อ่านออก เขียนได้

 

เมื่อสัปดาห์ก่อนผมได้มีโอกาสเข้าร่วมกิจกรรมส่งเสริมการเขียนให้กับนักเรียนโรงเรียนศิริราชสามัคคีเป็นเวลา 2 วัน โดยมีวัตถุประสงค์ให้เยาวชนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้สามารถเขียนบอกเล่าเรื่องราวในท้องถิ่นของตนเองได้ โดยมีเจ้าของโครงการคือ STEP และมีสำนักวิทยบริการเป็นผู้ดำเนินโครงการ กิจกรรมประกอบด้วย 3 กิจกรรมหลักคือ กิจกรรมเล่าเรื่องจากภาพถ่าย กิจกรรมเล่าเรื่องผ่านภาพวาด (การ์ตูน) และกิจกรรมสร้างแรงบัลดาลใจในการเขียนกับกวีซีไรต์ เชื่อหรือไม่วิทยากรผู้นำกิจกรรมบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า "จะเขียนได้ ต้องอ่านก่อน" ฟังแล้วก็เป็นเรื่องที่ผมรับรู้มาโดยตลอดและก็เป็นปัญหาของคนไทยมาจนถึงปัจจุบัน ยืนยันได้จากผลการสำรวจ (ปีไหนจำไม่ได้) การอ่านของคนไทยที่เฉลี่ยอยู่ที่ 7 บรรทัด ต่อคน ต่อปี นั่นหมายความว่าคนไทยอ่านน้อยหรือน้อยคนรักที่รักการอ่าน (หรือเปล่า?) จึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไมคนไทยจึงไม่ชอบเขียน

เมื่อพูดถึงการอ่านผมมองว่ามันเป็นเรื่องของนิสัย ซึ่งต้องอาศัยการปลูกฝัง บ่มเพาะเป็นเวลานานจึงทำให้ก่อตัวเป็นนิสัยได้ การปลูกฝังนิสัยรักการอ่านจึงควรเริ่มตั้งแต่เด็กๆ อ้าว!!! แล้วถ้าเป็นผู้ใหญ่ล่ะจะทำอย่างไร คำตอบก็คือ คงต้องสร้างนิสัยด้วยตนเอง เพราะเป็นผู้ใหญ่แล้วคงไม่มีใครมาปลูกฝัง บ่มเพาะให้ จริงไหม!!!

สำหรับประสบการณ์ส่วนตัวด้านการอ่าน บอกตามตรงว่าผมเองก็เป็นคนหนึ่งที่ไม่ชอบการอ่านหนังสือ อ่านได้สองสามบรรทัดก็ง่วงนอนแล้ว จะอ่านหนังสือจริงๆ จังๆ ก็ตอนที่สอบไล่เท่านั้น (สมัยเรียน) แต่พอเข้ามาเรียนในมหาวิทยาลัยแล้วเจอเพื่อนจากต่างโรงเรียน  ทำให้เรารู้ว่าเรายังด้อยเรื่องประสบการณ์ ความรู้ด้านต่างๆ อยู่เยอะมาก โดยเฉพาะเรื่องเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ เนื่องจากเกี่ยวข้องโดยตรงกับสาขาวิชาที่เรียน (ผมเรียนสาขาเทคโนโลยีการศึกษา) ทำให้ผมต้องเริ่มอ่านหนังสือมากขึ้น และมีการตั้งเป้าการอ่านหนังสือให้กับตัวเองเป็นระยะๆ เช่น เดือนนี้ต้องอ่านหนังสือเกี่ยวกับเรื่องนี้นะ เดือนหน้าต้องอ่านหนังสือโปรแกรมนี้นะ และการอ่านก็ช่วยย่อความรู้ ประสบการณ์ให้กับผมได้อย่างรวดเร็ว จากเด็กบ้านนอกไม่รู้จักแม้แต่เมาส์ คีย์บอร์ด การใช้งานคอมพิวเตอร์นี้ไม่ต้องพูดถึงใช้ไม่เป็นเลย จนในที่สุดเพื่อนคนไหนที่ปัญหาคอมพิวเตอร์ หรือการใช้งานโปรแกรมต้องมาปรึกษาผม นี่เป็นความภาคภูมิใจอย่างหนึ่งที่ได้มาจากการอ่าน ผมรู้สึกว่าการได้รู้เรื่องราว ความรู้เล็กๆ น้อยๆ จากการอ่านทำให้ผมรู้สึกดีกับตัวเอง และปัจจุบันก็ยังพยายามบังคับตัวเองให้อ่านหนังสืออย่างน้อยเดือนละเล่ม (ซึ่งถือว่าน้อยมาก) เพื่อเป็นการฝึกตัวเอง (ยังต้องฝึกอยู่เพราะนิสัยมันสร้างยาก)

กลับมาที่ทำอย่างไรให้เขียนได้หรืออยากเขียน เนื่องจากสำนักวิทยบริการมีการจัดทำเว็บไซต์การจัดการความรู้ในองค์กร เพื่อเป็นแหล่งรวบรวมองค์ความรู้ในการปฏิบัติงาน สิ่งที่น่ากังวลไม่ใช่ความรู้ในตัวคน เพราะแต่ละคนมีความเชี่ยวชาญในงานที่ปฏิบัติอยู่แล้ว แต่การจะเอาความรู้ในตัวคนออกมาเป็นตัวอักษรเป็นงานเขียนที่ผู้อื่นอ่านได้ ซึมซับประสบการณ์การทำงาน ตลอดจนเก็บรักษาองค์ความรู้เหล่านั้นไว้ เพื่อประโยชน์ของผู้อ่านและคนรุ่นหลังต่อไป นั่นเป็นสิ่งที่น่ากังวลยิ่งกว่า

ถ้าอุปสรรคของการเขียนคือ การอ่านนี่เป็นโอกาสดีที่คุณได้เริ่มอ่าน (ประสบการณ์ของผม) แล้ววันหนึ่งผมอาจได้อ่านประสบการณ์ของคุณบ้าง ว่าไหม?...

 

Rating

Average: 3 (2 votes)