สรุปการเป็นวิทยากรบรรยายหัวข้อ "การประยุกต์ใช้ระบบฐานข้อมูลในหน่วยงานบริการสารสนเทศ"
25 กันยายน 2561 ผมได้รับเชิญจากทางสาขาวิชาการจัดการสารสนเทศ ภาควิชาบรรณารักษศาสตร์และสารนิเทศศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ม.อ.ปัตตานี ให้เป็นวิทยากรบรรยายในหัวข้อ การประยุกต์ใช้ระบบฐานข้อมูลในหน่วยงานบริการสารสนเทศ แก่นักศึกษาระดับปริญญาตรี ชั้นปีที่ 2 เพื่อเป็นการกระตุ้น ชี้นำแนวทาง เพื่อให้เห็นตัวอย่างการนำเอาระบบงานฐานข้อมูลมาใช้ในการดำเนินกิจการและธุรกิจ เพื่อยกระดับการให้บริการอย่างมีระบบ สะดวกรวดเร็ว และเกิดประสิทธิภาพสูงสุดต่อลูกค้าหรือผู้ใช้บริการ
หัวข้อการบรรยายประกอบด้วย
- เทคโนโลยีเว็บไซต์ในปัจจุบัน
- ความสำคัญของฐานข้อมูล
- ลักษณะของฐานข้อมูลเชิงสัมพันธ์ และกระบวนการสร้างฐานข้อมูล
- ระบบงานฐานข้อมูลของสำนักวิทยบริการ
- ถาม-ตอบ แลกเปลี่ยนเรียนรู้
Slide Recap
เทคโนโลยีเว็บไซต์ในปัจจุบัน
web 1.0 มีลักษณะเป็น Static Web นั่นคือนำเสนอข้อมูลด้านเดียว ผู้ใช้งานไม่อาจมีปฏิสัมพันธ์อื่นใดกับตัวเว็บไซต์ได้นอกจากการอ่านข้อมูล
web 2.0 เริ่มนำระบบฐานข้อมูลเข้ามาทำหน้าที่จัดเก็บข้อมูลต่างๆ ของเว็บไซต์ ผู้ใช้สามารถมีส่วนร่วมกับเว็บไซต์ได้มากขึ้น เช่นการมีระบบสมาชิก การโต้ตอบ สอบถามผ่านทางกระดานสนทนา
web 3.0 เข้าสู่ยุคของ Social Network ผู้ใช้กลายเป็นผู้นำเสนอข้อมูลบนเว็บไซต์ แบ่งปัน แลกเปลี่ยน และเกิดการใช้งานข้อมูลร่วมกัน
web 4.0 ยุคของ Semantic Web ที่ข้อมูลสามารถโอนย้ายถ่ายเทไปยังแพลตฟอร์มที่ต่างกันได้ ตัวเว็บไซต์รองรับการใช้งานได้หลากหลาย ทุกกลุ่ม ทุกอุปกรณ์ (Accessibility)
ความสำคัญของฐานข้อมูล
ผู้ใดสามารถเข้าถึงข้อมูลได้อย่างรวดเร็วที่สุด ถูกต้องที่สุด ทันต่อเหตุการณ์ มีความปลอดภัยสูง เชื่อถือได้ และสามารถตอบสนองความต้องการของผู้ใช้งานได้อย่างครบถ้วน ผู้นั้นย่อมมีโอกาสประสบความสำเร็จในการดำเนินงานสูง
การพัฒนาและออกแบบสารสนเทศจึงต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับระบบฐานข้อมูล การออกแบบฐานข้อมูล และเทคโนโลยีระบบจัดการฐานข้อมูล โดยนำเอาระบบฐานข้อมูลเข้ามาใช้ในการเก็บข้อมูลหรือบริหารจัดการข้อมูล เพื่อให้ได้มาซึ่งระบบสารสนเทศที่มีประสิทธิภาพ ช่วยผู้บริหารใช้ในการตัดสินใจ การวางแผน และกำหนดแนวทางขององค์กรธุรกิจ
ลักษณะของฐานข้อมูลเชิงสัมพันธ์ และกระบวนการสร้างฐานข้อมูล
ฐานข้อมูล (Database) คือ การรวบรวมและจัดเก็บชุดของข้อมูลที่มีความสัมพันธ์กันมาไว้ด้วยกันอย่างเป็นระบบ เพื่อให้ผู้ใช้สามารถเรียกใช้ข้อมูลเหล่านั้นร่วมกันได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ
ฐานข้อมูลจะถูกจัดเก็บเป็นศูนย์กลางที่ทุกระบบงานสามารถเข้าถึงและใช้งานร่วมกันได้ (เรียกดู/สร้าง/แก้ไข/ลบ/บันทึก) ทำให้ฐานข้อมูลมีความถูกต้อง ทันสมัย และใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ฐานข้อมูลเชิงสัมพันธ์ (Relational Database) เป็นการจัดเก็บรวบรวมข้อมูลเป็นแถวและคอลัมน์ในลักษณะตาราง 2 มิติ ที่ประกอบด้วยแอททริบิวต์ที่แสดงคุณสมบัติของเอนทิตี้หนึ่งๆ โดยที่เอนทิตี้ หรือ รีเลชั่นเหล่านั้นได้ผ่านกระบวนการทําให้เป็นบรรทัดฐาน (Normalized Form) ในระหว่างการออกแบบ เพื่อลดความซ้ำซ้อน และเพื่อให้การจัดการฐานข้อมูลเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
กระบวนการสร้างฐานข้อมูล มีลำดับดังนี้
1. Root Cause Analysis
2. System Requirements / System Specifications
3. Data Flow Diagram (DFD) / Entity-Relationship Diagrams (E-R Diagram) / Data Dictionary
4. Development and Testing / Implement
5. Evaluation and Maintenance
ระบบงานฐานข้อมูลของสำนักวิทยบริการ
สำนักิวทยบริการพัฒนาระบบงานฐานข้อมูลโดยมีจุดมุ่งหมาย 2 อย่าง คือ เพื่อการปฏิบัติงาน และบริการผู้ใช้ ตัวอย่างระบบฐานข้อมูลที่ยกมาอภิปรายได้แก่
- ระบบห้องสมุดอัตโนมัติ ALIST
- ระบบบทเรียนออนไลน์ JFK Online Course
- ระบบฐานข้อมูลเหตุการณ์จังหวัด ชายแดนภาคใต้
- บริการยืมสื่อโสตทัศนวัสดุด้วยตนเอง หอสมุดจอห์น เอฟ เคนเนดี้ (AV Self-Check)
- ระบบแจ้งซ่อมคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ออนไลน์
กิจกรรมเริ่มในช่วงบ่ายโมงถึงสี่โมงเย็น ภาพรวมแล้วมีความสนุกสนานเป็นกันเอง น้องๆ มีความตื่นตัวในหัวข้อที่สนทนา มีท่าทางมุ่งมั่นในการศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมเพื่อการเรียนในคลาสและการประยุกต์ใช้งานจริงกับโปรเจกส์ประจำรายวิชา
ยินดีมากที่ได้เข้ามามีส่วนร่วมช่วยเหลือในสิ่งที่พอจะทำได้แก่รุ่นน้องในภาค ขอให้ทุกคนประสบความสำเร็จในการเรียนครับ
- Log in to post comments
- 147 views