การประชุมเพื่อสร้างเครือข่ายพัฒนาคุณภาพวารสารวิชาการไทย ครั้งที่ 9
ศูนย์ดัชนีการอ้างอิงวารสารไทย Thai-Journal Citaion Index Centre (TCI) ได้จัดการประชุมเพื่อสร้างเครือข่ายพัฒนาคุณภาพวารสารวิชาการไทย ครั้งที่ 9 ภายใต้หัวเรื่องภาษาอังกฤษว่า Digitization and Plagiarism Prevention เมื่อวันศุกร์ที่ 11 กันยายน 2558 ณ โรงแรมวินเซอร์ สวีท แอนด์ คอนเวนชั่น
การประชุมมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจและความตระหนักถึงคุณภาพวารสารไทย การพัฒนาระบบบริหารจัดการข้อมูลวารสารผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์และโปรแกรมค้นหาความซ้ำซ้อนของเนื้อหา (Plagiarism) สำหรับวารสารและงานวิชาการไทย การจัดทำฐานข้อมูลย่อยสำหรับบันทึกข้อมูลการอ้างอิงวารสารในเล่มวิทยานิพนธ์ (Thesis Citaion Index) และผลการดำเนินงานตามภารกิจต่างๆ ของ TCI
กองบรรณาธิการวารสารวิทยบริการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้มีโอกาสเข้าร่วมการประชุมดังกล่าว โดยมี นายพิเชษฐ เพียรเจริญ บรรณาธิการวารสาร และนายคณิศร รักจิตร ผู้ช่วยบรรณาธิการฝ่ายจัดการ เข้าร่วมการประชุม
การประชุมแม้มีจะมีเพียงวันเดียว แต่เป็นวันเดียวที่อัดแน่นไปด้วยประเด็นที่น่าสนใจและเป็นประโยชน์สำหรับการพัฒนาวารสารวิชาการไทยเป็นอย่างยิ่ง ดังที่ TCI ให้คำจำกัดความการประชุมครั้งนี้ไว้ว่า Digitization and Plagiarism Prevention (ตามหัวเรื่องภาษษาอังกฤษ)
คำว่า Digitization นั้น มาจากการพัฒนาระบบบริหารจัดการข้อมูลวารสารผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์และโปรแกรมค้นหาความซ้ำซ้อนของเนื้อหาสำหรับวารสารและงานวิชาการไทย ซึ่งเป็นการทำงานร่วมกันของ TCI และ NECTEC ในการพัฒนาระบบบริหารจัดการข้อมูลวารสารผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ วิทยากรคือ คุณศรีจันทร์ จันทร์ชีวะ (TCI) และ ดร.ชูชาติ หฤไชยะศักดิ์ (NECTEC)
คุณศรีจันทร์ จันทร์ชีวะ ได้กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ TCI ใช้คนในการทำ index บทความในวารสารทั้งหมด ซึ่งประกอบด้วยวารสารสาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี 276 รายการ และวารสารสาขามนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ 335 รายการ รวมทั้งสิ้น 611 รายการ ซึ่งต้องใช้คนในการจัดทำเป็นจำนวนมาก ใช้เวลาและค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นค่อนข้างสูง อีกทัั้งมีความผิดพลาด การจัดทำระบบ index ข้อมูลวารสารจะทำให้ลดภาระของคนทำงานลง ลดเวลา ค่าใช้จ่าย และความผิดพลาด นอกจากนี้ผลโดยตรงที่กองบรรณาธิการวารสารทุกฉบับได้รับคือ ไม่ต้องส่งตัวเล่มวารสารให้ TCI อีกแล้ว
หัวใจสำคัญของการจัดทำระบบนี้ คุณศรีจันทร์ จันทร์ชีวะ ให้นิยามว่า Create -> Connect -> Share -> Utilization คือ ทุกวารสารร่วมกันสร้างคลังข้อมูลวารสารวิชาการไทย เชื่อมโยงกันเป็นหนึ่งเดียว นำไปสู่การแบ่งปัน และใช้ประโยชน์ร่วมกัน (ประโยชน์ต่อห้องสมุดสถาบันอุดมศึกษาทัั้งประเทศด้วย) นอกจากนี้ สิ่งที่ได้ตามมาอีกประการก็คือ การตรวจสอบความซ้ำซ้อนของบทความที่อาจเกิดขึ้น ตัวอย่างเช่น การที่ผู้เขียนส่งบทความฉบับเดียวไปตีพิมพ์หลายวารสารก็ไม่สามารถทำได้ ซึ่งเป็นการป้องกันความเสียหายที่เกิดขึ้นกับวารสารเอง รวมทั้งการป้องกันการคัดลอกถ้อยคำ ข้อความ และงานของผู้อื่น โดยไม่มีการอ้างอิง หรือ ที่เรียกว่า การโจรกรรมทางวรรณกรรม (Plagiarism) ซึ่งตัวระบบบริหารจัดการข้อมูลวารสารผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์และโปรแกรมค้นหาความซ้ำซ้อนของเนื้อหานี้ก็สามารถตรวจสอบและป้องกันได้เช่นกัน
ดร.ชูชาติ หฤไชยะศักดิ์ ได้แนะนำแนวคิดและกระบวนการทำงานของตัวระบบ เนื่องจากก้าวต่อไปของ TCI มองว่าเป็นยุคของการจัดทำวารสารอิเล็กทรอนิกส์ โดยผลักดันให้วารสารทุกวารสารมีระบบการส่งบทความ (submission) ระบบการพิจารณาบทความ (peer review) และระบบเผยแพร่บทความ (publish article) ผ่านทางระบบอิเล็กทรอนิกส์หรือออนไลน์ทั้งหมด ตัวระบบบริหารจัดการข้อมูลวารสารผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์และโปรแกรมค้นหาความซ้ำซ้อนของเนื้อหานี้จึงจะเข้ามาสอดรับการทำงานของวารสารอิเล็กทรอนิกส์ด้วย กระบวนการทำงานจะเป็นการนำไฟล์ pdf (ต้องไม่ใช่ไฟล์ที่ได้มาจากการแสกน) เข้าสู่ตัวระบบ ระบบทำการเก็บข้อมูล metadata บทความใน field ต่างๆ ดังนี้ ชื่อบทความ ชื่อผู้เขียน หน่วยงานผู้เขียน บทคัดย่อ คำสำคัญ บทนำ เนื้อหา และเอกสารอ้างอิง ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ สิ่งที่ทาง TCI ขอความร่วมมือจากกองบรรณาธิการเริ่มต้นตรงนี้ คือ การขอให้มีการจัดรูปแบบบทความหรือการจัดหน้าบทความที่เป็นมิตรกับตัวระบบ หรือพูดในนัยหนึ่งว่า จัดหน้าบทความอย่างไรที่จะทำให้ตัวระบบเข้ามาเก็บข้อมูล metadata ได้อย่างถูกต้อง หมายความว่า วารสารทุกฉบับต้องปรับรูปแบบการจัดหน้าบทความให้เหมือนกันหรือไม่ TCI ตอบว่า ไม่ต้องถึงขนาดนั้น แต่ให้แนวทางหรือหลักการในการจัดหน้าบทความไว้คร่าวๆ ดังนี้
- กำหนดชื่อ field ต่างๆ ให้ถูกต้อง ตรงกัน ทั้งภาษาไทย-อังกฤษ ดังนี้ บทคัดย่อ=Abstract, คำสำคัญ=Keywords, บทนำ=Introduction, เอกสารอ้างอิง=References
- กำหนดขนาด font ให้มีขนาดแตกต่างกันอย่างน้อย 3pt ในส่วนของชื่อบทความ ชื่อผู้เขียน และหน่วยงานผู้เขียน ขนาดที่แนะนำคือ ชื่อบทความใช้ขนาด 18pt ชื่อผู้เขียนควรใช้ขนาด 15pt และเป็นตัวหนา (bold) ทั้งคู่ และที่สนใจที่สุดคือ ส่วนของหน่วยงานผู้เขียน ซึ่งทาง TCI อยากให้อยู่ข้างใต้ชื่อผู้เขียน แต่วารสารหลายฉบับ (รวมทั้งวารสารวิทยบริการด้วย) อยู่ด้านล่างในลักษณะเชิงอรรถ ทั้งนี้ทาง TCI ก็ไม่ได้บังคับให้เปลี่ยนเสียทีเดียวสำหรับวารสารที่ไม่ต้องการเปลี่ยนตัวแหน่งดังกล่าว แต่ขอให้เขียนชื่อ field กำกับไว้ว่า หน่วยงานผู้แต่ง หรือ Affiliations ด้วยเสมอ และขอให้ตัดในส่วนของคำนำหน้าชื่อ ตำแหน่งทางวิชาการ ออกทั้งหมด คงไว้เฉพาะชื่อหน่วยงานเท่านั้น
- การเขียนรายการเอกสารอ้างอิงให้ใช้รูปแบบมาตรฐานเช่น APA Style, Chicago Style, MLA Style
ตัวอย่างการจัดหน้าบทความที่ระบบสามาถเข้ามาเก็บข้อมูล metadata ได้อย่างถูกต้อง
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้อยู่ในระหว่างการพัฒนาระบบ TCI ชี้แจง แจ้งเพื่อทราบและขอความร่วมมือวารสารทุกฉบับที่อยู่ในฐานข้อมูล TCI เพื่อการ Digitization วารสารในปี 2559 (คาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้)
สรุปสิ่งที่กองบรรณาธิการวารสารต้องเตรียมความพร้อม เพื่อการ Digitization วารสารในปี 2559
- การจัดทำระบบวารสารอิเล็กทรอนิกส์ของตนเอง หรือ อาจใช้ระบบ ThaiJO ที่ทาง TCI นำตัว OJS มาติดตั้งเพื่อให้วารสารต่างๆ เข้าไปขอใช้บริการได้
- การจัดรูปแบบบทความให้เป็นมิตรกับตัวระบบบริหารจัดการข้อมูลวารสารผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์และโปรแกรมค้นหาความซ้ำซ้อนของเนื้อหา ซึ่งรายละเอียดได้กล่าวไปแล้ว
รายละเอียดของตัวโปรแกรมค้นหาความซ้ำซ้อนของเนื้อหาที่ผมยังไม่ได้พูดถึงนั้น ทาง NEDTEC ให้ชื่อว่า CopyCat เป็นโปรแกรมค้นหาความซ้ำซ้อนของเนื้อหา ซึ่งใช้ข้อมูลในการค้นหาความซ้ำซ้อนจากฐานข้อมูลวารสารที่วารสารต่างๆ Digitization ข้อมูลเข้าสู่ระบบ พูดง่ายๆ ก็คือ Digitization ครั้งเดียวใช้ประโยชน์ได้ 2 ทาง ซึ่งทาง TCI ให้ใช้ฟรี
หัวข้อการประชุมเรื่อง การจัดทำฐานข้อมูลย่อยสำหรับการบันทึกข้อมูลและการอ้างอิงวารสารในเล่มวิทยานิพนธ์ (Thesis Citation Index) โดย ศ.ดร.ณรงค์ฤทธิ์ สมบัติสมภพ หัวหน้าศูนย์ดัชนีการอ้างอิงวารสารไทย และคุณศรีจันทร์ จันทร์ชีวะ ผู้ช่วยหัวหน้าศูนย์ดัชนีการอ้างอิงวารสารไทยวารสารด้านมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ในหัวข้อนี้เป็นการขอมติและถามความคิดเห็นที่ประชุมว่าควรทำหรือไม่ ศ.ดร.ณรงค์ฤทธิ์ สมบัติสมภพ ก็กล่าวถึงที่มาและเหตุผลว่าทำไมต้องจัดทำฐานข้อมูลการอ้างอิงวารสารในเล่มวิทยานิพนธ์ คือ ต้องการให้มีการตรวจสอบการอ้างอิง (Citation) ที่กว้างขวางขึ้น มีการอ้างอิงบทความในวารสารที่ใดบ้าง เพื่อให้ตัวเลข impact factor มีความถูกต้อง เที่ยงตรงมากขึ้น และอาจมีตัวเลขสูงขึ้นด้วย อย่างไรก็ตาม การกำหนดเกณฑ์ในการเล่มวิทยานิพนธ์มาตรวจสอบการอ้างอิงและลิขสิทธิ์ของตัวเล่มที่บัณฑิตวิทยาลัยเป็นผู้ถือสิทธิ์นั้น ในที่ประชุมมีความเห็นที่ต่างกันอยู่พอสมควรและได้เสนอให้ ศ.ดร.ณรงค์ฤทธิ์ สมบัติสมภพ พิจารณาหลักเกณฑ์และประสานงานผู้เกี่ยวข้องอีกครั้ง อย่างไรก็ตาม มติที่ประชุมเห็นชอบให้มีการจัดทำฐานข้อมูลย่อยสำหรับการบันทึกข้อมูลและการอ้างอิงวารสารในเล่มวิทยานิพนธ์ (Thesis Citation Index)
หัวข้อการประชุมถัดมาเป็นการเชิญบรรณาธิการวารสารที่มีความโดดเด่นในการดำเนินงานและประสบความสำเร็จ มานำเสนอแนวทางการดำเนินงาน วิธีการที่ทำให้วารสารประสบความสำเร็จ จำนวน 3 ท่าน ได้แก่ ดร.วสุ ปฐมอารีย์ บรรณาธิการวารสาร Chiang Mai Journal of Science, รศ.ทพ.ดร.ธีระศักดิ์ ดำรงรุ่งเรือง บรรณาธิการ วิทยาสารทันตแพทยศาสตร์, ดร.ชนะศึก นิชานนท์, บรรณาธิการวารสารวิจัย มสด สาขาสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ แม้ทั้ง 3 วารสารเป็นวารสารที่มีสาขาแตกต่างกันไม่ว่าจะเป็นด้านวิทยาศาสตร์ ทันตแพทย์ศาสตร์ และสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ในการดำเนินงานมีงบประมาณในการดำเนินงานบ้าง ไม่มีบ้าง แต่สิ่งที่บรรณาธิการทั้ง 3 วารสารมีเหมือนกัน คือ การทำงานด้วยใจ และเสียสละเวลาในการทำงานสูง เนื่องจากงานวารสารเป็นงานที่ค่อนข้างใช้เวลาในการทำงานมาก มีรายละเอียดของงานที่ต้องตรวจสอบดูแลอย่างรอบคอบ ทั้งการตรวจสอบบทความ การตรวจสอบผลการพิจารณาของผู้ทรงคุณวุฒิ (peer) การตรวจสอบผลการแก้ไขบทความของผู้เขียน การติดต่อประสานงานกับกองบรรณาธิการ ผู้ทรงคุณวุฒิ และผู้เขียน เหล่านี้เป็นต้น บรรณาธิการที่ดูแลวารสารจึงต้องทำงานนี้ด้วยใจที่รักด้วย เพราะต้องทุ่มเทแรงกายและเวลาเป็นอย่างมากในการทำงานวารสาร
ช่วงบ่ายเป็นการบรรยายพิเศษเรื่อง "Digitization and Plagiarism in international publishling" โดย Mr. Derrick Duncombe จาก Elsevier เรียนตามตรงว่า เนื่องจากการบรรยายเป็นภาษาอังกฤษผม (ภาษาอังกฤษอ่อนมาก) จึงไม่สามารถจับประเด็นสำคัญของการบรรยายได้ทั้งหมด อาศัยแค่การอ่านจาก presentation เท่านั้น อย่างไรก็ตาม การบรรยายนี้ทำให้ผมเห็นว่าการผลักดันวารสารให้เป็นวารสารอิเล็กทรอนิกส์เป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง เพราะจะนำไปสู่การใช้ประโยชน์ทางวิชาการอย่างกว้างขวาง และที่สำคัญสามารถนำไปสู่การโจรกรรมทางวรรณกรรม (plagiarism) ซึ่งทางวารสารระดับ international ให้ความสำคัญและตรวจสอบเรื่องนี้อย่างเข้มข้นเป็นอย่างมาก
หลังจากนั้นเป็นรายงานสถานภาพภารกิจของศูนย์ดัชนีการอ้างอิงวารสารไทย (Update on TCI Activities) โดย ผศ.ธีระศักดิ์ หมากผิน และ คุณชาตรี วงษ์แก้ว การประกาศรายชื่อวารสารที่อยู่ในฐานข้อมูล TCI ทั้งสาขาวิทยาศาสตร์ และสาขามนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ การให้บริการ ThaiJO และ ASEAN Citation Index (ACI) ข้อมูลส่วนใหญ่ก็สามารถดูได้จากเว็บไซต์ของ TCI ฉะนั้นผมขออนุญาตข้ามการกล่าวถึงรายละเอียด
สุดท้ายเป็นการเปิดโอกาสให้มีการถาม-ตอบ ปัญหาข้อสงสัย ก็มีหลายคำถามที่น่าสนใจและเป็นประโยชน์กับการดำเนินงานวารสาร ดังนี้
- วารสารที่อยู่กลุ่ม 1 จะเข้าไปอยู่ในฐานข้อมูล ACI โดยอัตโนมัติหรือไม่ คำตอบ จะทะยอยพิจารณาวารสารที่อยู่ในกลุ่ม 1 และเข้าหลักเกณฑ์ก่อน หลักเกณฑ์ คือ บทความต้องมีข้อมูลที่เป็นภาษาอังกฤษ ดังนี้ ชื่อเรื่อง ชื่อผู้เขียน ที่อยู่ผู้เขียน บทคัดย่อ คำสำคัญ และเอกสารอ้างอิง หลังจากเข้าฐานข้อมูล ACI ไปแล้วสิ่งที่ต้องทำคือ การมีกองบรรณาธิการที่เป็นนักวิชาการต่างประเทศอย่างน้อย 50 เปอร์เซ็น
- วารสารภาษาไทยเข้าฐานข้อมูล ACI ได้หรือไม่ คำตอบ ได้ แต่ต้องมีหลักเกณฑ์ที่กล่าวถึงในข้อ 1 ครบถ้วน
- วารสารจะตีพิมพ์ข้ามปีได้หรือไม่ คำตอบ ไม่ได้ วารสารควรมีการตีพิมพ์ที่อยู่ในรอบ 1 ปี เท่านั้น ไม่ควรตีพิมพ์คร่อมปีหรือตีพิมพ์ตามปีงบประมาณ (TCI ให้วารสารปรับเป็นแบบนี้ทั้งหมด) ทั้งนี้ถ้าถามว่าวารสารนี้อยู่ปีไหนหากตีพิมพ์คร่อมปีคุณจะตอบว่าอยู่ปีไหนได้อย่างไร
- วารสารที่อยู่กลุ่ม 2 และ 3 จะมีการประเมินเพื่อเข้ากลุ่ม 1 หรือไม่ คำตอบ มีการประเมินวารสารอีกครั้งในเดือนมิถุนายน 2559 โดยจะใช้ข้อมูลในการประเมินวารสารตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2558 ถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2559 รายละเอียดติดตามได้ทางเว็บไซต์ของศูนย์ TCI
- ทำไมวารสารบางฉบับที่มีคุณภาพตกไปอยู่กลุ่ม 2 และ 3 คำตอบ การประเมินวารสารเป็นไปตามหลักเกณฑ์การประเมินวารสารที่สากลใช้ ถ้าตกก็ตกเพราะวารสารไม่อยู่ในเกณฑ์ดังกล่าว
- Log in to post comments
- 69 views