กิจกรรม PULINET CSR

          PULINET ย่อมาจากคำว่า Provincial University Library Network หมายถึง ข่ายงานห้องสมุดมหาวิทยาลัยส่วนภูมิภาค

CSR ย่อมาจากคำว่า Corporate Social Responsibility หมายถึง ความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม

กิจกรรม PULINET CSR ในที่นี้หมายถึง การจัดกิจกรรมเพื่อสังคมของคณะทำงานบริการ ข่ายงานห้องสมุดมหาวิทยาลัยส่วนภูมิภาค (PULINET)

การจัดกิจกรรม  PULINET CSR ครั้งที่ 1 เป็นการจัดกิจกรรมส่งเสริมการอ่านและการเรียนรู้ร่วมกับโครงการห้องสมุดสัญจร ของหอสมุดพระราชวังสนามจันทร์ สำนักหอสมุดกลาง มหาวิทยาลัยศิลปากร จัดกิจกรรมเมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2559

การทำงานมี 3 ขั้นตอน คือ ขั้นเตรียมการ ขั้นดำเนินการ และขั้นประเมินผล

1. ขั้นเตรียมการ

          1.1 คณะทำงานบริการประสานกับทีมงานของหอสมุดพระราชวังสนามจันทร์ เพื่อกำหนดโรงเรียน วันเวลา และรูปแบบกิจกรรม

                   1) โรงเรียนวัดม่วงตารส (สำอางค์เจริญผล) ตั้งอยู่ที่  เลขที่  93/1  หมู่ที่  8   ตำบลทัพหลวง  อำเภอเมืองนครปฐม จังหวัดนครปฐม  สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษานครปฐมเขต 1 เป็นโรงเรียนที่ตั้งอยู่นอกเขตเทศบาล  เป็นลักษณะของชุมชนชนบทกึ่งเมือง  พื้นที่โดยรอบบริเวณส่วนใหญ่ล้อมรอบด้วยคลองชลประทาน และวัดม่วงตารศ เปิดสอนตั้งแต่ระดับปฐมวัย  (อนุบาล 1 – 2)  ถึงชั้นประถมศึกษาปีที่  6 มีครูจำนวน 14 คน นักเรียนจำนวน 318 คน (อนุบาล 80 คน และ ป.1-6 จำนวน 238 คน)

               2) วันและเวลาจัดกิจกรรม วันพฤหัสบดีที่ 26 พฤษภาคม 2559 เวลา 09.00-12.00 น.

                   3) รูปแบบกิจกรรม ประกอบด้วย การเล่านิทาน “อิเล้งเค้งโค้ง” การประดิษฐ์กังหันลม กิจกรรมบิงโกนิทาน และ AR Books

1.2 คณะทำงานบริการประสานเรื่องการจัดกิจกรรมผ่านทางอีเมล เฟสบุ๊ค และทางไลน์ ในการเตรียมงานล่วงหน้า และจัดประชุมคณะทำงาน เพื่อเตรียมและซักซ้อมกิจกรรม ในวันที่ 25 พฤษภาคม 2559 ณ หอสมุดพระราชวังสนามจันทร์

1.3 ทีมงานของหอสมุดพระราชวังสนามจันทร์ได้จัดเตรียมอาหารว่างสำหรับทีมงานและนักเรียน ส่วนอาหารกลางวันสำหรับทีมงานนั้นได้จ้างแม่ครัวของโรงเรียนจัดเตรียมให้ นอกจากนี้ยังได้เตรียมสาหร่ายมาชิตะซองเล็ก ๆ สำหรับนักเรียนที่ชนะการเล่นเกมและแจกนักเรียนทุกคน จัดทำกังหันลมให้น้อง ๆ อนุบาล คนละ 1 อัน และเตรียมอุปกรณ์สำหรับการทำกังหันลมของพี่ ๆ ป.1-6 เพื่อให้นักเรียนทุกคนได้รับของกลับบ้านคือกังหันลมคนละ 1 อัน แนวคิดของหอสมุดพระราชวังสนามจันทร์ในการทำกิจกรรมกับโรงเรียนคือ “เราไม่ใช่สังคมสงเคราะห์จึงไม่มีการแจกของเยอะแยะมากมาย”

2. ขั้นดำเนินการ

ผู้รับผิดชอบกิจกรรมมีจำนวน 30 คน ประกอบด้วยบุคลากรหอสมุดพระราชวังสนามจันทร์ 10 คน คณะทำงานงานบริการ PULINET 15 คน และนักศึกษาช่วยงาน 5 คน ร่วมกันจัดกิจกรรมต่าง ๆ ณ โรงอาหารของโรงเรียน ตามเวลาดังนี้

เวลา

กิจกรรม

ผู้รับผิดชอบ

หมายเหตุ

08.00-08.30 น.

ออกเดินทางจากหอสมุดพระราชวังสนามจันทร์

หอสมุดฯ ขอรถบัสมหาวิทยาลัย

 

08.30-09.00 น.

เตรียมกิจกรรม จัดฉากเล่านิทาน เตรียมอุปกรณ์

บุคลากรหอสมุดพระราชวังสนามจันทร์/คณะทำงานบริการ/นักศึกษาช่วยงาน

 

09.00-09.30 น.

กิจกรรมกลุ่มสัมพันธ์

ทีมงานหอสมุดฯ

นักเรียนทั้งหมด

09.30-10.00 น.

การเล่านิทาน “อิเล้งเค้งโค้ง”

คุณสมปอง มิสสิตะ และทีมงานหอสมุดฯ

นักเรียนทั้งหมด

10.00-12.00 น.

กิจกรรม 3 ฐาน ๆ ละ 30-40 นาที

 

เฉพาะนักเรียน ป.1-6 แบ่งเป็น 3 กลุ่ม

กลุ่ม 1 – ป. 1-2

กลุ่ม 2 – ป. 3-4

กลุ่ม 3 – ป. 5-6

 

ฐานที่ 1 ประดิษฐ์กังหันลม

บุคลากรหอสมุดพระราชวังสนามจันทร์/นักศึกษาช่วยงาน

 

ฐานที่ 2 กิจกรรมบิงโกนิทาน

คณะทำงานบริการ PULINET/นักศึกษาช่วยงาน

 

ฐานที่ 3 กิจกรรม AR Books

คณะทำงานบริการ PULINET/นักศึกษาช่วยงาน

กิจกรรมการเล่านิทาน “อิเล้งเค้งโค้ง”

          เป็นการเล่านิทานให้กับนักเรียนกลุ่มใหญ่ทั้งโรงเรียน เล่า 3- 4 เรื่อง เรื่องสุดท้ายคือเรื่อง อิเล้งเค้งโค้ง มีฉากและอุปกรณ์ประกอบการเล่า นอกจากนี้ยังให้นักเรียนเป็นคนเล่าและเป็นคนเชิดหุ่นประกอบอีกด้วย ทำให้นักเรียนสนุกและสนใจมาก

          ข้อสังเกตของกิจกรรมการเล่านิทานคือ

  1. นักเรียนจำนวน 300 กว่าคน เป็นกลุ่มใหญ่มากเกินไป ทำให้นักเรียนเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่ได้แสดงบทบาทร่วม และนักเรียนที่นั่งด้านหลังจะมองหนังสือนิทานไม่เห็น
  2. นิทานบางเรื่องเหมาะสำหรับนักเรียนชั้น ป.1-4 ทำให้นักเรียนชั้น ป.5-6 เบื่อไม่สนใจฟังนิทาน
  3. เสียงก้องฟังไม่ชัดเจน

 

ภาพประกอบที่ 1 การเล่านิทานเรื่อง “อิเล้งเค้งโค้ง”

 

ภาพประกอบที่ 2 การเล่านิทานเรื่อง “อิเล้งเค้งโค้ง”

 

กิจกรรมประดิษฐ์กังหันลม

          ทีมงานหอสมุดพระราชวังสนามจันทร์ได้เตรียมอุปกรณ์สำหรับการทำกังหันลมไว้ให้เพียงพอสำหรับนักเรียนทุกคน สำหรับนักเรียนอนุบาลได้จัดทำสำเร็จให้นักเรียนคนละ 1 อัน หลังจากฟังนิทานจบก่อนแยกย้ายเข้าห้องเรียน

          แบ่งนักเรียนเป็น 5 กลุ่มย่อย มีพี่เลี้ยงประจำกลุ่มที่ได้รับการฝึกประดิษฐ์กังหันลมมาแล้วเป็นอย่างดี ทำให้นักเรียนสามารถประดิษฐ์ได้ในเวลาค่อนข้างจำกัด ยกเว้นน้อง ๆ ป.1-2 ที่ต้องให้พี่ ๆ ป.5-6 มาเป็นพี่เลี้ยงประกบแบบคนต่อคน

          นักเรียนภูมิใจมากที่สามารถทำกังหันลมได้ด้วยตนเอง บางคนถึงกับนำไปทดสอบกับพัดลมว่าคงทนแข็งแรงหรือไม่

          ข้อสังเกตของกิจกรรมประดิษฐ์กังหันลมคือ

  1. นักเรียน ป.1-2 ยังไม่มีทักษะในการประดิษฐ์ ต้องจัดพี่เลี้ยงเพิ่มเติม
  2. ควรทำของเล่นสำเร็จไว้ให้สำหรับนักเรียนกลุ่มพิเศษที่ไม่สามารถประดิษฐ์ได้ด้วยตนเอง เพื่อไม่ให้กิจกรรมเลยเวลา ซึ่งมีผลกระทบเรื่องเวลาต่อฐานอื่น ๆ

 

ภาพประกอบที่ 3 กิจกรรมประดิษฐ์กังหันลม

ภาพประกอบที่ 4 กิจกรรมประดิษฐ์กังหันลม

 

กิจกรรมบิงโกนิทาน

          คุณวงเดือน เจริญ คณะทำงานจากสำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยบูรพา ได้นำบิงโกนิทานมาจัดกิจกรรมในครั้งนี้

          แผ่นบิงโกเป็นรูปปกหนังสือนิทานหลาย ๆ เล่ม เมื่อผู้นำเกมหยิบแผ่นใบ้เป็นนิทานเล่มใด นักเรียนจะต้องวางแผ่นฟิวเจอบอร์ดสี่เหลี่ยมเล็ก ๆ บนนิทานเล่มนั้น

          แบ่งนักเรียนเป็น 8-10 กลุ่มย่อยและมีพี่เลี้ยงประจำกลุ่มอย่างน้อยกลุ่มละ 1 คน นักเรียนได้ฝึกอ่านและทำความคุ้นเคยกับนิทานเล่มต่าง ๆ ซึ่งสามารถช่วยส่งเสริมการอ่านของนักเรียนได้เป็นอย่างดี มีการแจกของรางวัลสำหรับนักเรียนในกลุ่มที่บิงโกทุกคน

          ข้อสังเกตของกิจกรรมบิงโกนิทานคือ

  1. นักเรียน ป.1-2 ยังอ่านหนังสือไม่ค่อยคล่อง ต้องอาศัยการดูรูป เพราะฉะนั้นแผ่นสำหรับใบ้จะต้องทำให้ใหญ่เพื่อให้เห็นภาพชัดเจน หรืออาจจะนำหนังสือนิทานเรื่องนั้น ๆ มาให้นักเรียนดู
  2. หากมีเวลาพอผู้นำกิจกรรมสามารถเล่านิทานเรื่องที่หยิบจากแผ่นใบ้อย่างสั้น ๆ หรือบอกตัวละครในนิทานแล้วให้นักเรียนทายว่าเรื่องอะไร เพื่อเพิ่มความสนุกสนาน พร้อมทั้งเชิญขวนให้นักเรียนไปติดตามอ่านนิทานเรื่องนั้น ๆ ได้ในห้องสมุด
  3. ในขณะเล่นกิจกรรมพี่เลี้ยงประจำกลุ่มต้องอธิบายให้นักเรียนเข้าใจวิธีการเล่น รวมทั้งการแบ่งปัน การเสียสละ และอื่น ๆ เพื่อฝึกนักเรียนไปด้วย

 

ภาพประกอบที่ 5 กิจกรรมบิงโกนิทาน

 

กิจกรรม AR Books

          คุณวงเดือน เจริญ คณะทำงานจากสำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยบูรพา ได้นำ AR Books มาจัดกิจกรรมในครั้งนี้

          AR Books ย่อมาจาก Augmented Reality Books ซึ่งหมายถึงหนังสือในลักษณะ 3D เมื่อนำอุปกรณ์แทปเล็ตหรือสมาร์ทโฟนมาส่องจะมองเห็นเป็นภาพเคลื่อนไหว หนังสือบางเล่มมีเสียงประกอบและเล่าเรื่องในหนังสือให้ฟังด้วย

          แบ่งนักเรียนเป็น 7 กลุ่ม ตามจำนวนอุปกรณ์ที่มี พี่เลี้ยงประจำกลุ่มเป็นคณะทำงานบริการรุ่นใหม่ที่คุ้นเคยกับ AR Books หรือไอทีสมัยใหม่ และพี่เลี้ยงทุกคนได้ฝึกซ้อมกันก่อนวันจัดกิจกรรม

          กิจกรรมนี้เป็นสิ่งใหม่สำหรับนักเรียนและคุณครู จึงเป็นที่สนใจมากโดยเฉพาะนักเรียน ป.3-ป.6 และนักเรียนกลุ่มนี้ได้รับอนุญาตให้ฝึกใช้อุปกรณ์ด้วย

          ข้อสังเกตของกิจกรรม AR Books คือ

  1. จำนวนอุปกรณ์น้อยทำให้นักเรียนที่มีจำนวนมากมองเห็นไม่ชัดเจน และไม่ได้ฝึกใช้กันอย่างทั่วถึง
  2. ห้องสมุดแต่ละแห่งควรจัดหา AR Books มาให้บริการเพื่อให้ผู้ใช้บริการได้เห็นความทันสมัยของวงการหนังสือ และสามารถนำมาใช้ประกอบการจัดกิจกรรม PULINET CSR ได้อีกด้วย

 

ภาพประกอบที่ 6 กิจกรรม AR Books

 

 

 

 

 

ภาพประกอบที่ 7 กิจกรรม AR Books

 

  1. ขั้นประเมินผล

ประเมินความคิดเห็นของนักเรียนที่มีต่อการจัดกิจกรรม ในช่วงท้ายของการจัดกิจกรรม แจกแบบประเมินผลสั้น ๆ ให้กับนักเรียนชั้น ป.3-6 ทั้งนี้ต้องเตรียมปากกาไว้ให้เหมาะกับจำนวนนักเรียนด้วย

ประเมินความคิดเห็นของคณะทำงานบริการ มีการจัด AAR (After Action Review) เป็นวาระหนึ่งของการประชุมคณะทำงานบริการในวันที่ 27 พฤษภาคม 2559

ข้อสังเกตในภาพรวมของโครงการ PULINET CSR ครั้งที่ 1

  1. หอสมุดพระราชวังสนามจันทร์ ได้ให้ความช่วยเหลือและอำนวยความสะดวกในการจัดกิจกรรมเป็นอย่างดียิ่ง รวมทั้งการทำโครงการของบประมาณสนับสนุนจากสำนักหอสมุดกลาง มหาวิทยาลัยศิลปากร
  2. คณะทำงานบริการควรเข้าร่วมประชุมและร่วมกันจัดโครงการโดยพร้อมเพรียง เพื่อให้มีบุคลากรเพียงพอในการจัดโครงการ
  3. ในการจัดกิจกรรมผู้นำกิจกรรมและพี่เลี้ยงควรให้ข้อมูลและสอนนักเรียนอยู่เรื่อย ๆ ในบริบทที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้นักเรียนได้เรียนรู้และได้ฝึกในเรื่องต่าง ๆ ไม่ใช่มุ่งที่ผลผลิตสุดท้ายอย่างเดียว เช่น กิจกรรมบิงโกนิทานนักเรียนไม่เพียงแต่ได้ชนะบิงโกเท่านั้น หรือกิจกรรมกังหันลมนักเรียนก็ไม่เพียงแต่ได้กังหันลมกลับบ้านเท่านั้น
  4. หากสามารถแยกพื้นที่ในการจัดแต่ละกิจกรรมได้ก็จะเป็นการดี เพื่อป้องกันไม่ให้มีปัญหาเรื่องเสียงตีกัน
  5. ควรจัดพี่เลี่ยงกลุ่มให้เหมาะสมกับจำนวนนักเรียน
  6. ไม่ควรชื่นชมนักเรียนคนที่เก่ง ๆ มากเกินไป ต้องให้กำลังใจนักเรียนกลุ่มไม่เก่งและนักเรียนพิเศษด้วย
  7. ไม่ควรให้ของนักเรียนมากเกินไป ควรฝึกให้นักเรียนได้รับของที่ประดิษฐ์ด้วยตนเอง ซึ่งจะช่วยสร้างพลังและความภาคภูมิใจแก่นักเรียนได้

 

ภาพประกอบที่ 8 ปิดกิจกรรม PULINET CSR ครั้งที่ 1

 

ภาพประกอบที่ 9 ปิดกิจกรรม PULINET CSR ครั้งที่ 1

 

 

 

 

โดย รวีวรรณ ขำพล

บรรณารักษ์ชำนาญการพิเศษ

หอสมุดจอห์น เอฟ เคนเนดี้

มิถุนายน 2559

 

 

***************************************

 

 

 

 

 

 

Rating

No votes yet