เราพัฒนา องค์กรก็พัฒนา เราไม่พัฒนา เราก็สูญพันธุ์

มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี จัดสัมนาวิชาการ "โครงการพัฒนาบุคลากรผ่านนวัตกรรม" เมื่อวันที่ 11-12 มกราคม 2561 ณ โรงแรมปาร์ควิว รีสอร์ท จังหวัดปัตตานี แม้ผมเข้าร่วมโครงการนี้ด้วยภาระกิจบันทึกโทรทัศน์วงจรปิด จึงไม่สามารถรจดบันทึกอย่างที่ทำเป็นปกติ การเขียนบล็อกนี้จึงเป็นการอาศัยความจำที่ยังเหลืออยู่นิดๆ หน่อยๆ อย่างไรก็ตาม นับว่าเป็นโอกาสดีที่ได้รับฟังองค์ความรู้จากวิทยากรและได้เห็นนวัตกรรมจากหน่วยงานต่างๆ ในวิทยาเขตปัตตานี ทำให้ผมได้รับแรงบันดาลใจในการพัฒนางาน พัฒนาตนเอง และการสร้างนวัตกรรม

การบรรยายเรื่อง "การเตรียมความพร้อมการเข้าสู่ตำแหน่งที่สูงขึ้นของบุคลากรสายสนับสนุน" โดย ดร.จรงค์ศักดิ์ พุมนวน ทำให้ผมมีแง่มุมในการเข้าสู่ตำแหน่งทางวิชาการที่เปลี่ยนไป รวมถึงได้แรงบันดาลใจในการพัฒนางานเพื่อเข้าสู่ตำแหน่งทางวิชาการเพิ่มขึ้น ตลอดเวลาผมมองแค่ว่าการพัฒนางานเพื่อเข้าสู่ตำแหน่งทางวิชาการเป็นเรื่องของเงินล้วนๆ ซึ่งจริงๆ แล้วเงินเป็นเพียงผลพลอยได้ลำดับท้ายๆ ของการพัฒนางานเท่านั้น หากเรามองว่าเราจะพัฒนางานเพื่อเข้าสู่ตำแหน่งทางวิชาการ (ชำนาญการ ชำนาญการพิเศษ เชี่ยวชาญ ฯลฯ) เราก็จะได้ตำแหน่งทางวิชาการนั้น แต่มันจะหยุดอยู่แค่นั้น ไม่มีการพัฒนาองค์กร แต่ถ้าเราพัฒนางาน ปรับปรุงงาน ออกมาเป็นผลงานให้กับองค์กร เราได้ตำแหน่งทางวิชาการ องค์กรได้พัฒนา แล้วเราจะพัฒนาไปเรื่อยๆ  พัฒนาไปพร้อมกันทั้งองค์กรและเรา หากเราคิดแบบนี้จะทำให้การพัฒนางานของเราจะเป็นไปอย่างต่อเนื่อง และเป็นผลให้องค์กรเติบโตได้อย่างมั่นคง

การพัฒนาองค์กรเริ่มต้นจากการพัฒนาคนในองค์กร เมื่อคนในองค์กรพัฒนา องค์กรก็พัฒนา ฉะนั้น หากเรารักองค์กร ทำงานเพื่อองค์กร เราสามารถทำได้โดยการทำงานในหน้าที่ความรับผิดชอบและพัฒนางานนั้นๆ ให้ดีขึ้นอยู่เสมอ นี่คือการแสดงความรักต่อองค์กรที่ดีที่สุด เราไม่จำเป็นต้องไปคิดอยากทำโน้นทำนี้ให้องค์กร แค่เราพัฒนางานของเราให้สุดความสามารถ เท่านี้ก็เป็นการทำเพื่อองค์กรและพัฒนาองค์กรแล้ว

ผลงานพัฒนาที่เกิดจากเข้าสู่ตำแหน่งทางวิชาการที่สูงขึ้น เช่น คู่มือปฏิบัติงาน งานวิจัย และงานวิเคราะห์สังเคราะห์ จะเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่แสดงออกถึงความรักองค์กร ทำไมถึงบอกแบบนี้ คำตอบก็คือ ประโยชน์ที่องค์กรจะได้รับจากคู่มือปฏิบัติงาน งานวิจัย และงานวิเคราะห์สังเคราะห์นั่นเอง แล้วองค์กรจะได้ประโยชน์อะไรจากผลงานเหล่านี้ คำตอบก็คือ องค์กรสามารถทำงานได้อย่างต่อเนื่อง กล่าวคือ งานหนึ่งงานอาจมีคนรับผิดชอบดูแลเพียงคนเดียว งานหนึ่งงานอาจมีคนรับผิดชอบดูแลหลายคน (ทีมงาน) และคนหนึ่งอาจรับผิดชอบดูแลงานหลายงาน หากคนใดคนหนึ่งไม่สามารถปฏิบัติงานได้ไม่ว่าจะเหตุผลใด (ติดภาระกิจ, ลาป่วย, ลากิจ, ลาพักผ่อน, เกษียณ) ย่อมส่งผลกระทบต่องานนั้นหรือกระทบต่อกระบวนการของงานนั้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ งานนั้นอาจต้องชะงัก ไม่สามารถเดินต่อได้ คู่มือปฏิบัติงานจะสามารถแก้ปัญหานี้ได้ เนื่องจากผู้ร่วมงานคนอื่นสามารถศึกษาวิธีการ กระบวนการทำงานได้จากคู่มือปฏิบัติงานนั้นๆ การทำผลงานพัฒนาจึงเป็นการพัฒนาองกรค์และทำประโยชน์ให้กับองค์กรอย่างแท้จริง

นอกจากนี้ คนที่อยู่กับองค์กรเป็นเวลานานย่อมมีองค์ความรู้และความเชี่ยวชาญในงานที่ทำเป็นอย่างดี และองค์ความรู้และความเชี่ยวชาญนั้นก็มีความสำคัญกับองค์กรเป็นอย่างมาก ต่อเมื่อถึงเวลาที่คนเหล่านี้ต้องเกษียณอายุการทำงานจากองค์กรแล้ว หากไม่มีการเก็บบันทึกและถ่ายโอนองค์ความรู้ วิธีการ กระบวนการทำงานเหล่านี้อย่างเป็นระบบก็จะส่งผลกระทบต่อการทำงานขององค์กรได้ การเขียนคู่มือปฏิบัติงานไว้ก่อนเกษียณจึงเป็นเรื่องสำคัญมาก ถือเป็นมรดกจากความรักที่คุณมอบไว้ให้กับองค์กร และจะเป็นประโยชน์กับองค์กรต่อไปอีกนานแสนนาน ที่กล่าวเช่นนี้ เพราะว่าคนใกล้เกษียณส่วนใหญ่มักจะมองว่าใกล้เกษียณแล้วไม่อยากทำอะไร จึงเป็นเรื่องที่น่าเสียดายเป็นอย่างยิ่งที่องค์ความรู้และความเชี่ยวชาญของคุณจะจากองค์กรไปพร้อมๆ กับคุณ 

การบรรยายเรื่อง "การสร้างสรรค์ Innovation ด้วยแนวคิด Lean เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน" โดย นายดามธรรม จินากูล ทำให้ผมเข้าใจการพัฒนางานโดยใช้แนวคิด Lean ในภาพรวมมากยิ่งขึ้น การทำ Lean เริ่มต้นจากงานที่ตนเองทำนั่นแหละดีที่สุด เพราะรู้จักงาน รู้จักกระบวนการของงานเป็นอย่างดี นำมาเขียน Flowchart การทำงาน จับเวลาของกระบวนการทีละขั้นตอน (ทำซ้ำเพื่อให้ได้ระยะเวลาเฉลี่ยที่ใกล้เคียงความจริงมากที่สุด) นำไปสู่การพิจารณากระบวนการที่ไม่จำเป็นและปรับกระบวนการทำงานใหม่ หัวใจของการทำ Lean ต้องสามารถวัดผลของประสิทธิภาพการทำงานหลังจากทำ Lean ได้อย่างเป็นรูปธรรม ฉะนั้น การวัดผลของประสิทธิภาพการทำงานก่อนทำ Lean จึงมีความสำคัญไม่ยิ่งหย่นไปกว่าการวัดผลหลังจากทำ Lean แล้ว นอกจากนี้ การทำ Lean ต้องมีการทำอย่างต่อเนื่อง (ย้ำว่าต้องทำอย่างต่อเนื่อง) อย่างน้อย 3-5 ปี เพื่อให้เห็นภาพผลสัมฤทธิ์ได้อย่างชัดเจน

ผลสัมฤทธิ์ของการทำ Lean คือ การลดเวลา ลดค่าใช้จ่าย เพิ่มประสิทธิภาพ และได้นวัตกรรม ดังนั้น หากคนในองค์กรทำ Lean อย่างจริงจัง สิ่งที่เราจะได้รับ คือ เรามีเวลาในการพัฒนาตนเองและพัฒนางานมากขึ้น องค์กรมีรายได้เพิ่มขึ้น งานมีความรวดเร็ว มีประสิทธิภาพมากขึ้น

เมื่อเป็นเช่นนี้หากเราไม่พัฒนาตนเอง Lean เราก็ไม่ทำ จะเกิดอะไรขึ้น วิทยากรทั้งสองท่านตอบคำเดียวกัน คือ สูญพันธุ์ คนที่ไม่พัฒนาย่อมล้าหลัง คลื่นลูกใหม่จะแทนที่คลื่นลูกเก่าเสมอ และด้วยเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าอย่างรวดเร็วจะเข้ามาแทนที่คุณ แทนที่งานที่คุณทำ และทำให้คุณสูญพันธุ์ไปในที่สุด

แล้วคุณจะยอมสูญพันธุ์หรือ?

 

หากสนใจฟังบรรยายในการสัมนาวิชาการนี้ สามารถรับชมได้ที่ http://oarchannel.oas.psu.ac.th/video/โครงการพัฒนาบุคลากรผ่านนวัตกรรม

Rating

Average: 3.5 (2 votes)