ถักหมักขยะอินทรีย์
ถังหมักขยะอินทรีย์
ปัจจุบันปัญหาขยะเป็นเรื่องที่ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึงกันมาก รวมไปถึงวิธีการจัดการแก้ไขปัญหาขยะแต่ละประเภท ซึ่งส่วนใหญ่เรามักจะพูดถึงปัญหาและการจัดการขยะพลาสติก ซึ่งเป็นขยะที่ย่อยสลายยาก แต่ความจริงแล้วกว่าร้อยละ 50 ของขยะมูลฝอยทั้งหมด เป็นขยะมูลฝอยประเภทสารอินทรีย์ เช่น เศษอาหาร เศษผัก ผลไม้ ที่แม้จะสามารถย่อยสลายได้เอง แต่ก็ต้องใช้เวลา และต้องมีวิธีจัดการที่เหมาะสม ไม่เช่นนั้นก็จะกลายเป็นแหล่งรวมเชื้อโรค ส่งกลิ่นเหม็น เกิดปัญหาต่อสังคมและสภาพแวดล้อมตามมาอีกมาก
ถังหมัดเศษอาหาร และขยะสดจากครัวเรือนถูกคิดค้นครั้งแรกในปี พ.ศ.2531 ที่ประเทศแคนาดา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อจัดการกับขยะอินทรีย์ เศษอาหารที่เหลือจากการรับประทานอาหารในแต่ละมื้อ
วัสดุที่ใช้ในการทำถังหมักขยะอินทรีย์ ประกอบด้วย
1. ถังพลาสติก 1 ใบ พร้อมฝาปิด เจาะก้นถัง
การติดตั้งถังหมักขยะอินทรีย์
1. เลือกพื้นที่ติดตั้งถังหมักขยะอินทรีย์ โดยเลือกพื้นที่ที่มีแสงแดดส่องถึงตลอดเวลา ไม่ควรอยู่ใต้ร่มเงาไม้ หรือแสงแดดรำไร
2. ขุดหลุมให้มีขนาดใหญ่กว่าถัง และวางถังลงไป
3. นำถังหมักขยะอินทรีย์ที่ทำการเจาะก้นถังเสร็จเรียบร้อยวางลงไปกลางหลุมที่ขุดไว้ และกลบด้วยดินที่ขุดขึ้นมา โดยการกลบจะต้องกลบแบบหลวมๆ ไม่อัดดินให้แน่น
4. จากนั้นก็นำเศษอาหารที่เหลือจากครัวเรือนมาเททิ้งใส่ถัง
หลักการทำงานของถังหมักขยะอินทรีย์
ถังหมักขยะอินทรีย์เป็นการใช้ประโยชน์จากกลุ่มจุลินทรีย์ที่อาศัยอยู่ภายในดินที่มีอยู่เดิม มาทำหน้าที่ย่อยสลายสารอินทรีย์ แต่หากบริเวณใดเป็นดินเสื่อมโทรมมีจุลินทรีย์ตามธรรมชาติอยู่น้อย ก็อาจจะเพิ่มจุลินทรีย์ได้โดยการเติมขี้วัว หรือเติมน้ำหมักชีวภาพเข้าไปรองพื้นตระกร้าก่อนเทเศษอาหารได้
หลักการหมักจะเป็นการหมักโดยกระบวนการของจุลินทรีย์แบบใช้ก๊าซออกซิเจนซึ่งจะทำให้เกิดกลิ่นเหม็นน้อยมากเมื่อเทียบกับการหมักแบบอื่นๆ ดังนั้น ก๊าซออกซิเจนจึงเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดสำหรับถังหมักขยะอินทรีย์ โดยการออกแบบถังจะมุ่งเน้นให้เกิดการหมุนเวียนถ่ายเทของอากาศเพื่อให้ก๊าซออกซิเจนเดินทางเข้าสู่วัสดุหมักได้อย่างทั่วถึง โดยก๊าซออกซิเจนจะเข้าสู่ถังหมักได้ 2 ช่องทาง คือ ผ่านช่องว่างของเม็ดดินที่กลบลงไปอย่างหลวมๆ รอบถังและก้นถังเข้าสู่วัสดุหมักด้านล่าง และทางฝาปิดด้านบนผ่านเข้าไปในช่องว่างระหว่างถังเล็กและถังใหญ่ เมื่อแสงแดดส่องลงมาจะทำให้อุณหภูมิของอากาศภายในถังสูงขึ้น อากาศที่ถังด้านล่างจะยกตัวลอยสูงขึ้นด้านบน เกิดการดูดหมุนเวียนอากาศใหม่จากภายนอกเข้ามาแทนที่ ตัวถังจึงมีออกซิเจนหมุนเวียนตลอดเวลา ทำให้จุลินทีย์ที่ทำหน้าที่ในกระบวนการหมักยังคงมีชีวิตอยู่ได้
นอกจากนี้สัตว์ที่เป็นผู้ย่อยสลายขนาดเล็ก เช่น กิ้งกือ และไส้เดือนดินยังสามารถเคลื่อนที่ผ่านรูตะแกรงของตระกร้า เพื่อเข้าไปย่อยสลายเศษอาหารได้อีกทางหนึ่งด้วย ผลผลิตที่ได้จากถังหมักขยะอินทรีย์ คือ ธาตุอาหารต่างๆ ที่เกิดจากกระบวนการย่อยสลายของจุลินทรีย์และสัตว์ในชั้นดินชนิดต่างๆ จะกระจายแพร่ลงสู่ดินบริเวณรอบๆ ถังหมัก ทำให้ดินมีความอุดมสมบูรณ์เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของพืช ดังนั้นการปลูกผักบริเวณรอบๆ ถัถังหมักขยะอินทรีย์ จึงเป็นการปลูกต้นไม้โดยที่ไม่ต้องใส่ปุ๋ยอีก เพียงแค่เรานำเศษอาหารเทเข้าไปในถังหมัก อาหารเหล่านั้นก็จะเกิดกระบวนการหมัก และเติมธาตุอาหารเข้าไปในดินโดยอัตโนมัติ ซึ่งปัจจุบันหลายหน่วยงานได้ส่งเสริมการใช้ถังหมักขยะอินทรีย์อย่างแพร่หลาย แต่หลายแห่งยังไม่เข้าใจในหลักการทำงานที่ถูกต้องทำให้ถังที่ประดิษฐ์ขึ้นทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ ซึ่งปัจจุบันศูนย์ฯ สิรินาถราชินีได้จัดทำจุดสาธิตถังหมักขยะอินทรีย์ต้นแบบที่ถูกต้องตามหลักวิชาการไว้ในพื้นที่และได้ทดลองใช้งานจริงอยู่ในปัจจุบัน โดยผู้ที่สนใจสามารถเข้ามาเรียนรู้หรือขอดูต้นแบบถังหมักขยะอินทรีย์ชุดนี้ได้
จะเห็นได้ว่าการทำงานของถังหมักขยะอินทรีย์ เป็นการเปลี่ยนภาระให้เป็นมูลค่า รวมทั้งสามารถช่วยลดปัญหาที่เกิดขึ้นในระบบการจัดการขยะมูลฝอย ลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการจัดการขยะมูลฝอย และลดปริมาณขยะมูลฝอยที่ต้องนำไปกำจัดลง ทำให้มีการใช้พื้นที่ฝังกลบซึ่งเป็นสถานที่สุดท้ายในการกำจัดมูลฝอยน้อยลง และสามารถลดปัญหาสังคม เศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมที่ตามมาได้อีกมาก แต่ไม่ว่าจะเป็นการใช้ถังหมักขยะอินทรีย์ หรือใช้วิธีการกำจัดขยะแบบใดๆ ก็ตาม จะไม่สามารถทำได้สำเร็จเลย หากไม่เริ่มตั้งแต่ต้นทาง ฉะนั้น สิ่งแรกที่ควรร่วมมือร่วมใจกันทำให้ได้ คือ การแยกขยะจากครัวเรือนของทุกบ้านให้ได้เสียก่อน ซึ่งเชื่อว่าหากทุกคนเห็นความสำคัญของปัญหาที่เกิดขึ้น และร่วมมือกันเริ่มจากตัวเองก่อน แล้วปลายทางก็จะจัดการปัญหาได้ไม่ยากเลย
- Log in to post comments
- 1072 views