การพัฒนาวารสารเข้าสู่ฐานข้อมูล TCI (2)

หลังจากทราบผลการประเมินและอ่านรายละเอียดทั้งหมด ผมเริ่มต้นด้วยการทบทวนว่า ตัวเองพลาดอะไรไปบ้าง แล้วจะปรับการทำงานส่วนใดบ้าง จากนั้นนำประเด็นปัญหาและแนวทางการแก้ไขเรียนปรึกษากับ รศ.อิ่มจิต เลิศพงษ์สมบัติ ผู้ผลักดันให้วารสารวิทยบริการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ขึ้นสู่ TCI 1 พร้อมทาบทามและขอความกรุณาให้ช่วยเป็นบรรณาธิการคนต่อไป (เนื่องจากบรรณาธิการพิเชษฐ เพียรเจริญ กำลังเกษียณอายุราชการ) บทสรุปแนวทางการปรับปรุงแก้ไข มีดังนี้


แนวทางการปรับปรุงแก้ไข

  1. ปรับวัตถุประสงค์และนโยบายการตีพิมพ์ของวารสารให้แคบและชัดเจนยิ่งขึ้น โดยตีพิมพ์บทความ 2 สาขา คือ สารสนเทศ และ สื่อการเรียนรู้ ซึ่งสอดคล้องกับภาระงานของหน่วยงานต้นสังกัดวารสาร (สำนักวิทยบริการ)

  2. ปรับเปลี่ยนบรรณาธิการและกองบรรณาธิการวารสารใหม่ทั้งหมด เนื่องจากวาระของกองบรรณาธิการสิ้นสุดลงในปี พ.ศ.  2562 และปลายปี พ.ศ.  2563 บรรณาธิการวารสาร (นายพิเชษฐ เพียรเจริญ) เกษียณอายุราชการ จึงแจ้งความประสงค์ในการปรับเปลี่ยนบรรณาธิการและกองบรรณาธิการในคราวเดียวกัน เพื่อความสะดวกในการบริหารจัดการวารสาร โดยกองบรรณาธิการต้องมาจากผู้ทรงคุณวุฒิในสาขาที่เกี่ยวข้องจากหลากหลายสถาบัน

  3. ขอใช้บริการระบบจัดการวารสารของ ThaiJo เนื่องจากสามารถเข้าถึงฐานข้อมูลผู้ทรงคุณวุฒิจากหลากหลายวารสารในระบบ ThaiJo ได้ นอกจากนี้ ThaiJo ยังมีบริการที่ออกมาแล้วและกำลังดำเนินการ (อนาคต) ที่เอื้อต่อการดำเนินงานวารสาร เช่น การตรวจสอบการคัดลอกบทความ (Plagiarism) การบันทึกข้อมูลเข้าสู่ฐานข้อมูล TCI แบบ fast track ระบบแนะนำผู้เขียน ระบบแนะนำผู้ทรงคุณวุฒิ เป็นต้น

  4. เปลี่ยนชื่อวารสารใหม่เพื่อให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ นโยบายการตีพิมพ์ และสามารถบ่งบอกถึงตัวตนของวารสารได้ โดยชื่อวารสารใหม่ คือ Journal of Information and Learning [JIL]

  5. ทำการตีพิมพ์บทความที่ผ่านกระบวนการพิจารณาคุณภาพบทความแล้วและกำลังอยู่ในกระบวนการพิจารณาทั้งหมดในปีที่ 31 ฉบับที่ 1 (พ.ศ. 2563) เพื่อเริ่มต้นวารสารใหม่ในปีที่ 31 ฉบับที่ 2 เนื่องจากต้องการเตรียมวารสารในการส่งประเมินเพื่อขอปรับกลุ่มฯ ในเดือนมกราคม 2564

  6. ปรับเปลี่ยนโลโก้ รูปแบบการตีพิมพ์เพื่อรองรับการประเมินปรับกลุ่มวารสาร และการประเมินเข้าสู่ฐานข้อมูล ACI และ SCOPUS ต่อไป (ข้อมูลวารสาร ข้อมูลบทความ ชื่อตาราง ชื่อภาพประกอบ และรายการอ้างอิง ต้องมีภาษาอังกฤษด้วย)

  7. เตรียมข้อมูลวารสาร ข้อมูลการเตรียมต้นฉบับทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ เพื่อเพิ่มโอกาสในการตีพิมพ์เผยแพร่บทความของวารสาร

  8. เพิ่มขั้นตอนการตรวจสอบ Abstract โดยผู้เชี่ยวชาญด้านภาษา

กระบวนการปรับเปลี่ยนวารสาร เช่น การเปลี่ยนบรรณาธิการ กองบรรณาธิการ และการเปลี่ยนชื่อวารสาร ต้องแจ้งข้อมูลให้ทาง TCI ทราบด้วยเสมอ เพื่อให้สามารถเข้ารับการประเมินเพื่อขอปรับกลุ่มฯ ในเดือนมกราคม พ.ศ. 2564 (รอบที่ 4 ครั้งที่ 2) ได้ดังเดิม ส่วนรายละเอียดในการดำเนินการแต่ละประเด็นขออนุญาตไม่กล่าวถึงเพราะมีรายละเอียดที่ยิบย่อยค่อนข้างเยอะ

วารสาร Journal of Information and Learning [JIL] ตีพิมพ์เผยแพร่ต่อจากวารสารวิทยบริการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โดยวารสารฉบับแรกในชื่อ Journal of Information and Learning [JIL] คือ ปีที่ 31 ฉบับที่ 2 พร้อมเริ่มเปิดรับบทความเพื่อพิจารณาตีพิมพ์ในระบบ ThaiJO ในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2563 ซึ่งใช้ระยะเวลาค่อนข้างนานในการปรับปรุงแก้ไข เนื่องจากอยู่ในช่วงของการแพร่ระบาดโควิด 19 รอบแรกด้วย อย่างไรก็ตาม การปรับเปลี่่ยนรูปแบบและปรับกระบวนการทำงานแล้วเสร็จ และพร้อมสำหรับการยื่นขอรับการประเมินเพื่อขอปรับกลุ่มในเดือนมกราคม พ.ศ. 2564 (สิ้นสุดการยื่นเอกสารในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564) และ TCI ประกาศผลการประเมินคุณภาพวารสารที่ส่งมาเพื่อปรับกลุ่มฯในฐานข้อมูล TCI รอบที่ 4 พ.ศ. 2563-2567 ครั้งที่ 2 (2564-2567) เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2564 โดยผลการประเมินวารสาร Journal of Information and Learning ได้รับการรับรองคุณภาพใน TCI 1 อีกครั้ง

ขออนุญาตกล่าวถึงผลการประเมินในการขอปรับกลุ่ม (รอบที่ 4 ครั้งที่ 2) ซึ่งมีระยะเวลาการรับรองคุณภาพวารสารตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2564 ไปจนถึง วันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2567 มีจำนวนวารสารขอรับการประเมินทั้งสิ้น 194 วารสาร วารสารที่ได้รับการรับรองคุณภาพใน TCI 1 จำนวน 88 วารสาร วารสารที่ได้รับการรับรองคุณภาพใน TCI 2 จำนวน 102 วารสาร และวารสารที่ได้รับการรับรองคุณภาพใน TCI 3 จำนวน 4 วารสาร  จะเห็นว่า TCI ยังมีคงความเข้มข้นในการประเมินอยู่เช่นเดิม เนื่องจากมีวารสารไม่ถึงกึ่งหนึ่ง (45.36%) จากที่ส่งประเมินที่ได้รับการรับรองคุณภาพใน TCI 1 

การที่วารสารอยู่ใน TCI 2 เป็นเวลา 1 ปี 6 เดือน ผลกระทบที่เห็นได้ชัดที่สุด คือ จำนวนบทความที่เข้าสู่กระบวนการพิจารณาตีพิมพ์เผยแพร่น้อยลงเป็นอย่างมาก แม้ว่าภายหลังบางมหาวิทยาลัยได้ปรับเกณฑ์การสำเร็จการศึกษาและการยื่นขอตำแหน่งทางวิชาการให้สามารถตีพิมพ์เผยแพร่ผลงานในวารสาร TCI 2 ได้ บวกกับการที่วารสารปรับวัตถุประสงค์และนโยบายการตีพิมพ์ของวารสารให้แคบและชัดเจนยิ่งขึ้น ทำให้บทความน้อยลงจนวารสารฉบับกลางปี พ.ศ. 2564 ไม่สามารถดำเนินการตีพิมพ์ได้ตามกรอบเวลาที่กำหนด เนื่องจากไม่มีบทความที่พิจารณาเสร็จได้ทันเวลา อย่างไรก็ตาม ช่วงเดือนกรกฎาคมถึงสิงหาคมเป็นต้นมา มีบทความเข้าสู่กระบวนการพิจารณามากขึ้นและมีแนวโน้มว่าบทความน่าจะเพียงพอสำหรับการตีพิมพ์ในวารสารฉบับที่ 2 และ 3 ของปีนี้ เพียงแต่ต้องรอให้ผ่านกระบวนการพิจารณาบทความให้เรียบร้อยก่อน

อย่างไรก็ตาม ก.พ.อ. ประกาศหลักเกณฑ์และวิธีการพิจารณาแต่งตั้งบุคคลให้ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ รองศาสตราจารย์ และศาสตราจารย์ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2564 เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2564 เพื่อส่งเสริมและเปิดโอกาสให้ผู้ขอตำแหน่งทางวิชาการ ใช้ผลงานทางวิชาการที่มีความเหมาะสมและยืดหยุ่นมากขึ้น ส่วนตัวผมมองว่าประกาศฉบับนี้มีรายละเอียดที่สั่นคลอนวงการวารสารวิชาการของไทยและ TCI เป็นอย่างมาก จะมีประเด็นใดบ้างติดตามต่อกันในเนื้อหาต่อไป "การพัฒนาวารสารเข้าสู่ฐานข้อมูล TCI (3)" นะครับ

Rating

Average: 5 (1 vote)