สรุปการประชุมวิชาการเครือข่ายการพัฒนาคุณภาพวารสารวิชาการไทย ครั้งที่ 15

เมื่อวันอังคารที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2568 อิมแพ็คเมืองทองธานี ในนามกองบรรณาธิการวารสาร Journal of Information and Learning ผมได้มีโอกาสเข้าร่วมการประชุมวิชาการเครือข่ายการพัฒนาคุณภาพวารสารวิชาการไทย ครั้งที่ 15 ซึ่งจัดโดยศูนย์ดัชนีการอ้างอิงวารสารไทย (Thai-Journal Citation Index Centre: TCI) เมื่อวันอังคารที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2568 ณ ห้องรอยัลจูบิลี่บอลรูม อาคารชาเลนเจอร์ อิมแพ็คเมืองทองธานี จังหวัดนนทบุรี ในการประชุมครั้งนี้ประเด็นสำคัญหลัก ๆ คือ การประกาศผลการประเมินคุณภาพวารสารในฐานข้อมูล TCI รอบที่ 5 (รับรองผล พ.ศ. 2568-2572) ซึ่งเป็นเรื่องที่วารสารวิชาการของประเทศไทยกว่า 1,000 ฉบับ รอคอยอย่างใจจดใจจ่อมากว่า 6 เดือน อย่างไรก็ตาม ในการประชุมก็มีหลายประเด็นที่มีการนำเสนอ ซึ่งทำให้ผู้เข้าร่วมมองเห็นแนวทางการดำเนินงานวิชาการของประเทศ ผู้อ่านสามารถศึกษาเนื้อหาได้จากเอกสารแนบด้านล่างสุด

  • นโยบายการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศในทศวรรษหน้า  โดย ศ.เกียรติคุณ ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ประธานกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
  • การใช้เทคโนโลยีในการพัฒนาและยกระดับคุณภาพผลงานทางวิชาการของไทย  โดย ศ.ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)
  • กระบวนการ ผลลัพธ์ และบทเรียนจากโครงการพัฒนาคุณภาพวารสารไทยสู่ฐานข้อมูล Scopus (พ.ศ. 2560-2567)  โดย ศ.ดร.ณรงค์ฤทธิ์ สมบัติสมภพ หัวหน้าศูนย์ดัชนีการอ้างอิงวารสารไทย (TCI)
  • บทบาทของ สกสว. ในการสนับสนุนศูนย์ TCI และการยกระดับคุณภาพวารสารไทย  โดย ศ.ดร.สมปอง คล้ายหนองสรวง ผู้อำนวยการ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.)
  • Internationalizing Local Contents of Thai Journals by Prof. Richard Whatmore, University of St Andrews, United Kingdom; Scopus CSAB Subject Chair
  • ผลลัพธ์และผลกระทบในการดำเนินงานด้านจริยธรรมและจรรยาบรรณของวารสารไทยระหว่างปี พ.ศ. 2562-2567  โดย ศ.ดร.ณรงค์ฤทธิ์ สมบัติสมภพ หัวหน้าศูนย์ดัชนีการอ้างอิงวารสารไทย (TCI) (เอกสารนำเสนอไม่เผยแพร่)
  • ภาพรวมการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเพื่อยกระดับคุณภาพวารสารไทย  โดย ดร.กริช นาสิงห์ขันธุ์ หัวหน้างานยกระดับความพร้อมทางเทคโนโลยี ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC)
  • การยกระดับความสามารถของระบบ ThaiJO ด้วยเทคโนโลยี AI  โดย ดร.ศวิต กาสุริยะ รองผู้อำนวยการ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC)
  • การเปิดตัวระบบวิเคราะห์สมรรถนะการวิจัยของประเทศไทย (ThaiRAP)  โดย ดร.กริช นาสิงห์ขันธุ์ หัวหน้างานยกระดับความพร้อมทางเทคโนโลยี ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC)
  • แนวทางการประเมินผลกระทบด้านจริยธรรมและจรรยาบรรณของวารสาร  โดย ดร.ศวิต กาสุริยะ รองผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC)
  • แนวปฏิบัติในการเชิดชูเกียรติผู้ทรงคุณวุฒิประเมินผลงานวิชาการในวารสาร (Reviewer Recognition and Certificates)  โดย ดร.สภา จรรยาชัชวาล  นักวิจัย ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC)
  • การประกาศผลการประเมินคุณภาพวารสารในฐานข้อมูล TCI รอบที่ 5 (รับรองผล พ.ศ. 2568-2572)  โดย รศ.ธีระศักดิ์ หมากผิน นักวิจัย ศูนย์ดัชนีการอ้างอิงวารสารไทย (TCI)

ผมขออธิบายรายละเอียดเนื้อหาในประเด็น "ผลลัพธ์และผลกระทบในการดำเนินงานด้านจริยธรรมและจรรยาบรรณของวารสารไทยระหว่างปี พ.ศ. 2562-2567" เนื่องจากไม่มีเอกสารนำเสนอเผยแพร่ แต่อนุญาตให้ถ่ายภาพเก็บไว้ได้ ซึ่งจริยธรรมและจรรยาบรรณเป็นประเด็นที่ TCI ให้สำคัญเป็นอย่างมากในการดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง เห็นได้จากการประกาศ เรื่อง การประเมินด้านจริยธรรมและจรรยาบรรณวารสารวิชาการไทยในฐานข้อมูล TCI พ.ศ. 2566 ซึ่งเป็นการพัฒนาต่อยอดมาจากประกาศในปี พ.ศ. 2562 นอกจากนี้ ศ.ดร.ณรงค์ฤทธิ์ สมบัติสมภพ ยังให้ข้อมูลในที่ประชุมว่า Scopus ก็ให้ความสำคัญเรื่องจริยธรรมและจรรยาบรรณมาเป็นลำดับต้น ๆ สำหรับวารสารในฐานข้อมูล Scopus และในการประชุมครั้งนี้ TCI ให้ความสำคัญกับเรื่องจริยธรรมและจรรยาบรรณของวารสารถึงขนาดแสดงข้อความซึ่งเป็นข้อควรระวัง/ข้อเสนอแนะสำหรับการบริหารจัดการวารสารที่ดีและโปร่งใส่ ในจอ LED ขนาดใหญ่ของเวทีหลักและทุก ๆ หน้าจอที่แสดงทั่วทั้งห้องประชุม และเนื่องจากข้อความเหล่านี้และสไลด์นำเสนอกรณีตัวอย่างที่เกิดขึ้นจริงจากการร้องเรียนและการตรวจสอบจาก TCI ของ ศ.ดร.ณรงค์ฤทธิ์ สมบัติสมภพ เป็นข้อมูลในประเด็นเดียวกันจึงขอรวบรวมเนื้อหาส่วนนี้ในรูปแบบย่อหน้า ซึ่งหมายถึง หนึ่งสไลด์ ใช้เวลาอ่านเล็กน้อย แต่รับรองว่ามีประโยชน์มากสำหรับการบริหารจัดการวารสารที่ดีและโปร่งใสตามหลักจริยธรรมและจรรยาบรรณของการจัดทำวารสารและบรรณาธิการ ซึ่งหากทำได้ตามนี้ก็มีโอกาสที่ได้รับการรับรองคุณภาพและไม่ถูกคัดชื่อออกจากฐานข้อมูล TCI ในอนาคต 

\

ข้อควรระวังและข้อเสนอแนะสำหรับการบริหารจัดการวารสารที่ดีและโปร่งใส

สิ่งสําคัญ TOP 3 สำหรับการจัดทํา “วารสารวิชาการ” ที่มี "มาตรฐาน" 
1. วารสารต้องเผยแพร่บทความ (ที่ผ่านการพิจารณาโดยผู้ทรงคุณวุฒิ) อย่างสม่ำเสมอ (Regularity) ตรงตามกำหนดที่ระบุไว้ในนโยบายของวารสาร
2. วารสารต้องมีกระบวนการตรวจสอบและพิจารณาคุณภาพของบทความโดยผู้ทรงคุณวุฒิ (Peer review process) ในสาขาวิชาที่สอดคล้องกับสาขาของบทความ 
3. วารสารต้องจัดให้มีกองบรรณาธิการที่เป็นผู้ทรงคุณวุฒิในสาขาที่เกี่ยวข้องกับ Aims & Scope ของวารสาร และกำกับให้วารสารดำเนินการอย่างถูกต้องตามหลักจริยธรรมและจรรยาบรรณทางวิชาการ และควรเป็นผู้ทรงคุณวุฒิที่มาจากหลากหลายหน่วยงาน

หัวหน้ากองบรรณาธิการวารสาร ต้องปฏิบัติตามนโยบายทางจริยธรรมและจรรยาบรรณของวารสารที่ประกาศในเว็บไซต์วารสารอย่างเคร่งครัด

หัวหน้ากองบรรณาธิการวารสาร ต้องกำกับให้การดำเนินงานและการบริหารจัดการของวารสารเป็นไปตามนโยบาย (Policy) วัตถุประสงค์และขอบเขต (Aims & Scope) ของวารสารอย่างเคร่งครัด

หัวหน้ากองบรรณาธิการวารสาร ต้องกำกับให้วารสารดำเนินขั้นตอนการพิจารณาคุณภาพบทความโดยผู้ทรงคุณวุฒิในสาขาวิชาที่มีความเชี่ยวชาญที่สอดคล้องกับสาขาวิชาของบทความ

หัวหน้ากองบรรณาธิการวารสาร ต้องกำกับให้มีการแจ้งสถานะของบทความให้ผู้นิพนธ์ทราบผ่านระบบ Online submission ทุกขั้นตอน โดยเฉพาะการตรวจสอบ (Review & Revision) การตอบรับ (Acceptance และออกหนังสือตอบรับตีพิมพ์บทความ (Acceptance letter)

หัวหน้ากองบรรณาธิการวารสาร ต้องกำกับให้มีการระบุค่าธรรมเนียมการตีพิมพ์บทความ (Article Processing Charges, APC) เงื่อนไขการเรียกเก็บ และวิธีการชำระค่าธรรมเนียมการตีพิมพ์ อย่างชัดเจน

หัวหน้ากองบรรณาธิการวารสาร ต้องกำกับให้วารสารเพิ่มความระมัดระวังและคำนึงถึงความถูกต้องในการเผยแพร่ข้อมูลบทความบนเว็บไซต์ (Website) วารสารกับเมทาดาตา (Metadata)

หัวหน้ากองบรรณาธิการวารสาร ต้องกำกับให้มีการกำหนดจำนวนฉบับต่อปี จำนวนบทความต่อฉบับ อย่างเหมาะสมและสม่ำเสมอ โดยไม่ควรน้อยกว่าจำนวนที่ส่งประเมินเข้าสู่ฐานข้อมูล TCI

หัวหน้ากองบรรณาธิการวารสาร ต้องกำกับให้มีการเรียงเลขหน้าของบทความที่ตีพิมพ์เผยแพร่ทุกฉบับ (Issue) ในแต่ละปี (Volume) ต่อเนื่องกัน

หัวหน้ากองบรรณาธิการวารสาร ต้องออกหนังสือตอบรับตีพิมพ์บทความ (Acceptance letter) เมื่อเสร็จสิ้นกระบวนการพิจารณาคุณภาพบทความ (Accepted) แล้ว เท่านั้น

หัวหน้ากองบรรณาธิการวารสาร ต้องไม่ยินยอมให้ผู้นิพนธ์ถอน (Withdraw) บทความออกจากวารสาร ภายหลังบทความถูกตีพิมพ์เผยแพร่เรียบร้อยแล้ว (Published) บนเว็บไซต์วารสาร

หัวหน้ากองบรรณาธิการวารสาร ต้องไม่ยินยอมให้ผู้นิพนธ์/ผู้ร่วมนิพนธ์บทความ แก้ไข/เปลี่ยนแปลง ชื่อเรื่อง และ/หรือ เนื้อหาในบทความที่ตีพิมพ์เผยแพร่แล้วบนเว็บไซต์วารสาร

หัวหน้ากองบรรณาธิการวารสาร ต้องไม่ยินยอมให้ เพิ่ม/ลด รายชื่อผู้นิพนธ์/ผู้ร่วมนิพนธ์บทความ นอกเหนือจากรายชื่อที่ได้ปรากฏในบทความที่ตีพิมพ์เผยแพร่แล้วบนเว็บไซต์วารสาร

หัวหน้ากองบรรณาธิการวารสาร ต้องไม่เพิกเฉยต่อข้อร้องเรียน และ/หรือ ตรวจพบบทความที่อาจเข้าข่ายผิดจริยธรรมและจรรยาบรรณ

หัวหน้ากองบรรณาธิการวารสาร ควรเป็นผู้ติดต่อประสานงานกับศูนย์ TCI ในประเด็นสำคัญ เช่น นโยบาย วัตถุประสงค์และขอบเขต และประเด็นด้านจริยธรรมและจรรยาบรรณของวารสาร

หัวหน้ากองบรรณาธิการวารสาร ควรหมั่นตรวจสอบข้อมูลของวารสารอย่างสม่ำเสมอเพื่อป้องกันมิจฉาชีพนำข้อมูลของวารสารไปใช้โดยมิชอบ ซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายต่อผู้นิพนธ์บทความ เจ้าของวารสาร และวงการวิชาการ

หัวหน้ากองบรรณาธิการวารสาร ควรจัดประชุมกองบรรณาธิการวารสารอย่างสม่ำเสมอเพื่อให้การบริหารจัดการบทความในวารสารมีประสิทธิภาพและโปร่งใส

หัวหน้ากองบรรณาธิการวารสาร ไม่ควรตีพิมพ์เผยแพร่บทความลงในวารสารตนเองเป็นจำนวนมากอย่างมีนัยสำคัญ

บุคคลที่ทำหน้าที่เป็นหัวหน้ากองบรรณาธิการวารสาร ไม่ควรบริหารจัดการวารสารมากกว่า 2 วารสาร

เจ้าของวารสาร (Owner/Publisher) ควรเป็นหน่วยงานของรัฐ และ/หรือ หน่วยงานในกำกับดูแลของรัฐ และ/หรือ องค์กรอื่น ๆ ที่เป็นนิติบุคคล

วารสารต้องไม่ใช้ คำว่า “ตอบรับตีพิมพ์บทความ” ในขั้นตอนการได้รับบทความต้นฉบับ (Acknowledgement of submission)

วารสารต้องไม่นำบทความที่ถูกถอดถอน (Retracted article) ที่ตีพิมพ์เผยแพร่แล้วออกจากเว็บไซต์วารสารเพื่อคงความสมบูรณ์ของเลขหน้าและฉบับ

วารสารควรมีกองบรรณาธิการวารสารที่ประกอบด้วยคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจากหลากหลายหน่วยงานในสาขาวิชาที่มีความเชี่ยวชาญ สอดคล้องกับวัตถุประสงค์และขอบเขตของวารสาร และมีจำนวนที่เหมาะสมเพียงพอต่อการบริหารจัดการบทความ

วารสารควรตรวจสอบข้อมูลงานวิจัยและการตีพิมพ์บทความที่ช้ำซ้อน (Similarities & Duplications) ก่อนเริ่มกระบวนการพิจารณาบทความ เช่น การใช้โปรแกรม CopyCatch Turnitin iThenticate หรือ อักขราวิสุทธิ์

วารสารควรใช้ระบบ Online submission ในการบริหารจัดการบทความของวารสารทุกขั้นตอน และควรหลีกเลี่ยงการบริหารจัดการบทความภายนอกระบบ

วารสารไม่ควรตีพิมพ์เผยแพร่บทความนอกเหนือจากฉบับปกติ (Regular issue) ที่ระบุไว้ในนโยบายของวารสาร

วารสารไม่ควรตีพิมพ์เผยแพร่บทความจากผู้นิพนธ์ และ/หรือ กลุ่มผู้นิพนธ์เดียวกันซ้ำ ๆ ลงในวารสารฉบับ (Issue) เดียวกัน

บทความจากการประชุมวิชาการ (Proceedings) หากถูกคัดเลือกมาตีพิมพ์ลงในวารสารต้องผ่านกระบวนการพิจารณาคุณภาพบทความโดยผู้ทรงคุณวุฒิ (Peer review process) อีกครั้ง ก่อนตีพิมพ์เผยแพร่บทความ

เหตุผล Top 9 ของการคัดชื่อวารสาร (Deselected) ออกจากฐานข้อมูล TCI

1) วารสารตอบรับตีพิมพ์ หรือ ออกหนังสือตอบรับตีพิมพ์บทความได้ผู้นิพนธ์ โดยไม่มีการตรวจสอบคุณภาพ และ/หรือ ไม่มีหลักฐานการพิจารณาคุณภาพบทความโดยผู้ทรงคุณวุฒิ
2) หัวหน้ากองบรรณาธิการวารสารตีพิมพ์เผยเพร่บทความลงในวารสารของตนเองเป็นจํานวนมากอย่างมีนัยสําคัญ
3) วารสารมีกระบวนการพิจารณาคุณภาพบทความที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง 
4) วารสารก็พิมพ์เผยแพร่บทความไม่ครบ ไม่ต่อเนื่อง และ/หรือ มีจํานวนฉบับนอกเหนือจากที่ประกาศไว้ในนโยบายของวารสาร และพิมพ์บทความย้อนหลัง 
5) วารสารตีพิมพ์เผยแพร่บทความที่ไม่สามารถเข้าถึงได้บนเว็บไซต์ของวารสาร และไม่ปรากฏบทความตามที่แสดงในเมทาดาตา 
6) วารสารนำผลงานที่นำเสนอในที่ประชุมวิชาการไปตีพิมพ์เผยแพร่ลงในวารสารของตน โดยที่ผู้นิพนธ์บทความไม่ได้รับทราบและเห็นชอบ
7) วารสารเพิกเฉยต่อการดำเนินการกับบทความที่ตีพิมพ์เผยแพร่ซ้ำซ้อน และ/หรือ มีข้อมูลการวิจัยซ้ำซ้อน 
8) วารสารเรียกเก็บค่าธรรมเนียมการตีพิมพ์บทความที่ไม่มีความเท่าเทียม ไม่เป็นมาตรฐานเดียวกัน และ/หรือ มีกระบวนการพิจารณาบทความแบบเร่งด่วน
9) วารสารร้องขอให้ผู้นิพนธ์อ้างอิงบทความที่ตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารของตน

ผลการประเมินคุณภาพวารสารวิชาการที่อยู่ในฐานข้อมูล TCI รอบที่ 5 (รับรองคุณภาพวารสารเป็นเวลา 5 ปี ระหว่าง พ.ศ. 2568-2572)

TCI จัดกลุ่มคุณภาพวารสารไว้ 3 กลุ่ม เช่นเดียวกับรอบที่ 4 ที่ผ่านมา ดังนี้

กลุ่มที่ 1 (Tier 1) วารสารที่ผ่านการรับรองคุณภาพ และอยู่ในฐานข้อมูล TCI ประกอบด้วย 1) วารสารที่อยู่ในฐานข้อมูล Scopus และ/หรือ Web of Science และ 2) วารสารที่ผ่านเกณฑ์หลักทุกข้อและมีคะแนนในเกณฑ์รองมากกว่า 15 คะแนน

กลุ่มที่ 2 (Tier 2) วารสารที่ผ่านการรับรองคุณภาพ และอยู่ในฐานข้อมูล TCI โดยสามารถยื่นขอปรับกลุ่มคุณภาพได้ ประกอบด้วย 1) วารสารที่ไม่ผ่านเกณฑ์หลักบางข้อแต่มีคะแนนในเกณฑ์รองมากกว่า 15 คะแนน และ 2) วารสารที่มีคะแนนในเกณฑ์รอง 10-15 คะแนน

กลุ่มที่ 3 (Tier 3) วารสารที่ไม่ผ่านการรับรองคุณภาพ และข้อมูลบทความจะไม่ปรากฏในฐานข้อมูล TCI โดยสามารถยื่นขอปรับกลุ่มคุณภาพได้ ประกอบด้วย 1) วารสารที่มีคะแนนในเกณฑ์รองน้อยกว่า 10 คะแนน 2) วารสารที่ออกล่าช้ามากกว่า 1 ฉบับ และ 3) วารสารที่ไม่ได้ส่งข้อมูลเพื่อขอรับการประเมินรอบที่ 5

อย่างไรก็ตาม TCI ประกาศสัญลักษณ์   Under review ให้กับวารสารที่อยู่ระหว่างกระบวนการพิจารณาจริยธรรมและจรรยาบรรณตามประกาศของศูนย์ TCI เพื่อให้ผู้เขียนและต้นสังกัดทราบสถานะของวารสารและป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นตามมา 

หมายเหตุ: คะแนนเต็ม 20 คะแนน

หมายเหตุ: ไม่นับรวมวารสารใหม่ที่ไม่ผ่านการพิจารณาเข้าสู่ฐานข้อมูล TCI จำนวน 25 วารสาร (ร้อยละ 22) ซึ่งจะยังไม่ถูกจัดกลุ่มคุณภาพของ TCI

สำหรับวารสารกลุ่มที่ 1 และกลุ่มที่ 2 สามารถยื่นขอปรับกลุ่มคุณภาพได้ในช่วงต้นปีราวเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ของทุกปี ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่ TCI กำหนดไว้ในหนังสือแจ้งผลการประเมินซึ่งแต่ละวารสารจะมีระยะเวลา 1 ปี หรือ 2 ปี แตกต่างกันออกไป 

เกณฑ์ที่วารสารไม่ผ่านการประเมินมากที่สุด 5 ลำดับแรก

1) ข้อมูลบทความบนเว็บไซต์ไม่ตรงกับข้อมูลในไฟล์ PDF ของบทความ (614 วารสาร) หมายถึง ข้อมูลเมทาดาตาของบทความในเว็บไซต์กับข้อมูลบทความที่เผยแพร่ในไฟล์ PDF ไม่ตรงกัน เนื่องจากข้อมูลเมทาดาตาในเว็บไซต์เกิดขึ้นจากการที่ผู้เขียนระบุข้อมูลบทความในขั้นตอนการส่งบทความเพื่อพิจารณาตีพิมพ์ แต่เมื่อบทความผ่านกระบวนการประเมินคุณภาพบทความและมีการแก้ไขจนสามารถตีพิมพ์เผยแพร่ได้ ทำให้บทความทั้งสองส่วนไม่ตรงกัน ก่อนเผยแพร่บทความทุกครั้งกองบรรณาธิการจึงต้องทำการปรับปรุงข้อมูลเมทาดาตาของบทความใหม่ทุกครั้ง 
2) การอ้างอิงไม่ตรงตามรูปแบบที่วารสารกำหนด (453 วารสาร) หมายถึง กองบรรณาธิการต้องตรวจสอบให้รูปแบบการอ้างอิงเป็นไปตามที่วารสารกำหนดและเป็นมาตรฐานเดียวกันทุกบทความ
3) ข้อมูลบทความในฉบับ ซึ่งประกอบด้วย ชื่อบทความ, ชื่อผู้นิพนธ์, สังกัดผู้นิพนธ์, บทคัดย่อ, คำสำคัญ และรายการอ้างอิง ไม่ครบถ้วนบนเว็บไซต์ของวารสาร (222 วารสาร) หมายถึง ข้อมูลเมทาดาตาของบทความในเว็บไซต์ไม่ครบถ้วน กองบรรณาธิการต้องปรับปรุงข้อมูลเมทาดาตาของบทความให้ครบถ้วนก่อนเผยแพร่บทความในเว็บไซต์ของวารสาร
4) วารสารไม่มีการระบุค่าธรรมเนียมการตีพิมพ์ (Processing fees and/or Article Page charges) อย่างละเอียด ชัดเจน บนเว็บไซต์ของวารสาร (197 วารสาร) หมายถึง เว็บไซต์ของวารสารต้องมีการระบุค่าธรรมเนียมการตีพิมพ์อย่างละเอียดและชัดเจน เนื่องจากเป็นเกณฑ์หลักในการประเมินคุณภาพและการประเมินด้านจริยธรรมและจรรยาบรรณของวารสารด้วย
5) วารสารมีการจดทะเบียน ISSN ที่ไม่ถูกต้องกับชื่อภาษาอังกฤษของวารสาร (180 วารสาร) หมายถึง เลขมาตรฐานสากลประจำวารสาร (ISSN) จดทะเบียนถูกต้องและชื่อภาษาอังกฤษถูกต้องตรงตามชื่อปัจจุบันของวารสาร ซึ่งชื่อต้องไม่เป็นภาษาคาราโอเกะ สามารถตรวจสอบได้ที https://portal.issn.org หากไม่ถูกต้องกองบรรณาธิการต้องแจ้งยกเลิกเลข ISSN เดิม แล้วแจ้งจดเลข ISSN ใหม่กับทางหอสมุดแห่งชาติ (https://e-service.nlt.go.th)

สำหรับการตรวจสอบรายชื่อวารสารในฐานข้อมูล TCI สามารถทำได้โดยไปที่ https://tci-thailand.org ไปยังเมนู ฐานข้อมูล TCI > รายชื่อวารสารในฐานข้อมูล TCI จะปรากฏหน้ารายการวารสาร ซึ่งเราสามารถค้นหาชื่อวารสารที่ต้องการได้ ดังภาพ

TCI ทำการปรับหน้าตาเว็บไซต์ใหม่ให้สามารถค้นหาวารสารได้ง่าย สะดวก และรวดเร็วมากยิ่งขึ้น เราสามารถค้นหาวารสารได้ด้วยการค้นชื่อวารสาร หรือ ISSN สามารถระบุกลุ่มวารสาร (TCI Tier) ที่ต้องการได้ สามารถระบุขอบข่ายการตีพิมพ์หรือสาขาของวารสารได้ (Subject Cluster) นอกจากนี้ ยังสามารถระบุขอบข่ายการตีพิมพ์หรือสาขาย่อยของวารสาร (Subject Area) ได้อีกด้วย

เมื่อพบวารสารที่ต้องการแล้วให้ทำการคลิกที่ชื่อวารสารเพื่อไปยังหน้าวารสารนั้นและดูรายละเอียดของวารสารเพิ่มเติมได้ ดังภาพ

สำหรับหน้ารายละเอียดของวารสารจะเห็นข้อมูลกลุ่มวารสารใน 2 ตำแหน่ง คือ TCI Tier (กลุ่มวารสารปัจจุบัน) และ TCI Tier History (ประวัติกลุ่มวารสาร) นอกจากนี้ ยังสามารถดูรายละเอียดอื่น ๆ ของวารสารและมีลิงก์เว็บไซต์วารสารอีกด้วย
 

ภาพรวมการประชุมวิชาการเครือข่ายการพัฒนาคุณภาพวารสารวิชาการไทย ครั้งที่ 15 รวมทั้งการประกาศผลการประเมินคุณภาพวารสารวิชาการที่อยู่ในฐานข้อมูล TCI รอบที่ 5  ก็มีรายละเอียดตามที่กล่าวมาข้างต้น สำหรับรายละเอียดอื่น ๆ เช่น การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเพื่อยกระดับคุณภาพวารสารไทย, การยกระดับความสามารถของระบบ ThaiJO ด้วยเทคโนโลยี AI (ระบบค้นหาผู้ทรงคุณวุฒิ, ระบบแนะนำวารสาร, แชทบอทช่วยสรุปบทความ, ระบบค้นหาและจัดการ citation), ระบบวิเคราะห์สมรรถนะการวิจัยของประเทศไทย (ThaiRAP) (TCI กำหนดเปิดตัวให้ใช้งานฟรีในเดือนกรกฎาคม 2568), ระบบรเชิดชูเกียรติผู้ทรงคุณวุฒิประเมินผลงานวิชาการในวารสาร เป็นต้น แนะนำให้ผู้สนใจศึกษาจากเอกสารที่ได้แนบลิงก์ไว้ด้านล่างนะครับ


ขอให้มีความสุขกับการทำงานวารสารนะครับ

เอกสารที่เกี่ยวข้อง

Rating

Average: 5 (2 votes)