การจัดการขยะด้วยหลัก 8R
การจัดการขยะด้วยหลัก 8R
การคัดแยกขยะ เป็นวิธีการหนึ่งใน กระบวนการลดปริมาณขยะมูลฝอย ซึ่ง เป็นตัวการของปัญหามลพิษของ สิ่งแวดล้อมในปัจจุบัน ก่อนอื่นมารู้จักประเภทของขยะมามีกี่ประเภท และสาเหตุที่ทำให้เกิดปัญหาขยะ
ประเภทของขยะ
1) ขยะย่อยสลายได้ (ถังสีเขียว) เช่น เศษอาหาร ผัก ผลไม้ที่เหลือจากการรับประทาน และการประกอบอาหาร สามารถนำไปหมักทำปุ๋ยได้ ขยะประเภทนี้ให้แยกใส่ถังสีเขียว เพื่อจะนำไปทำปุ๋ยหมัก
2) ขยะรีไซเคิล (ถังเหลือง) ขยะที่สามารถนำไปขายได้ เช่น ขวดน้ำ แก้วพลาสติก กระป๋องน้ำอัดลม กระป๋องน้ำ ขวดแก้ว กระดาษ กล่อง เครื่องดื่ม ถุงพลาสติก ขยะประเภทนี้ให้แยกใส่ถังสี เหลือง เพื่อนำไปรีไซเคิลและนำกลับมาใช้ประโยชน์ได้ใหม่
3) ขยะทั่วไป (ถังน้ำเงิน) ขยะที่ย่อยสลายยากและไม่คุ้มค่าในการนำไปรีไซเคิล เช่น กล่องพลาสติกใส่อาหาร หลอดน้ำซองขนม ซองบะหมี่สำเร็จรูป ซองลูกอม กระดาษชำระ กล่องโฟม แก้วกระดาษเคลือบใส่เครื่องดื่ม ขยะประเภทนี้ให้แยกใส่ถังสีน้ำเงิน เพื่อจะถูกนำไปฝังกลบรอการย่อยสลายหรือกำจัดตามความเหมาะสม
4) ขยะมีพิษ (ถังสีแดง) ขยะที่ต้องเก็บรวบรวมแล้วนำไปกำจัดด้วยวิธีที่ถูกต้องและด้วยความระมัดระวัง เช่น กระป๋องยาฆ่าแมลง หลอดไฟ ถ่านไฟฉาย ขยะประเภทนี้ให้แยกใส่ถังสีแดง เพื่อจะนำไป กำจัดอย่างถูกวิธี
สาเหตุที่ทำให้เกิดปัญหาขยะแบบไม่มีประสิทธิภาพ
1. ไม่มีการคัดแยกตั้งแต่ต้นทาง ไม่มีการคัดแยกก่อนทิ้งทำให้เกิดการปนเปื้อนไม่สามารถแยกวัสดุกลับมาใช้ใหม่ หรือได้แต่คุณภาพต่ำ
2. ขาดการรณรงค์และสร้างความตระหนัก ขาดการรณรงค์ประชาสัมพันธ์และการสร้างความตระหนักให้กับบุคลากรคัดแยกขยะไม่เพียงพอและไม่ต่อเนื่อง
3. ขาดความร่วมมือของบุคลากรในองค์กร บุคลากรในสำนักงาน รวมไปถึงผู้บริหารระดับสูงหรือเจ้าของกิจการยังไม่ให้ความร่วมมือในการคัดแยกขยะอย่างเต็มที่
4. ขาดความต่อเนื่องของผู้รับผิดชอบ ขาดความต่อเนื่องและการประสานของสำนักงาน เนื่องจากขาดบุคลากรหลักที่รับผิดชอบการดำเนินการเรื่องนี้
5. ขาดกฎระเบียบแนวปฏิบัติที่ชัดเจน ไม่มีกฎระเบียบเด็ดขาดที่จะรับรอง หากไม่การกระทำที่ถูกต้อง หรือผลตอบแทนเมื่อมีการปฏิบัติได้ถูกต้อง
การจัดการเพื่อลดปริมาณขยะจากแหล่งกำเนิด
1. การนำกลับมาใช้ใหม่ (Reuse) นำวัสดุที่ใช้แล้วนำกลับมาใช้ซ้ำหลาย ๆ ครั้งจนไม่สามารถใช้ได้แล้วจึงเข้าสู่กระบวนการนำไปกำจัดหรือผลิตซ้ำ
2. การปรับเปลี่ยนวัสดุอุปกรณ์ในสำนักงาน การใช้งานหรือการทดแทน การเลือกใช้วัสดุอุปกรณ์ภายใน สำนักงานจะต้องคำนึงถึง ผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่จะตามมา ควรต้องมีการศึกษาหาสิ่งทดแทน เพื่อที่จะช่วยลดปริมาณขยะ
การดำเนินการควบคุมและการจัดการขยะสำนักงาน
1. สำรวจประเภทและปริมาณขยะและพฤติกรรมการทิ้งขยะ
2. การจัดวางถังขยะและการคัดแยกขยะ
3. การให้ความรู้ในการ จัดการขยะ
4. การตรวจสอบความถูกต้องของการคัดแยกขยะ
5. การกำจัดขยะ
6. บันทึกปริมาณขยะรายเดือนเป็นประจำทุกเดือน
การจัดการขยะที่ถูกวิธีดีต่อเราและดีต่อโลก คิดก่อนซื้อ ซื้อให้น้อย ใช้อย่างพอดี ปฏิเสธสิ่งไม่จำเป็น 8R เป็นวิธีการที่จะช่วย ให้โลกของเราน่าอยู่ น่าอาศัย และ ช่วยลดการเกิดก๊าซเรือนกระจก หากเราสามารถนำหลัก 8R มาใช้ในการจัดการขยะในชีวิตโดยการลดการบริโภคตั้งแต่ต้นทาง การใช้ข้าวของเครื่องใช้ให้คุ้มค่ามากที่สุด ไม่บริโภคเกินจำเป็น ลองมาทำความรู้จักกับหลักการจัดการขยะซึ่งประกอบด้วย Rethink, Refuse, Reuse, Reduce, Repair, Regift, Recycle และ Recover
การจัดการขยะด้วยหลัก 8R
1. Rethink “คิดแล้วคิดอีก คิดให้ดีก่อนซื้อ” ลองถามตัวเราเองก่อนว่าสิ่งของที่เราจะซื้อ จำเป็นขนาดไหน เราต้องการจริง ๆ หรือไม่ เราซื้อแล้วคุ้มค่าหรือเปล่า เราจะได้ใช้จริง ๆ ไม่ใช่นำมากองไว้ รวมทั้งของอาหารต่าง ๆ ถ้าเราซื้อมากินแล้วกินไม่หมดมันก็จะกลายเป็นขยะอาหารเหลือทิ้งที่สร้างปัญหาให้กับโลกเราได้เช่นกัน ซึ่งหากรู้จักคิดก่อนซื้อก็จะช่วยลดการการใช้พลังงานในการกำจัดขยะ ลดการผลิตใหม่ และเป็นการช่วยลดการเกิดก๊าซเรือนกระจกอีกด้วย เป็นการไม่สร้างขยะตั้งแต่ต้นทาง
2. Reduce “ลดการใช้” เน้นใช้ของที่เราจำเป็นจริง ๆ เช่น นำถุงผ้าไปเองเวลาซื้อของใช้ต่าง ๆ ถือปิ่นโตใส่กับข้าวแทนการใช้ถุงพลาสติก การประชุมแบบออนไลน์เพื่อลดการใช้กระดาษ รวมถึงการลดการใช้น้ำ ใช้พลังงานไฟฟ้าให้พอเหมาะพอดี เป็นต้น
3. Reuse “การใช้ซ้ำ” ใช้ซ้ำให้นานเท่าที่จะทำได้ ด้วยการใช้ผลิตภัณฑ์ที่ใช้ซ้ำได้หลายครั้งแทน เช่น ใช้ถุงผ้าแทนถุงพลาสติด ใช้ปิ่นโต กล่องข้าว แก้วน้ำ หลอด เป็นต้น ใช้แล้วใช้อีกให้คุ้มค่าที่สุด เท่านี้เราก็ช่วยลดปริมาณขยะที่ใช้เพียงครั้งเดียวแล้วทิ้งได้มากได้มาก
4. Recycle “แปรรูปของเก่าให้เกิดใหม่” เริ่มต้นด้วยการแยกขยะให้ถูกต้องว่าขยะประเภทไหนบ้างที่สามารถส่งไปแปรรูปนำกลับมาใช้ใหม่ได้บ้าง เช่น กล่องนม ขวดพลาสติก กระป๋องอะลูมิเนียม กระดาษ เป็นต้น
5. Repair “ซ่อมก่อน อย่าเพิ่งซื้อใหม่” เราซ่อมอะไรได้บ้าง เช่น เสื้อผ้า กางเกงที่ขาด เราอาจะหาผ้ามาเพื่อปะหรือชุนให้ใช้ได้อีก ซ่อมข้าวของเครื่องใช้ในครัวเรือนหรือในสำนักงานที่ชำรุดให้กลับมาใช้ใหม่ได้
6. Regift “ส่งต่อสิ่งของให้คนที่ต้องการ” ข้าวของเครื่องใช้ที่ไม่ได้ใช้แล้วแต่สภาพยังดี หรือมีจำนวนมาก ๆ สามารถส่งต่อให้ผู้อื่นใช้ต่อได้ นอกจากช่วยโลกแล้วยังเป็นแบ่งปันให้ผู้ที่ต้องการของเหล่านั้นจริง ๆ ด้วย เป็นการใช้อย่างคุ้มค่า
7. Recover “นำมาใช้ประโยชน์รูปแบบใหม่” นำเอาของที่ไม่ใช้แล้ว มา DIY ให้กลายเป็นของชิ้นใหม่ เช่น นำเสื้อผ้า มาทำเป็นกระเป๋า นำขวดพลาสติก มาทำแจกันดอกไม้ นำล้อรถยนต์มาปลูกผักในครัวเรือน เป็นต้น
8. Refuse “ซื้อให้น้อย ใช้อย่างพอดี ปฏิเสธสิ่งไม่จำเป็น” เช่น ไม่รับถุง ไม่รับหลอด ไม่รับเครื่องปรุงต่าง ๆ หากเราไม่บริโภค หรือเวลาสั่งอาหารเดลิเวอรีถ้าสิ่งไหนที่มีอยู่แล้วเน้นย้ำว่าไม่รับ เช่น ช้อนส้อม ตะเกียบ (ถ้าเรามีอยู่แล้ว) เพราะในปี 2564 กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเผยว่า ไทยผลิตขยะมูลฝอยมากถึง 24.98 ล้านตัน ซึ่งการที่ปฏิเสธสิ่งที่ไม่จำเป็น มีข้อดีหลายต่อสิ่งแวดล้อม หลายประการ ตั้งแต่ช่วยลดปริมาณขยะให้น้อยลง ลดการใช้พลังงานในการกำจัดขยะ
อ้างอิง
Kritsana Satapong. (2565). WULibrary Challenge การจัดการขยะด้วยหลัก 8R. https://library.wu.ac.th/km/%e0%b8%81%e0%b8%b2%e0%b8%a3%e0%b8%88%e0%b8%b1%e0%b8%94%e0%b8%81%e0%b8%b2%e0%b8%a3%e0%b8%82%e0%b8%a2%e0%b8%b0%e0%b8%94%e0%b9%89%e0%b8%a7%e0%b8%a2%e0%b8%ab%e0%b8%a5%e0%b8%b1%e0%b8%81-8r/
ณัฐพล เขตกระโทก. (2564). การจัดการและคัดแยกขยะสำนักงานอย่างถูกวิธี: Office Waste Management. โครงการห้องสมุดสีเขียว ศูนย์บรรณสารและสื่อการศึกษา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี.
- Log in to post comments
- 3323 views