การศึกษาปัจจัยที่มีผลต่อความพึงพอใจ ระดับความพึงพอใจ และความผูกพันของบุคลากร สำนักวิทยบริการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี

การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาปัจจัยที่มีผลต่อความพึงพอใจของบุคลากร และระดับความพึงพอใจและความผูกพันของบุคลากร โดยใช้แนวคิดทฤษฎีจูงใจ 2 ปัจจัย (Herzberg’s two-factor theory) ซึ่งประกอบด้วย ปัจจัยบำรุงรักษา (ปัจจัยสร้างบรรยากาศในการทำงาน) และปัจจัยจูงใจ ประชากรในการศึกษาเป็นบุคลากรที่ปฏิบัติงานในสำนักวิทยบริการ จำนวน 71 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้เป็นแบบสอบถาม สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน

ผลการศึกษาพบว่า ในภาพรวมมีปัจจัยที่มีผลต่อความพึงพอใจระดับเกรด A 7 ปัจจัย จัดในกลุ่มปัจจัยบำรุงรักษาหรือปัจจัยสร้างบรรยากาศในการทำงาน 6 ปัจจัย และอยู่ในกลุ่มปัจจัยจูงใจ 1 ปัจจัย สำหรับผลการศึกษาปัจจัยที่มีผลต่อความพึงพอใจจำแนกกลุ่มบุคลากรตามระดับตำแหน่งงาน พบว่า บุคลากรแต่ละกลุ่มมีความคิดเห็นโดยเฉพาะปัจจัยที่อยู่ในระดับเกรด A แตกต่างกัน กล่าวคือ กลุ่มตำแหน่งตํ่ากว่าปฏิบัติงานเห็นว่า มีเพียง 2 ปัจจัย ส่วนกลุ่มตำแหน่งปฏิบัติงาน-ปฏิบัติการเห็นว่า มี 11 ปัจจัย กลุ่มตำแหน่งระดับชำนาญงาน–ชำนาญการเห็นว่ามี 14 ปัจจัย และกลุ่มตำแหน่งระดับชำนาญงานพิเศษ–ชำนาญการพิเศษ เห็นว่ามี 4 ปัจจัย ทั้งนี้ ทุกกลุ่มเห็นร่วมกันว่า ปัจจัยเรื่องนโยบายและแนวทางในการบริหารงานของผู้บริหาร เป็นปัจจัยระดับเกรด A ที่มีผลต่อความพึงพอใจของบุคลากร

ส่วนผลการศึกษาระดับความพึงพอใจ พบว่า บุคลากรมีความพึงพอใจต่อนโยบายและแนวทางในการบริหารงานของผู้บริหารสูงสุดที่ระดับ 4.31 และเมื่อนำผลการสำรวจระดับความพึงพอใจของบุคลากรต่อองค์กรในช่วงเวลาเดียวกันมาทำการเปรียบเทียบกับระดับความคาดหวังของแต่ละปัจจัย พบว่า ระดับความพึงพอใจของบุคลากรต่อปัจจัยที่สำคัญ 7 ลำดับแรก มีระดับความพึงพอใจสูงกว่า 4.00 โดยมี 3 ปัจจัยที่ระดับความพึงพอใจสูงกว่าความคาดหวังของบุคลากร มี 4 ปัจจัย ที่มีระดับคะแนนความพึงพอใจตํ่ากว่าความคาดหวัง สำหรับผลการศึกษาความผูกพันของบุคลากรต่อสำนักวิทยบริการ 5 ด้าน พบว่า ระดับความผูกพันของบุคลากรในภาพรวมอยู่ที่ 4.05

คำสำคัญ: ปัจจัยสร้างบรรยากาศในการทำงาน ปัจจัยจูงใจ, ความพึงพอใจ, ความผูกพัน

เอกสารที่เกี่ยวข้อง

Rating

Average: 3 (2 votes)