ใครบ้างที่ควรเขียนบันทึกความรู้ในเว็บไซต์การจัดการความรู้สำนักวิทยบริการ

เมื่อพูดถึงการเขียนบันทึกความรู้ หลายคนบอกว่าไม่รู้จะเขียนอะไร ไม่มีอะไรจะเขียน ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น หรือเพราะยังไม่เข้าใจว่า ความรู้ คืออะไร

ราชบัณฑิตยสถานให้ความหมายของคำว่า ความรู้ คือ สิ่งที่สั่งสมมาจากการศึกษาเล่าเรียน การค้นคว้า หรือประสบการณ์ รวมทั้งความสามารถเชิงปฏิบัติและทักษะ ความเข้าใจ หรือสารสนเทศที่ได้รับมาจากประสบการณ์ สิ่งที่ได้รับมาจากการได้ยิน ได้ฟัง การคิด หรือการปฏิบัติ (ที่มา: http://www.royin.go.th/dictionary)

จากความหมายของคำว่า ความรู้ข้างต้น คงสรุปได้ว่าไม่มีใคร ไม่มีความรู้ เพราะทุกคนต่างผ่านการศึกษาเล่าเรียน มีประสบการณ์การใช้ชีวิต ได้เห็น ได้ยิน ได้คิด และได้ทำสิ่งต่างๆ มามากมาย มีความรู้ ความเข้าใจ และเชี่ยวชาญในงานตนเองทำเป็นอย่างดี

อย่างไรก็ตาม ในมุมมองของผมผู้ที่เขียนบันทึกความรู้ในเว็บไซต์การจัดการความรู้สำนักวิทยบริการนั้นมี 2 คนเท่านั้น

1. คนที่เห็นคุณค่าในตนเองและเห็นคุณค่าในงานที่ตนเองทำ

2. คนที่ต้องการแบ่งปันประสบการณ์ ความรู้ของตนเองเพื่อเป็นประโยชน์แก่ผู้อื่นหรือเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู็ซึ่งกันและกัน ดังคำกล่าวที่ว่า ให้ความรู้เป็นทาน คือ ทานอันสูงสุด

ดังนั้น พวกเราทุกคนสามารถเป็นผู้เขียนบล็อกในเว็บไซต์การจัดการความรู้สำนักวิทยบริการได้


ทั้งนี้ สิ่งที่ต้องคำนึ่งในการเขียนบันทึกความรู้

1. จริยธรรมในการเป็นผู้เขียน การโจรกรรมวรรณกรรมเป็นเรื่องที่มีการพูดถึงกันมากที่สุดในวงการวิชาการปัจจุบัน เพราะเป็นการขาดจริยธรรมในการเป็นผู้เขียนอย่างรุนแรง เนื่องจากเป็นการขโมยแนวคิด ข้อเท็จจริง งานเขียนของผู้อื่นมาเป็นของตัวเอง หรือไม่มีการอ้างอิงถึงงานเขียนต้นฉบับ ถ้าพูดภาษาแบบให้เข้าใจง่ายๆ ก็คือ การ copy และ paste นั่นเอง (ซึ่งจริงๆ เริ่มทำกันมาตั้งแต่สมัยเรียนแล้ว จริงไหม?)

ดูเหมือนการโจรกรรมวรรณกรรมเป็นเรื่องการปิดกั้นการเขียนหรือเปล่า คำตอบคือ ไม่เลย เมื่อเราอ่านหรือศึกษาเรื่องใดเรื่องหนึ่งไม่ว่าจากหนังสือ ตำรา อินเทอร์เน็ต หรือสื่ออื่นๆ แล้วเราอยากนำมาเขียนแบ่งปันให้ผู้อื่น เราสามารถทำได้โดยการเขียนประมวล เรียบเรียงความรู้เรื่องนั้นๆ ด้วยสำนวนและวิธีเขียนของตนเอง แล้วอ้างอิงแหล่งที่มาของเรื่องนั้นๆ ทุกครั้ง การทำเช่นนั้นนอกจากจะเป็นการให้เกียรติผู้เขียนต้นฉบับแล้ว ยังเป็นการให้เกียรติและสร้างจริยธรรมในการเป็นผู้เขียนของเราเองอีกด้วย

 2) กฏหมายลิขสิทธิ์ เป็นเรื่องที่มีการพูดถึงการมากเช่นเดียวกัน เนื่องด้วยกฎหมายลิขสิทธิ์ฉบับใหม่ที่ประกาศใช้ล่าสุด การนำผลงานของผู้อื่นไปใช้โดยไม่ได้รับการอนุญาต ถือว่ามีความผิดตามกฎหมายลิขสิทธิ์ ผลงานที่กล่าวถึงอาจอยู่ในรูปแบบของแนวคิด งานเขียน ภาพถ่าย ภาพวาด วิดีทัศน์ สิ่งประดิษฐ์ เป็นต้น สรุปว่าถ้าไม่ได้คิดเอง ทำเอง สร้างเอง ไปฉกฉวยเอาของคนอื่นมาใช้ พึงสังวรไว้เสมอว่าคุณกำลังเป็นผู้กระทำความผิดตามกฎหมายลิขสิทธิ์

ขอให้สร้างสรรค์งานเขียนบันทึกความรู้ด้วยความรู้ ความคิด และประสบการณ์ของตนเอง
ผมเชื่อว่าทุกคนมีความรู้ ความเชี่ยวชาญในงานที่ทำอยู่แล้ว และผมไม่เชื่อว่าจะมีใครที่ไม่มีความรู้

ขอให้มีความสุขกับการเขียนบันทึกความรู้ในเว็บไซต์การจัดการความรู้สำนักวิทยบริการ

Rating

Average: 1 (2 votes)