ข้าวซาโฮร

        ในทุกๆ ปี ศาสนิกชนมุสลิมจะปฏิบัติภารกิจการถือศีลอดในเดือนรอมฎอน เป็นการทดสอบความศรัทธาอันแรงกล้าต่อองค์พระผู้เป็นเจ้าที่ประทานพระบัญญัติแก่มวลมนุษย์ เพื่อฝึกฝนให้มวลมนุษย์รู้จักความอดกลั้น อดทน มีจิตใจที่หนักแน่น และไม่ท้อถอยอย่างง่ายดายต่อความยากลำบาก เมื่อเข้าเดือนรอมฏอนชาวมุสลิมจะเริ่มถือศีลอดตลอดช่วงเดือนนี้เป็นเวลา 29-30 วัน เป็นการปฏิบัติตนตามบทบัญญัติข้อที่สี่ในหลักปฏิบัติศาสนบัญญัติ 5 ประการ คือ  

       1. การกล่าวปฏิญาณตนว่าไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากอัลเลาะห์ และนบีมูฮำหมัดเป็นศาสนทูตของพระองค์

       2. ดำรงละหมาด

       3. การบริจาคทาน (ซะกาต)

       4. ถือศีลอดในเดือนรอมฎอน

       5. ประกอบพิธีฮัจย์ที่นครมักกะฮ์ (ประเทศซาอุดิอารเบีย)

         โดยจะทำการละศีลอดได้ในเวลาค่ำหลังตะวันตกดิน ซึ่งจะมีตารางกำหนดเวลา บอกเวลาที่จะรับประทานอาหารค่ำ และบอกเวลาหมดเวลารับประทานอาหารตอนหัวรุ่ง ในแต่ละวันแตกต่างกันไปตลอดเดือนรอมฎอน และจะรับประทานอาหารได้ตลอดทั้งคืนไปจนถึงเวลาหัวรุ่ง การรับประทานอาหารตอนหัวรุ่งเพื่อเตรียมตัวถือศึลอดในวันรุ่งขึ้น

เคล็ดลับง่ายๆ กินข้าวซาโฮรยังไงให้อิ่มนาน?

          อาหารซาโฮร ส่วนม๊ากจะรับประทานในช่วงเวลาหัวรุ่งเวลาประมาณ ตี 3 นับว่าเป็นอาหารมื้อสำคัญอีกมื้อหนึ่ง เพื่อเตรียมตัวในการถือศีลอดในวันรุ่งขี้น นับเป็นแหล่งพลังงานที่สําคัญของผู้ถือศีลอด ดังนั้นควรเลือกรับประทานอาหารที่ทําให้รู้สึกอิ่มท้องนาน และดื่มน้ำให้เพียงพอเพื่อลดการขาดน้ำระหว่างวัน โดยมีแนวทางการปฏิบัติง่ายๆ ดังนี้

         1. รับประทานอาหารที่ให้สารอาหารครบทั้ง 5 หมู่ ในสัดส่วนที่พอเหมาะ

         2. ควรรับประทานอาหารหมวดข้าวแป้งที่ไม่ขัดสี เช่น ข้าวกล้อง ข้าวซ้อมมือ ข้าวไรซ์เบอร์รี่ ขนมปังโฮลวีท เนื่องจากมีใยอาหารสูง ซึ่งช่วยชะลอการดูดซึมน้ำตาลเข้าสู่กระแสเลือด ทำให้รู้สึกอิ่มท้องได้นานขึ้นและควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ดีขึ้น

         3. รับประทานอาหารที่เป็นแหล่งของโปรตีนคุณภาพดีเพื่อรักษามวลกล้ามเนื้อ เช่น ไข่ เนื้อสัตว์ไขมันต่ำ (ปลาเนื้อขาว,ปลาทะเล,อกไก่) นมโค นมถั่วเหลือง น้ำเต้าหู้ เป็นต้น

         4. หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีไขมันสูง โดยเฉพาะเนื้อสัตว์ติดหนัง ติดมัน แกงกะทิ หรือ อาหารที่มีเนยหรือมาการีนเป็นส่วนประกอบ รวมถึงอาหารที่ใช้การปรุงประกอบด้วยวิธีการทอด ควรใช้วิธีการปรุงประกอบอื่น ๆ เช่น การต้ม ตุ๋น นึ่ง ย่าง อบ ยำ การผัดด้วยน้ำมันปริมาณน้อย เพื่อช่วยให้ร่างกายนำไขมันที่สะสมอยู่ตามส่วนต่างๆ ออกมาเผาผลาญเป็นพลังงาน 

         5. หลีกเลี่ยงอาหารที่มีรสเค็มจัด หรือ มีเกลือโซเดียมเป็นส่วนประกอบจํานวนมาก เช่น อาหาร-เนื้อสัตว์ที่ผ่านกระบวนการแปรรูป ขนมกรุบกรอบ เนื่องจากจะทําให้กระหายน้ำได้ระหว่างการถือศีลอดในตอนกลางวัน

         6. รับประทานอาหารอย่างช้า ๆ ให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกายของแต่ละบุคคล การรับประทานอาหารที่มากเกินไป อาจทําให้เกิดอาการจุกเสียดและรู้สึกไม่สบายท้อง ทั้งนี้ไม่ควรนอนต่อหลังจากรับประทานอาหารซาโฮรทันทีเพื่อป้องกันการเกิดกรดไหลย้อน

         7. ดื่มน้ำเปล่าให้มากๆ เพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกายในขณะถือศีลอด

         8. ควรหลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เช่น ชา กาแฟ น้ำอัดลม เนื่องจากคาเฟอีนจะมีผลให้เกิดการขับน้ําออกจากร่างกาย ปัสสาวะบ่อย และอาจเกิดการกระหายน้ําระหว่างวันได้

                   ทั้งนี้ ขอให้พี่น้องมุสลิมมีสุขภาพทั้งกายและใจที่แข็งแรง มีความพร้อมที่จะประกอบอิบาดัตในทุกๆ วัน-คืน ในตลอดเดือนถือศีลอดในเดือนรอมฎอนนี้

-------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

ที่มา: http://islamhouse.muslimthaipost.com/article/23550

        ขอขอบคุณภาพจากมุสลิมไทยโพสต์ออนไลน์

        ข้อมูลจากเพจ ฟาฮัดเป็นนักกำหนดอาหาร

        https://www.lib.ru.ac.th/journal2/?p=12010

 

 

       

 

Rating

Average: 5 (1 vote)