน้าที่ติดต่อประสานงานกับวารสารเพื่อใช้สำหรับการยื่นขอตำแหน่งทางวิชาการ เนื่องจากชื่อแรกจะบ่งบอกถึงผู้ดำเนินการหลักในผลงานหรือผู้ที่มีปริมาณงานมากที่สุด สำหรับชื่อผู้ประสานงานหลักจะมอบให้กับผู้ที่ทำหน้าที่ให้คำปรึกษาและกำกับดูแลโครงการ (Supervision) ซึ่งจะเป็นผู้ที่รับผิดชอบหลักในการเผยแพร่ผลงานหรือติดต่อกับวารสาร รวมทั้งการติดต่อประสานงานกับผู้อ่านด้วย ส่วนผู้มีส่วนสำคัญทางปัญญาหรือผู้เขียนร่วมเป็นชื่อที่บ่งบอกว่า ผู้ที่มีส่วนสำคัญในการสร้างสรรค์ทางปัญญานี้ประกอบด้วยใครบ้างที่ควรได้รับเครดิตและชื่อเสียงร่วมกัน สำหรับการระบุชื่อผู้เขียนในผลงานปัจจุบันวารสารนานาชาติมีการให้ผู้เขียนระบุบทบาทหน้าที่ในผลงานเพื่อให้ยืนยันความถูกต้องในความเป็นผู้เขียนซึ่งอิงตามบทบาทหน้าที่ผู้เขียน 14 บทบาทของ CRediT อีกทั้งยังเป็นการดำเนินการเพื่อให้สอดคล้องกับจรรยาบรรณการตีพิมพ์เผยแพร่ของวารสารอีกด้วย
นอกจากนี้ ยังมีผู้เขียนอีก 2 ตำแหน่ง ซึ่งมักเกิดปัญหาข้อพิพาทและเป็นการขัดกับจริยธรรมการวิจัยและการตีพิมพ์เผยแพร่ผลงาน ตำแหน่งแรก ผู้เขียนของขวัญ (Gift author) คือ ผู้ที่ไม่ได้มีส่วนสำคัญทางปัญญาแต่มีชื่อเป็นผู้เขียน การที่มีชื่อเป็นผู้เขียนในผลงานทั้งที่ไม่ได้มีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์ผลงานนั้น ไม่ว่าจะได้มาด้วยมิตรภาพ สายการบังคับบัญชา หรือความเสน่หา จัดเป็นการผิดทางจริยธรรมการวิจัยและจริยธรรมการตีพิมพ์เผยแพร่ผลงานทั้งหมด เช่นเดียวกับตำแหน่งที่สอง ผู้เขียนผี (Ghost author) คือ ผู้ที่มีส่วนสำคัญทางปัญญาแต่ไม่มีชื่อเป็นผู้เขียน ในภาษานักเลงน่าจะตรงกับคำว่า "เพื่อนรักหักเหลี่ยมโหด" เพื่อนที่เริ่มต้นทำงานร่วมกันมาแต่กลับแต่ไม่ได้รับเครดิตหรือผลประโยชน์ใดใด เนื่องจากไม่มีชื่อเป็นผู้เขียนในผลงานเมื่อตีพิมพ์เผยแพร่ กรณีชื่อหายระหว่างการตีพิมพ์เผยแพร่เกิดขึ้นบ่อยครั้ง อาจเนื่องมาจากการเกณฑ์การประเมินในการยื่นขอตำแหน่งวิชาการแบบเก่า (ปัจจุบันไม่ใช้แล้ว) ที่ใช้การแบ่งสัดส่วนในผลงาน การมีชื่อผู้เขียนหลายชื่อทำให้มีตัวหารมากขึ้นสัดส่วนในผลงานก็น้อยลงตามไปด้วยนั่นเอง พูดถึงเรื่องจริยธรรมผู้เขียนแล้วลองดูในหัวข้อถัดไปกันต่อเลย

จริยธรรมผู้เขียน (Ethics)

จริยธรรมผู้เขียนในการวิจัย ประกอบด้วย

  • การคัดลอกผลงาน (Plagiarism)
  • การสร้างข้อมูลเท็จ/การเสกสรรปั้นแต่ง (Fabrication)
  • การบิดเบือน/ดัดแปลงข้อมูล (Falsification)

จริยธรรมการวิจัยและจรรยาบรรณนักวิจัยเป็นเรื่องที่วงการวิชาการให้ความสำคัญเป็นอย่างมากมาโดยตลอดและมากยิ่งขึ้นด้วย เนื่องจากเทคโนโลยีและเครื่องมือการวิจัยในปัจจุบันทำให้การกระทำผิดหรือการหลุดออกจากครรลองของจริยธรรมเป็นเรื่องง่ายมากขึ้น ซึ่งเป็นการทำลายศักดิ์ศรีและความสง่างามทางวิชาการของผู้เขียนเอง

จริยธรรมการวิจัยและจรรยาบรรณนักวิจัยเป็นเรื่องที่วงการวิชาการให้ความสำคัญเป็นอย่างมากมาโดยตลอดและมากยิ่งขึ้นด้วย เนื่องจากเทคโนโลยีและเครื่องมือการวิจัยในปัจจุบันทำให้การกระทำผิดหรือการหลุดออกจากครรลองของจริยธรรมเป็นเรื่องง่ายมากขึ้น ซึ่งเป็นการทำลายศักดิ์ศรีและความสง่างามทางวิชาการของผู้เขียนเอง

สำหรับการคัดลอกผลงาน คือ การคัดลอกข้อความ ภาพ กราฟ กระบวนการ หรือความคิดของผู้อื่นเป็นผลงานตนเอง จริงอยู่ที่การทำวิจัยต้องมีการทบทวนวรรณกรรมของผู้อื่นเพื่อระบุตำแหน่งงานวิจัย เติมเต็มช่องว่างทางวิชาการ รวมทั้งเพื่อสนับสนุนและวิพากษ์กับผลการวิจัยของตนเอง แต่ทั้งหมดต้องไม่ใช่การ Copy and Paste การอ้างถึงผลงานอื่นที่จะไม่เป็นการคัดลอกผลงานต้องทำการสรุปสาระสำคัญของข้อความด้วยภาษาของตัวเองพร้อมทั้งอ้างอิงแหล่งที่มาอย่างถูกต้องทุกครั้ง ทั้งนี้เป็นที่ทราบกันว่า ปัจจุบันการตรวจสอบการคัดลอกผลงานเป็นเรื่องพื้นฐานในการตรวจสอบผลงานเบื้องต้นทั้งในส่วนของผลงานที่ใช้ยื่นขอตำแหน่งทางวิชาการและผลงานที่ยื่นขอพิจารณาตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารต่าง ๆ การตรวจสอบนิยมใช้โปรแกรมเพื่อค้นหาความซ้ำซ้อนของข้อความ เช่น Turnitin, iThenticate, Copyleaks, CopyCatch เป็นต้น

สำหรับการสร้างข้อมูลเท็จหรือการเสกสรรปั้นแต่ง คือ การปั้นข้อมูลหรือผลการวิจัยขั้นมาโดยไม่มีอยู่จริง มีการบันทึก และรายงานการวิจัยที่เป็นเท็จออกไป อีกทั้งการบิดเบือนหรือดัดแปลงข้อมูล คือ การจัดเตรียมกระบวนการวิจัย หรือเปลี่ยนข้อมูล หรือตัดทิ้งบางข้อมูลที่ทำให้ผลการวิจัยขาดความแม่นยำ สองข้อนี้หากมองในมุมของพุทธศาสนาแล้วก็ผิดในศีลข้อ 2 และข้อ 4 ที่ว่าด้วยเรื่องการคดโกงและการกล่าวความเท็จ การไม่กระทำผิดจริยธรรม 2 ข้อนี้จึงเป็นความงามทางศีลธรรมจรรยาด้วยเช่นกัน และควรเป็นจริยธรรมพื้นฐานของนักวิจัยทุกคนเพื่อความสง่างามทางวิชาการของผู้วิจัยเอง

ความรับผิดชอบของผู้เขียนในมุมวารสาร (Accountability)

หัวข้อนี้เป็นคุณสมบัติของผู้เขียนที่วารสารต้องการ ซึ่งประกอบด้วย

  • จริยธรรมการวิจัยและการตีพิมพ์ (Ethics)
  • คุณสมบัติการเป็นผู้เขียน (Author)
  • งานเขียนต้นฉบับ (Originality)
  • ประกาศผลประโยชน์ทับซ้อนอย่างโปร่งใส (Conflicts of interest)
  • จัดการข้อตกลงลิขสิทธิ์และใบอนุญาต (Copyright)

สิ่งที่วารสารต้องการนอกจากบทความที่ดีและมีคุณภาพแล้ว ก็คือ ผู้เขียนที่ดีด้วย เนื่องจากวารสารมองว่า ผู้เขียนที่ดีจึงจะสามารถสร้างบทความที่ดีและมีคุณภาพได้ หากผู้เขียนไม่ดีเสียแล้วบทความจะดีและมีคุณภาพไม่ได้เลย ผู้เขียนที่ดีนอกจากต้องมีจริยธรรมการวิจัยและการตีพิมพ์ และมีคุณสมบัติการเป็นผู้เขียนดังที่ได้กล่าวมาข้างต้นแล้ว ในการส่งบทความเพื่อขอรับการพิจารณาเพื่อตีพิมพ์ผู้เขียนต้องส่งบทความที่เป็นต้นฉบับ ซึ่งหมายถึง งานที่เป็นองค์ความรู้ใหม่ งานที่ไม่เคยตีพิมพ์เผยแพร่ และไม่อยู่ในกระบวนการพิจารณาตีพิมพ์ในแหล่งอื่นใดมาก่อน อีกทั้งผู้เขียนต้องประกาศผลประโยชน์ทับซ้อนอย่างโปร่งใส เพื่อยืนยันความซื่อสัตย์และปราศจากอคติของผู้เขียน และงานวิจัยนี้ไม่มีผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่ไม่เหมาะสม และสุดท้าย คือ การจัดการข้อตกลงลิขสิทธิ์และใบอนุญาต วารสารส่วนใหญ่มีการให้ผู้เขียนลงนามในข้อตกลงเรื่องลิขสิทธิ์และการอนุญาตในบทความเพื่อความถูกต้องทางกฎหมาย อย่างไรก็ตาม บางวารสารยังไม่มีการจัดการในรูปแบบนี้อย่างเป็นทางการ

ประเด็นสำคัญอีกประการหนึ่งที่วารสารและวงการวิชาการถกเถียงกัน คือ เรื่อง ผู้เขียนกับเครื่องมือ AI ซึ่งบางเรื่องก็เป็นที่ยุติแล้ว บางเรื่องอยู่ในการติดตามดูสถานการณ์ และบางเรื่องก็กำลังเป็นประเด็นถกเถียงในวงวิชาการ ตัวอย่างเช่น บทความ 1, บทความ 2, บทความ 3, บทความ 4

ผู้เขียนกับเครื่องมือ AI

วารสารมีมุมมองในการยอมรับและปฏิเสธเครื่องมือ AI ในระดับที่แตกต่างกันขึ้นอยู่กับนโยบายของแต่ละสำนักพิมพ์แต่โดยภาพรวมมีลักษณะ ดังนี้

  • ไม่สามารถระบุเครื่องมือ AI เป็นผู้เขียนได้
  • ไม่สามารถใช้เครื่องมือ AI ในการสร้างภาพและเนื้อหาอัตโนมัติได้
  • เปิดเผยข้อมูลการใช้เครื่องมือ AI ในต้นฉบับอย่างโปร่งใส
  • รับผิดชอบต่อเนื้อหาต้นฉบับรวมทั้งส่วนที่มาจากเครื่องมือ AI
  • การใช้เครื่องมือ AI ทำให้ผลงานขาดความเป็นต้นฉบับ (Orginality) และขาดอัตลักษณ์ในตัวผู้เขียน (Identity)

สำนักพิมพ์ใหญ่ที่มีวารสารตีพิมพ์ระดับนานาชาติจำนวนมากอย่าง Elsevier, Sage, Springer, Taylor & Francis เป็นต้น มีการประกาศนโยบายการใช้ AI ในการเขียนหรือช่วยในการเขียนบทความทั้งในส่วนของผู้เขียน บรรณาธิการ และผู้ประเมินบทความ เพื่อเป็นแนวทางพิจารณารูปแบบการใช้เครื่องมือ AI ในการเขียนบทความวิชาการให้กับวารสารในเครือ ซึ่งประกอบด้วย 1) ไม่สามารถระบุเครื่องมือ AI เป็นผู้เขียนได้ ประเด็นนี้เป็นที่ยุติแล้วว่า เครื่องมือ AI ทั้งหมดไม่สามารถระบุชื่อเป็นผู้เขียนในบทความได้ เนื่องจากเครื่องมือ AI ไม่มีคุณสมบัติการเป็นผู้เขียนได้อย่างครบถ้วน เช่น เครื่องมือ AI ไม่สามารถอนุมัติต้นฉบับก่อนตีพิมพ์ขั้นสุดท้ายได้ เครื่องมือ AI ไม่สามารถรับผิดชอบต่อความถูกต้องและสมบูรณ์ของต้นฉบับได้ รวมทั้งไม่สามารถประกาศผลประโยชน์ทับซ้อนและจัดการเรื่องลิขสิทธิ์ทางกฎหมายได้ 2) ไม่สามารถใช้เครื่องมือ AI ในการสร้างภาพและเนื้อหาอัตโนมัติได้ สำนักพิมพ์ส่วนใหญ่ไม่อนุญาตให้ผู้เขียนใช้เครื่องมือ AI สร้างภาพและข้อความอัตโนมัติได้ แต่อนุญาตให้ใช้ในการแก้ไขและปรับปรุงภาษาได้ นั่นหมายความว่า วารสารยังต้องการให้มนุษย์เป็นผู้เขียนบทความด้วยตนเอง เครื่องมือ AI เป็นเพียงผู้ช่วยมนุษย์เท่านั้น ทั้งนี้นักวิชาการมองว่า ข้อความที่ถูกสร้างด้วยเครื่องมือ AI ไม่มีความเป็นต้นฉบับ เนื่องจากการพัฒนาเครื่องมือ AI มีการใช้เอกสารที่มีอยู่แล้วจำนวนมาก ข้อความที่มาจากเครื่องมือ AI จึงไม่ใช่องค์ความรู้ใหม่ และอาจมีปัญหาเรื่องของการคัดลอกผลงานหรือลิขสิทธิ์ในบทความได้ อีกทั้งยังพบข้อมูลจากเครื่องมือ AI ที่ไม่ถูกต้องและสมบูรณ์อีกด้วย 3) เปิดเผยข้อมูลการใช้เครื่องมือ AI ในต้นฉบับอย่างโปร่งใส ในการวิจัยร่วมสมัยหากมีการใช้เครื่องมือ AI เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการ หรือเครื่องมือในการวิจัย หรือส่วนอื่น ๆ ของงาน วารสารต้องการให้ผู้เขียนเปิดเผยชื่อและรุ่นของเครื่องมือ AI ที่ใช้ วิธีการทำงาน และเหตุผลความจำเป็นในการใช้งานด้วย ซึ่งมักขอให้ผู้เขียนระบุไว้ในส่วนของวิธีการดำเนินการวิจัย (Methodology) หรือกิตติกรรมประกาศ (Acknowledgement) หรือประกาศการใช้เครื่องมือ AI (Declaration of Generative AI) เพื่อความโปร่งใสและน่าเชื่อถือของทั้งผู้เขียน ผู้อ่าน ผู้ประเมิน และบรรณาธิการนั่นเอง

คุณสมบัติของผู้เขียนที่ต้องเป็นผู้รับผิดชอบต่อความถูกต้องและสมบูรณ์ของต้นฉบับในมิติของการใช้เครื่องมือ AI ก็เช่นกัน ผู้เขียนต้องเป็นผู้รับผิดชอบต่อเนื้อหาต้นฉบับทั้งที่มาจากตัวผู้เขียนเองและเครื่องมือ AI ผู้เขียนจะปฏิเสธความรับผิดชอบดังกล่าวไม่ได้ ทั้งนี้เพราะเครื่องมือ AI ไม่สามารถรับผิดชอบผลจากการกระทำของตัวเองตามกฏหมายได้อยู่แล้ว และชื่อผู้เขียนซึ่งเป็นเจ้าของผลงานเป็นชื่อเสียงที่มาพร้อมความรับผิดชอบดังที่ได้กล่าวไปแล้วข้างต้นในหัวข้อคุณสมบัติผู้เขียน

ประเด็นสุดท้ายของหัวข้อผู้เขียนกับเครื่องมือ AI และประเด็นสุดท้ายของเนื้อหานี้ด้วย คือ การใช้เครื่องมือ AI ทำให้ผลงานขาดความเป็นต้นฉบับและขาดอัตลักษณ์ในตัวผู้เขียน องค์ประกอบของผู้เขียนที่กล่าวมาทั้งหมดตั้งแต่ต้นเป็นการรวบรวมความเป็นผู้เขียนขั้นพื้นฐาน การเป็นผู้เขียนขั้นสูงในวงการวิชาการยอมรับกันที่ความเป็นเอกลักษณ์หรืออัตลักษณ์ของผู้เขียนในแบบที่อ่านแล้วรู้ว่าผลงานชิ้นนี้เป็นของใคร ซึ่งตัวตนแบบนี้ต้องใช้เวลาและความสามารถในการสร้างสรรค์ผลงานกว่าจะเป็นที่ยอมรับในวงวิชาการ แต่ไม่สามารถเกิดขึ้นได้เลยหากผู้เขียนพึ่งพาหรือใช้เครื่องมือ AI ในการเขียนตั้งแต่เริ่มต้น ภาษาและลีลาการเขียนซึ่งเป็นอัตลักษณ์ของผู้เขียนจะไม่ปรากฏเด่นชัด ฉะนั้น ผู้เขียนขั้นสูงอาจเป็นเพียงผู้เขียนในอุดมคติเท่านั้น หากผู้เขียนใช้เครื่องมือ AI นำในการเขียน ส่วนเรื่องของความเป็นต้นฉบับได้กล่าวไปในย่อหน้าก่อนหน้าแล้วว่า เครื่องมือ AI ใช้เอกสารที่มีอยู่แล้วจำนวนมากในขั้นตอนการพัฒนาเครื่องมือนั้น ๆ ข้อความที่มาจากเครื่องมือ AI จึงไม่มีคุณสมบัติของการเป็นต้นฉบับอยู่แล้ว นอกจากนี้ ประเด็นที่ควรให้ความสำคัญ คือ งานเขียนที่มาจากการช่วยเหลือของเครื่องมือ AI ปริมาณของผู้เขียนที่เป็นมนุษย์ควรมีมากพอที่จะบอกได้ว่า ชื่อผู้เขียนเป็นผู้เขียนงานนั้นจริง เพราะหากปริมาณงานมีไม่มากแล้วพองานนั้นควรเป็นเครดิตของเครื่องมือ AI หรือผู้พัฒนาเครื่อง AI หรือผู้เขียนกันแน่ และคำถามนี้เกี่ยวข้องกับจริยธรรมและจรรยาบรรณของผู้เขียนด้วยเช่นกัน

เนื้อหานี้เกิดจากการศึกษาเอกสารและข้อมูลหลาย ๆ แหล่ง แล้วมาสรุปตามแนวทางของผมเอง ซึ่งทำหน้าที่รับผิดชอบดูแลวารสารวิชาการของหน่วยงาน แม้ไม่สามารถอ้างอิงทางวิชาการได้แต่ทุกเรื่องทุกประเด็นผมได้ใส่ลิงค์เอกสารและหลักฐานที่น่าเชื่อถือไว้แล้ว หวังว่าจะเป็นประโยชน์กับผู้อ่านและผู้เขียนทุกท่าน และผมขอไม่สรุปเนื้อหาไว้ในย่อหน้าสุดท้ายเพราะอยากให้อ่านเนื้อหาทั้งหมด และอยากบอกว่า เป็นผู้เขียนให้สมกับคำว่า “ผู้เขียน” นะครับ

เอกสารที่เกี่ยวข้อง

Rating

Average: 5 (1 vote)