มโนราห์ควนบ้านฉัน: วัฒนธรรมสีจาง

 

         มโนราห์ควน หรือ มโนราห์แขก แห่งบ้านเชิงเขา ตำบลปะลุกาสาเมาะ อำเภอบาเจาะ จังหวัดนราธิวาส มโนราห์ควนเป็นศิลปะการแสดงพื้นบ้านที่รวมนักแสดงทั้งชาวไทยพุทธและมุสลิม มีการขับและการพูดแสดงทั้งภาษาไทยและอิสลาม จึงเรียกว่า มโนราห์แขก การแสดงมโนราห์ในหมู่บ้านของฉันมีมาช้านาน เท่าที่จำความได้ เคยเห็นปู่แสดงเป็นนายพราน ส่วนพ่อนั้นแสดงเป็นทั้งมโนราห์ใหญ่และนายพราน แม่ก็เป็นนางมโนราห์แต่ฉันยังไม่เคยเห็นแม่แสดง เพียงแต่ได้ฟังจากคำบอกเล่าของแม่

          นักแสดงของมโนราห์ควน มีมโนราห์ชาย 1 คน เรียกว่ามโนราห์ใหญ่ แต่งชุดเหมือนมโนราห์ทั่วไป และมีนางมโนราห์อีก 3-5 คน แต่งกายด้วยชุดผ้าไทยหรือชุดบานงหลากสีสวยงาม

          เหตุผลที่ฉันใช้คำว่า “วัฒนธรรมสีจาง” ก็เพราะว่าการแสดงมโนราห์ควนนี้ใกล้จะจางหายไปทุกที มีแต่ผู้สูงวัยทั้งที่เป็นนักแสดงและนักดนตรี ยังไม่มีคนรุ่นใหม่มารับช่วงต่อ มโนราห์จ้วน จันทร์คง วัย 90 กว่าปี เจ้าของคณะ รำไม่ไหวได้แต่นั่งมองและให้กำลังใจ ส่วนมโนราห์ดม และมโนราห์อิ่ม วัย 70-80 ปี สลับกันแสดงเป็นมโนราห์ใหญ่ (การแสดง 1 คืน มีมโนราห์ใหญ่เพียง 1 คน) ยังแสดงกันไหว แต่แสดงมากไม่ได้เพราะเหนื่อยง่าย ฉันเคยไปนั่งรับบทในโรงมโนราห์เวลามโนราห์ใหญ่ขับกลอน ยังเคยถามป้าในโรงว่าทำไมฉันฟังไม่ค่อยออกว่ามโนราห์ขับอะไร จึงรับไม่ค่อยถูก ป้าว่าจะฟังออกได้อย่างไร เวลาขับคนหนึ่งเสนียดยาเส้นไว้ในปาก อีกคนหนึ่งก็ไม่ค่อยกล้าเปิดปากกลัวฟันปลอมจะหลุด ตอนนั้นฉันขำหัวเราะจนท้องแข็ง แต่ตอนนี้คิดว่าจะทำอย่างไรให้มีคนรับช่วงต่อ

          นักดนตรีส่วนใหญ่เป็นมุสลิมมีชายหนุ่มอยู่คนสองคน ส่วนผู้สูงวัยนั้นบางคนก็สุขภาพไม่ดี ถึงขั้นต้องไปนอนให้น้ำเกลือที่โรงพยาบาลพอกลางคืนกลับมาแสดงกันต่อ

          นางมโนราห์มีทั้งผู้สูงวัยและน้องที่ได้รับช่วงต่อไว้แล้ว แต่ในการแสดงแต่ละคืนนั้นจะต้องมีนางมโนราห์แสดง 3-5 คน จึงทำให้ยังไม่เพียงพอ เพราะนางมโนราห์ที่อายุมากแล้วจะแสดงทุกคืนก็ไม่ไหว ฉันในฐานะทายาทมโนราห์จึงได้ไปช่วยแสดงทั้ง ๆ ที่ไม่เคยได้รับการฝึกสอนมาก่อน อาศัยสายเลือดและการที่ได้คลุกคลีอยู่ในโรงมโนราห์สมัยเด็ก ๆ รวมทั้งแอบมองนักแสดงคนอื่น ๆ ว่าช่วงใดต้องรำอย่างไร ช่วงใดมีการหยอกล้อกับมโนราห์ใหญ่ ช่วงใดที่มโนราห์ใหญ่พูดอิสลาม ฉันตอบได้อยู่คำเดียว คือ “ยอออ..ละอาแบ” เพราะไม่ทราบความหมายว่าคืออะไรแต่ก็ตอบรับไปก่อน เมื่อถึงเวลาที่นางมโนราห์ขับต้องอาศัยแม่ของฉันซึ่งรำไม่ไหวแล้วเพราะอายุมากและสุขภาพไม่อำนวย นั่งขับให้อยู่ในโรง บทที่ขับเป็นภาษาอิสลาม ฉันยังไม่ค่อยเข้าใจความหมาย แต่ก็บอกแม่แล้วว่าต่อไปฉันจะฝึกและลองหัดขับเองดูบ้าง

          ฉันได้พยายามคุยกับน้อง ๆ เด็ก ๆ ในหมู่บ้านหลายคน ให้หันมาช่วยอนุรักษ์มโนราห์ของบ้านเราไว้ แต่ยังไม่มีใครสนใจ ฉันก็จะพยายามต่อไป ทั้งชักชวน เชิญชวน และทำให้ดูเป็นตัวอย่าง ถึงแม้ว่าฉันแทบจะไม่ค่อยมีเวลาก็ตาม

 

ตัวอย่างเพลง “อะเนาะดิดี” ที่แม่ฉันร้องให้ฟัง

                    มานอละยอดีหยอ         ดีดิละกูตาดี (ซ้ำ)

          ปาดีละโด๊ะตูเปาะละแบเหว       ดิเบาะวอตางอ (ซ้ำ)

                   มานอละยอดีหยอ          อาแบอามอตาดี (ซ้ำ)

          ฮาตีละโด๊ะซูเสาะละแบเหว        กอระนอดียอ (ซ้ำ)

                       ภาพประกอบที่ 1 ฉันร่วมแสดงมโนราห์ควน

               ภาพประกอบที่ 2 โรงมโนราห์ควนมีพาไลสำหรับตั้งของไหว้ตายาย

                            ภาพประกอบที่ 3 มโนราห์ใหญ่และนางมโนราห์

ภาพประกอบที่ 4 แม่ฉันเป็นผู้รับบทมโนราห์

ภาพประกอบที่ 5 บรรยากาศในโรงมโนราห์ควน

ภาพประกอบที่ 6 ฉันร่วมแสดงฉากมโนราห์ใหญ่รำเกี้ยวนางมโนราห์

 

                                                                                                         รวีวรรณ ขำพล

                                                                                                         มิถุนายน 2560

 

Rating

No votes yet