เรื่องของครูตชด. (ตำรวจตระเวนชายแดน)
ก่อนอื่นต้องบอกก่อนว่าผมไม่ใช่ตชด. และเขียนด้วยความรู้สึก ความคิดเห็นส่วนตัวเท่านั้นนะครับ
เนื่องจากช่วงเวลาที่ผ่านมาผมได้มีโอกาสได้ลงพื้นที่ไปยังโรงเรียนตชด. ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ด้วยการติดสอยห้อยตามพี่เปิ้ล (อำนาจ สุคนเขตร์) ไปเก็บข้อมูลวิจัยเรื่อง การใช้ซอฟท์แวร์โอเพ่นซอร์ส (Opensource) เพื่อการเรียนการสอนในโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนภาคใต้
แม้ยังเดินทางไปไม่ครบทั้ง 13 โรงเรียน แต่ก็ทำให้ผมได้เห็นเรื่องราวของครูตชด. ผู้ที่อยู่ในชนบทห่างไกลตัวเมือง เราส่วนใหญ่ทราบกันดีว่าตชด. คือผู้ที่มีความเสียสละ อดทน และไม่หวั่นไหวต่อความยากลำบาก เนื่องจากตชด. เกิดขึ้นเพื่อดูแลรักษาความปลอดภัย รวมทั้งการเข้าไปพัฒนาพื้นห่างไกลหรือขอบเขตแดนประเทศ จึงเป็นที่มาของคำว่า "ตำรวจตระเวนชายแดน" และแม้แต่ตชด. ในสามจังหวัดก็เช่นเดียวกัน
โรงเรียนตชด. จะอยู่ในพื้นที่ห่างไกลตัวเมือง จัดตั้งขึ้นเพื่อให้การศึกษาแก่บุตรหลานของคนในชนบทห่างไกล ที่ไม่มีโอกาสเข้าไปศึกษาโรงเรียนในตัวเมือง การทำงานของครูตชด. เป็นมากกว่าครูผู้สอน กล่าวคือ ด้วยงบประมาณที่มีอยู่อย่างจำกัด การอยู่ในพื้นที่ห่างไกล ทำให้โรงเรียนตชด. ต้องพึ่งตัวเองให้มากที่สุด ครูต้องปลูกผัก ปลูกข้าว (บางโรงเรียน) เลี้ยงไก่ เลี้ยงปลา และโครงการอื่นๆ อีกมากมาย แตกต่างกันออกไปตามความเหมาะสมของโรงเรียน การกระทำทุกอย่างไม่ได้เป็นไปเพื่อขายหรือหารายได้ แต่เพื่อการพึ่งตนเองให้มากที่สุด ใช้เป็นอาหารของทั้งครูและนักเรียน และก็เป็นอาหารกลางวันของเด็กๆ นั่นเอง จึงทำให้ครูตชด. เป็นมากกว่าครูผู้สอน แต่เป็นครูผู้เสียสละอย่างแท้จริง
แม้จริงๆ แล้วโรงเรียนตชด. มักได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานต่างๆ มากมาย เช่น หน่วยงานด้านการศึกษา หน่วยงานด้านการส่งเสริมอาชีพ หน่วยงานด้านการเกษตร เป็นต้น ทุกโครงการที่มาทำให้โรงเรียนตชด. ครูตชด.จะต้องเป็นผู้บริหารดูแลด้วยตนเอง ถามจากเพื่อนครูตชด. ก็ได้ความว่าโรงเรียนต้องมีสิ่งเหล่านี้ แม้เหนือยหน่อย แต่โรงเรียนจะอยู่ไม่ได้หากไม่มีสิ่งนี้
บางส่วนของการพึ่งตนเองของโรงเรียนตชด.
นาข้าวของโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน-พีระยานุเคราะห์ 4
นาผักบุ้งและนาข้าวของโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน-พีระยานุเคราะห์ 4
แปลงผักไร้ดินของโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน-พีระยานุเคราะห์ 4
แปลงเกษตรของของโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน-โรงงานยาสูบ
โรงเลี้ยงไก่ของโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน-โรงงานยาสูบ
แปลงเกษตรของของโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน-เฉลิมพระเกียรติ
เมื่อมองเรื่องของการเรียนการสอนโรงเรียนตชด. ก็ดูจะขาดแคลนเรื่องของโครงสร้างพื้นฐาน เมื่อเปรียบเทียบกับโรงเรียนในเมือง เช่น ห้องเรียน อุปกรณ์การเรียนการสอน และที่สำคัญในยุคของเทคโนโลยีก้าวกระโดดเรื่องของอินเทอร์เน็ตเป็นเรื่องที่ขาดแคลนมากที่สุดทุกโรงเรียนไม่มีอินเทอร์เน็ตใช้งานในทุกรูปแบบ สำหรับทางออกของการใช้งานอินเทอร์เน็ตของครูตชด. คือการใช้บริการอินเทอร์เน็ตของเครือข่ายมือถือ (Air Card) ซึ่งแน่นอนว่าไม่ใช่ 3G อีกทั้งความเร็วก็น้อยมาก เนื่องจากอยู่ในพื้นที่ห่างไกล ไกลจากโครงข่ายหลัก จึงทำให้ไกลจากความเร็วไปด้วย
ห้องเรียนตำรวจตระเวนชายแดน-โรงงานยาสูบ
ห้องคอมพิวเตอร์โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน-พีระยานุเคราะห์ 4
สิ่งที่พี่อำนาจกำลังทำอยู่ส่วนหนึ่งก็เรื่องอินเทอร์เน็ตด้วย คืออยากให้โรงเรียนตชด. มีอินเทอร์เน็ตใช้งาน เพื่อให้สามารถเข้าถึงบทเรียนอิเล็คทรอนิกส์จากแหล่งต่างๆ หรือจากที่ครูตชด. ได้สร้างขึ้นเอง นั่นคือเป้าหมายของงานวิจัย
ห้องคอมพิวเตอร์โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน-พีระยานุเคราะห์ 4 (หลังจากการปรับปรุง)
ในการพัฒนาส่วนของครูตชด. จึงได้ทำตั้งแต่การส่งเสริมให้ความรู้ในการสร้างบทเรียนอิเล็คทรอนิกส์ หรือ e-Learning การช่วยเหลือด้านโครงสร้างพื้นฐานให้เหมาะสำหรับการเรียนการสอนโดยใช้ e-Learning แต่ด้วยเรื่องของโครงสร้างต้องใช้งบประมาณค่อนข้างสูง จึงช่วยเหลือได้ตามกำลังความสามารถ ทั้งด้วยการขอรับบริจาควัสดุอุปกรณ์คอมพิวเตอร์จากหน่วยงานในมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ซึ่งเบื้องต้นก็ได้รับความอนุเคราะห์จากหอสมุดจอห์น เอฟ เคนเนดี้ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ศูนย์คอมพิวเตอร์ (วิทยาเขตหาดใหญ่) และโรงเรียนสาธิต มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ก็ต้องขอขอบพระคุณแทนพี่อำนาจมา ณ โอกาสนี้ด้วยครับผม
การเสริมสร้างทักษะทางความรู้ ความคิด ทักษะการสอนให้กับครูตชด. จึงเท่ากับเพิ่มศักยภาพในการพึ่งตนเองให้กับครูตชด. มากยิ่งขึ้น ลดการพึ่งพาปัจจัยภายนอกให้น้อยลง อีกตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือการฝึกอบรมการซ่อมคอมพิวเตอร์ให้กับครูตชด. ด้วยความประสงค์ของครูตชด. เอง เนื่องจากค่าใช้จ่ายในการซ่อมบำรุงคอมพิวเตอร์ค่อนข้างสูง อีกทั้งเครื่องคอมพิวเตอร์ที่มีอยู่ก็มีอายุการใช้งานมานาน ทำให้เกิดปัญหาบ่อยครั้ง ครั้นจะส่งร้านคอมพิวเตอร์ให้ซ่่อมค่าใช้จ่ายก็สูง งบประมาณก็มีจำกัด จึงติดขัดเรื่องนี้มาอย่างยาวนาน การอบรมการซ่อมคอมพิวเตอร์จึงสามารถทำให้ครูตชด. สามารถซ่อมบำรุงคอมพิวเตอร์ได้ด้วยตนเอง ลดการพึ่งพิงปัจจัยภายนอก และพึงตนเองมากขึ้น
อบรมการซ่อมบำรุงคอมพิวเตอร์ครูตชด.
อบรมการซ่อมบำรุงคอมพิวเตอร์ครูตชด.
เมื่อมองเรื่องความปลอดภัยขึ้นชื่นว่าเป็นข้าราชการ ครู ตำรวจ ทหารอยู่สามจังหวัดก็เสี่ยงทั้งหมด เสี่ยงมากเสี่ยงน้อยขึ้นอยู่กับพื้นที่ แถมครูตชด. ก็อยู่ถึง 3 สถานะ (ข้าราชการ ครู ตำรวจ) เสียด้วยจึงมีความลำบากอยู่พอสมควรในความเป็นอยู่และการเดินทาง เวลาเดินทางก็ต้องมีชุดรักษาความปลอดภัยไปด้วยเสมอ แต่เป็นของตชด.เอง ไม่ใช่ชุดของทหาร อย่างเมื่อพี่อำนาจจะลงพื้นที่ก็ต้องประสานงานให้ชุดรักษาความปลอดภัยออกมารอรับนะจุดนัดพบเสมอ อย่างไรก็ตามครูตชด.ก็ยังยืนหยัดทำหน้าที่ ดูแลลูกหลาน ดูแลความปลอดภัย ดูแลชายแดนอย่างมั่นคงเสมอมา ครูตชด.ในพืนที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้จึงเป็นมากกว่าตชด. ในพื้นที่อื่นอีกด้วย
เรื่องราวของครูตชด. ที่นำมาเล่าสู่กันฟังก็ด้วยตระหนักและซาบซึ้งในสิ่งที่ครูตชด. ได้กระทำต่อแผ่นดิน ความทุ่มเทกำลังกาย-ใจ ความอดทนต่อความยากลำบาก และความเหนื่อยยาก ผมในฐานะคนทำงานสนองคุณแผ่นดินเช่นกัน แต่เมื่อเปรียบกับครูตชด. แล้วยังน้อยกว่านัก อย่างไรก็ตามผมยังเชื่อว่าคุณค่าของคนอยู่ที่ผลของงาน และงานของแต่ละคนย่อมมีคุณค่าในตนเองแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับว่าเรามีความจริงใจ และเต็มที่กับงานที่ทำมากแค่ไหน
- Log in to post comments
- 1118 views