สรุปการประชุมวิชาการเครือข่ายการพัฒนาคุณภาพวารสารวิชาการไทย ครั้งที่ 14 (The 14th Symposium for Thai Journal Development Network)
จากการเข้าร่วมการประชุมวิชาการเครือข่ายการพัฒนาคุณภาพวารสารวิชาการไทย ครั้งที่ 14 ในวันพุธที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2566 ณ ห้องรอยัล จูบิลี่ บอลรูม อาคารชาเลนเจอร์ อิมแพค เมืองทองธานี จังหวัดนนทบุรี ซึ่งจัดโดย ศูนย์ดัชนีการอ้างอิงวารสารไทย [Thai-Journal Citation Index (TCI) Centre] ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) สถาบันนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (STIPI) แห่งมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) และศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ผู้เข้าร่วมประชุมประมาณ 1,200 คน
ภาพรวมการประชุม
เริ่มต้นการประชุมจะเป็นการบรรยายพิเศษจากผู้ทรงคุณวุฒิในหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งทำให้เห็นภาพรวมและแนวทางในอนาคตของการพัฒนาวงการวิชาการและวารสารวิชาการไทย โดยการบรรยายมีหัวข้อต่างๆ ดังนี้
- นโยบายการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศ โดย ศ.นพ.สุทธิพร จิตต์มิตรภาพ ประธานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
- สามทศวรรษของ TCI การก้าวสู่อนาคต โดย ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร ที่ปรึกษาศูนย์ดัชนีการอ้างอิงวารสารไทย (TCI)
- ระบบวิจัยและนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับฐานข้อมูลงานวิจัยของประเทศ โดย รศ. ดร.พงศ์พันธ์ แก้วตาทิพย์ รองผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.)
- การนำเทคโนโลยีมาช่วยพัฒนายกระดับคุณภาพผลงานวิจัยทางวิชาการของไทย โดย ศ.ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)
- Scopus as the Trusted, High-Quality Research Data Source for Journal Editors โดย Ms.Tracy Chen, Senior Product Manager, Content and Policy, Elsevier, Netherlands
- An Interdisciplinary Approach to Research and Journal Development โดย Prof.Julie Li, City University of Hong Kong, Hong Kong SAR; CSAB Chair-Business, Management & Accounting; Economics, Econometrics & Finance
- กระบวนการ ผลลัพธ์ และบทเรียนจากโครงการพัฒนาคุณภาพวารสารไทยสู่ฐานข้อมูล Scopus โดย ศ.ดร.ณรงค์ฤทธิ์ สมบัติสมภพ หัวหน้าศูนย์ดัชนีการอ้างอิงวารสารไทย
- ระบบวิเคราะห์ข้อมูลผลงานวิจัยของประเทศไทย Thailand Research Analysis and Performance (ThaiRAP) โดย ดร.กริช นาสิงห์ขันธุ์ นักวิจัย ฝ่ายสนับสนุนบริการทางวิศวกรรมและเทคโนโลยี เนคเทค และ ศ.ดร.ณรงค์ฤทธิ์ สมบัติสมภพ หัวหน้าศูนย์ดัชนีการอ้างอิงวารสารไทย
- การบริหารจัดการวารสารไทยในระบบ Thailand Editorial System (ThaiES) โดย ดร.กริช นาสิงห์ขันธ์ นักวิจัย ฝ่ายสนับสนุนบริการทางวิศวกรรมและเทคโนโลยี เนคเทค และ คุณสุตพิชญ์ชา ธงดาชัย นักสารสนเทศ ศูนย์ดัชนีการอ้างอิงวารสารไทย
- แนวคิดการพัฒนาและเชิดชูผู้ทรงคุณวุฒิประเมินบทความในวารสารไทย (Reviewer Recognition) โดย ศ.ดร.ณรงค์ฤทธิ์ สมบัติสมภพ หัวหน้าศูนย์ดัชนีการอ้างอิงวารสารไทย
- ร่างเกณฑ์ประเมินคุณภาพวารสารในฐานข้อมูล TCI รอบที่ 5 (พ.ศ. 2568-2572) โดย รศ.ธีระศักดิ์ หมากผิน และ คุณสันติ อิทธิฤทธิ์มีชัย ศูนย์ดัชนีการอ้างอิงวารสารไทย (TCI)
ประเด็นสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานวารสาร
1. แนวทางการพัฒนาคุณภาพวารสารสู่ฐานข้อมูล Scopus
ศ.นพ.สุทธิพร จิตต์มิตรภาพ กล่าวว่า การที่วารสารไทยเข้าสู่ฐานข้อมูล Scopus เป็นเรื่องที่ยากมาก ประเทศเทศไทยโชคดีที่ได้ TCI จัดโครงการเพื่อผลักดันวารสารไทยให้มีการพัฒนาคุณภาพทัดเทียมวารสารนานาชาติ เช่น การพัฒนาศักยภาพและเพิ่มผลผลิต/การอ้างอิงของผลงานวิจัยในมหาวิทยาลัยไทยสู่ฐานข้อมูลสากล” (2560-2563), การพัฒนาระบบและปรับปรุงคุณภาพวารสารไทยในฐานข้อมูล Scopus (2563-2565), การพัฒนาระบบและปรับปรุงคุณภาพวารสารไทยในฐานข้อมูล Scopus ระยะที่ 2 (2566-2568), และการพัฒนาคุณภาพวารสารไทยเพื่อบรรจุในฐานข้อมูล Scopus ปี ค.ศ. 2023-2025 (2566-2568)
ที่มา: กระบวนการ ผลลัพธ์และบทเรียนจากโครงการพัฒนาคุณภาพวารสารไทยสู่ฐานข้อมูล Scopus
จากภาพจะเห็นว่า TCI มีโครงการที่ดำเนินการเสร็จเรียบร้อยแล้วและโครงการที่กำลังดำเนินการอยู่ โดยแต่ละโครงการนั้น TCI จะคัดเลือกจากวารสารที่อยู่ในฐานข้อมูล TCI กลุ่มที่ 1 ซึ่งมองเห็นศักยภาพที่จะพัฒนาไปสู่ระดับนานาชาติได้ต่อไป และด้วยงบประมาณที่มีอยู่จำกัดในแต่ละโครงการจึงคัดเลือกวารสารเพียงจำนวน 40 วารสารเท่านั้น เนื่องจาก TCI ต้องส่งต่องบประมาณในการบริหารจัดการให้กับวารสารเพื่อพัฒนาการดำเนินงานวารสาร เช่น การจ้าง native English speaker, การจ้างเจ้าหน้าที่ประจำดูแลกระบวนการ peer review และการเพิ่มความเข้มข้นกระบวนการตรวจสอบคุณภาพบทความ
สำหรับองค์ประกอบอื่นๆ ในการคัดเลือกวารสารเพื่อเข้าสู่โครงการ TCI ให้ข้อมูลว่า ขอให้ส่วนประกอบบทความเป็นภาษาอังกฤษ ได้แก่ ชื่อบทความ ชื่อผู้เขียน สังกัดผู้เขียน บทคัดย่อ คำสำคัญ ตาราง ภาพประกอบ และเอกสารอ้างอิง นอกจากนี้ TCI ยังได้นำเสนอแนวทางการคัดเลือก 40 วารสารที่เข้าร่วมโครงการ "การพัฒนาคุณภาพวารสารไทยเพื่อบรรจุในฐานข้อมูล Scopus ปี ค.ศ. 2023-2025 (2566-2568)" โดยมีจุดเด่น 3 ลักษณะ ดังนี้
- วารสารที่มีความเป็นนานาชาติ (Internationality) โดยเน้นวารสารที่ตีพิมพ์บทความในสาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี วิทยาศาสตร์ชีวภาพและสุขภาพ เป็นต้น
- วารสารที่ตีพิมพ์บทความที่เกี่ยวข้องกับความเป็นอาเซียนหรือความเป็นเอเชีย (ASEAN & Asian)
- วารสารที่ตีพิมพ์บทความเฉพาะทาง (Unique & local) โดยเน้นบทความที่เกี่ยวข้องกับเอกลักษณ์ความเป็นไทย ศิลปวัฒนธรรม ศาสนาตะวันออก และการวิจัยเชิงพื้นที่หรือชุมชน เป็นต้น
ที่มา: กระบวนการ ผลลัพธ์และบทเรียนจากโครงการพัฒนาคุณภาพวารสารไทยสู่ฐานข้อมูล Scopus
สิ่งที่เป็นความท้าทายของ TCI และ Scopus ในการดำเนินโครงการนี้ คือ การคัดเลือกวารสารที่ตีพิมพ์ด้านมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ (Social Sciences) ซึ่งตีพิมพ์บทความเฉพาะทาง (Unique & local) และตีพิมพ์บทความภาษาไทย เพื่อพัฒนาคุณภาพวารสารและส่งเข้าสู่ฐานข้อมูล Scopus ต่อไป หากสามารถเข้าสู่ฐานข้อมูล Scopus ได้สำเร็จ นับว่าเป็นเรื่องน่ายินดีกับวารสารที่ตีพิมพ์ภาษาไทย และเกี่ยวข้องกับเอกลักษณ์ความเป็นไทย ศิลปวัฒนธรรม ศาสนาตะวันออก และการวิจัยเชิงพื้นที่หรือชุมชน ที่จะมีแนวทางในการพัฒนาคุณภาพวารสารเพื่อเข้าสู่ฐานข้อมูล Scopus ได้ต่อไป
นอกจากนี้ โครงการพัฒนาดังกล่าวมีการผลิดอกออกผลเป็นระบบต่าง ๆ เช่น ThaiRAP, ThaiES, Reviewer pool/Reviewer finder, Content alerts, และ Reviewer recognitions and certifications ซึ่งระบบเหล่านี้สามารถช่วยเสริมประสิทธิภาพการดำเนินงานวารสารให้มีคุณภาพมากขึ้น โดยจะกล่าวรายละเอียดของระบบต่างๆ ในหัวข้อ "สิ่งที่ได้รับจากการที่วารสารอย่ใน TCI กลุ่มที่ 1" ต่อไป
ทั้งนี้ Tracy Chen ได้ระบุถึง เกณฑ์ในการคัดเลือกวารสารเข้าสู่ฐานข้อมูล Scopus ซึ่งเป็นทั้งเกณฑ์เชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ ซึ่งเกณฑ์ส่วนใหญ่ก็จะสอดคล้องกับเกณฑ์การประเมินคุณภาพของ TCI อยู่แล้ว เพียงแต่ภาพการประเมินจะเป็นระดับนานาชาติมากขึ้น เช่น กองบรรณาธิการและผู้เขียนต้องมาจากหลากหลายประเทศ จำนวนการอ้างอิงในฐานข้อมูล Scopus และหน้าเว็บไซต์วารสารเป็นภาษาอังกฤษ เป็นต้น
ที่มา: Scopus as the Trusted, High-Quality Research Data Source for Journal Editors
อีกประเด็นหนึ่งที่ทำให้วารสารไทยส่วนใหญ่โดนมองข้ามเมื่อพูดถึงการเข้าสู่ฐานข้อมูล Scopus ก็คือ การเป็นวารสารสหสาขาวิชา Prof.Julie Li ให้ข้อมูลว่า การพัฒนาวารสารที่เป็นสหสาขาวิชาเพื่อเข้าสู่ฐานข้อมูล Scopus สามารถทำได้ เนื่องจากปัญหาที่สังคมเผชิญอยู่มีความซับซ้อน ไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยความรู้เพียงสาขาเดียว จึงต้องอาศัยการผสมผสานความองค์ความรู้จากหลากหลายสาขา เพื่อให้เกิดการค้นพบใหม่ๆ ในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น โดยวารสารต้อง 1) กําหนดขอบเขตและจุดเน้นของวารสาร รวมทั้งการรวบรวมนักวิชาการและนักวิจัยจากหลากหลายสาขาวิชา 2) รวบรวมทีมบรรณาธิการ โดยทีมบรรณาธิการควรมีภูมิหลังทางวิชาการและความเชี่ยวชาญที่แตกต่างกัน 3) สร้างเครือข่ายนักวิชาการ เพื่อให้นักวิชาการและนักวิจัยในสาขาวิชาต่างๆ ส่งบทความตีพิมพ์กับวารสาร และ 4) ติดตามและประเมินผล โดยพิจารณาโอกาสและความท้าทายในการตีพิมพ์บทความข้ามสาขาวิชา รวมทั้งพัฒนากลยุทธ์เพื่อจัดการกับความท้าทายเหล่านี้
ที่มา: An Interdisciplinary Approach to Research and Journal Development
2. สิ่งที่ได้รับจากการที่วารสารอยู่ใน TCI กลุ่มที่ 1
ที่มา: สามทศวรรษของ TCI การก้าวสู่อนาคต
บทบาทของ TCI ในการพัฒนาคุณภาพวารสารวิชาการไทยตั้งแต่ปี 2544 จนกระทั่งปัจจุบัน มีผลสัมฤทธิ์ที่เป็นรูปธรรม โดยระยะหลัง TCI ให้ความสำคัญกับการจัดการวารสารออนไลน์ ระบบสนับสนุนกระบวนการทำงานของวารสาร รวมทั้งการบริหารข้อมูลบทความและวารสารวิชาการของประเทศ เช่น ThaiJO, Fast-track indexing System เป็นต้น ที่สำคัญในปลายปี พ.ศ. 2566 TCI จะเปิดการใช้งานระบบต่างๆ เพิ่มเติม (อยู่ระหว่างการทดลองใช้งาน/อยู่ระหว่างการพัฒนา) ซึ่งสามารถใช้งานได้ฟรี แต่บางระบบจำกัดการใช้งานเฉพาะวารสารที่อยู่ใน TCI กลุ่มที่ 1 เท่านั้น เช่น ThaiRAP, ThaiES, Reviewer pool/Reviewer finder, Content alerts, และ Reviewer recognitions and certifications โดยแต่ละระบบมีรายละเอียด ดังนี้
ThaiRAP
ThaiRAP คือ ระบบวิเคราะห์ข้อมูลผลงานวิจัยของประเทศไทย (Thailand Research Analysis and Performance: ThaiRAP) ThaiRAP เป็นระบบที่มีความสามารถและการทำงานลักษณะเดียวกับ SciVal ของ Scopus เพียงแต่ ThaiRAP เป็นการมองข้อมูลภายในประเทศไทยเท่านั้น ซึ่งในการประมวลผลจะใช้ข้อมูลจาก Fast-track indexing System ที่แต่ละวารสารส่งข้อมูลการตีพิมพ์บทความเข้าไปทุกๆ ฉบับ
ที่มา: ระบบวิเคราะห์ข้อมูลผลงานวิจัยของประเทศไทย Thailand Research Analysis and Performance (ThaiRAP)
ความสามารถของระบบ
- วิเคราะห์ภาพรวม สมรรถนะด้านการวิจัยของ นักวิจัย สถาบันวิจัย วารสารเช่น จำนวนการตีพิมพ์ จำนวนการอ้างอิง สาขาที่เชี่ยวชาญ เป็นต้น
- เปรียบเทียบสมรรถนะด้านการวิจัยระหว่างสถาบันหรือนักวิจัย
- วิเคราะห์เพื่อหาความร่วมมือด้านการวิจัยระหว่างสถาบันหรือนักวิจัย
- วิเคราะห์จุดแข็งและจุดอ่อนของหัวข้อวิจัย หรือพื้นที่วิจัยที่กำลังดำเนินการหรือต้องการดำเนินการ
- อ้างอิงข้อมูลที่ผ่านการตรวจสอบจากฐานข้อมูล TCI
ระบบ ThaiRAP ขณะนี้อยู่ระหว่างการทดลองใช้โดยหน่วยงานต่างๆ จำนวน 30 วารสาร และคาดว่าจะเปิดให้วารสารที่อยู่ใน TCI กลุ่มที่ 1 ได้ใช้งานในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2566 นี้ สำหรับหน้าตาของระบบก็ดูสวยงามและน่าใช้งาน
ที่มา: ระบบวิเคราะห์ข้อมูลผลงานวิจัยของประเทศไทย Thailand Research Analysis and Performance (ThaiRAP)
ThaiES
ThaiES คือ ระบบ Thailand Editorial System (ThaiES) ซึ่งเป็นโปรแกรมเสริมเพิ่มเติมจากระบบ ThaiJO เช่น Theme ของเว็บไซต์, Plagiarism Checker, Reviewer finder, Report เป็นต้น ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและความสามารถในการบริหารจัดการวารสารออนไลน์ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นจากระบบ ThaiJO โดย Theme ของเว็บไซต์ จะมีรูปแบบการแสดงผลที่ให้เลือกใช้มากขึ้น ส่วนของ Plagiarism Checker จะสามารถตรวจสอบกับบทความที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของทุกวารสารในระบบ ThaiJO (ไม่ใช่ตรวจสอบกับบทความที่ได้รับตีพิมพ์แล้วเพียงอย่างเดียว) ซึ่งจะช่วยป้องกันการส่งบทความตีพิมพ์ซ้ำซ้อนของผู้เขียนได้ สำหรับ Reviewer finder จะเป็นระบบที่รวบรวมรายชื่อผู้ทรงคุณวุฒิจากระบบ ThaiJO ในทุกโดเมนมาอยู่ในที่เดียว เพื่อให้ง่ายในการค้นหาและใช้งานผู้ทรงคุณวุฒิมากยิ่งขึ้น และ Report จะมีรูปแบบการรายงานที่มีรายละเอียดเชิงลึกมากขึ้น
ที่มา: การบริหารจัดการวารสารไทยในระบบ Thailand Editorial System (ThaiES)
นอกจากนี้ ความสามารถของระบบอื่นๆ ประกอบด้วย การแสดงข้อความแจ้งสถานะของบทความ, Stage: Submission, Review, Copyediting, Production จะแสดงเมื่อถึง Stage นั้นเท่านั้น, Stage: Incomplete ตำแหน่งบรรณาธิการ (Journal Editor) สามารถลบบทความได้, และ Stage: Copyediting, Production Dashboard ของบรรณาธิการ (Journal Editor) แสดงวันที่ตอบรับบทความ (Accepted Date)
สำหรับการเปิดให้ใช้งานระบบขณะนี้จะเป็นในส่วนของวารสารที่อยู่ในโครงการ "การพัฒนาระบบและปรับปรุงคุณภาพวารสารไทยในฐานข้อมูล Scopus ระยะที่ 2 (2566-2568) ”, “การพัฒนาคุณภาพวารสารไทยเพื่อบรรจุใน ฐานข้อมูล Scopus ปี ค.ศ. 2023-2025 (2566-2568)” และในอนาคตจะเปิดให้วารสารกลุ่มที่ 1 ในฐานข้อมูล TCI หลังจากประกาศผลการประเมินคุณภาพวารสารรอบที่ 5 พ.ศ. 2568-2572 ได้ใช้งานด้วย
Content alerts
ระบบ Content alerts (สำหรับ Authors & Editors) เพื่อแนะนำบทความที่เกี่ยวข้อง ซึ่งไม่ใช่การแนะนำบทความใหม่ที่ได้รับการตีพิมพ์ แต่เป็นการแนะนำบทความที่สอดคล้องกับบทความของผู้เขียน เพื่อให้ผู้เขียนมีทางเลือกในการพัฒนาต่อยอดบทความของตนเอง อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมการเข้าถึงและการอ้างอิงบทความทั้งระบบอีกด้วย (อยู่ระหว่างดำเนินการ คาดว่าจะใช้ได้ในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2566)
Reviewer recognitions and certifications
Reviewer recognitions and certifications คือ ระบบเชิดชูผู้ทรงคุณวุฒิประเมินบทความในวารสารไทย (Reviewer Recognition) ศ.ดร.ณรงค์ฤทธิ์ สมบัติสมภพ กล่าวว่า จุดเริ่มต้นแนวคิดเกิดจากการที่วารสารมีการเรียกเก็บค่า Article Processing Charges (APC) สูงเกินความเป็นจริง, กองบรรณาธิการวารสารมีการพิจารณาคุณภาพของบทความไม่เท่าเทียม, มีการบังคับใช้ Reviewer 3 ท่านจากหลากหลายสถาบัน, มีข้อร้องเรียนจากนักศึกษาที่เป็นผู้จ่ายค่า APC แต่อาจารย์เป็นผู้ได้รับค่าตอบแทนจากต้นสังกัด, TCI ต้องการพัฒนาคุณภาพของระบบ Peer review ของประเทศ และปรับปรุงและพัฒนาคุณวารสารวิชาการไทยให้มีมาตรฐานเทียบเท่าสากลมากขึ้น
ดังนั้น TCI จึงมีแนวคิดเกี่ยวกับ Reviewer recognitions and certificates เพื่อเป็นการตอบแทน Reviewers ให้เหมาะสมกับบริบทความเป็นนักวิชาการ (นอกเหนือจากการตอบแทนด้วยเงิน) และทำให้การประเมินคุณภาพบทความในวารสารไทยมีความเป็นสากลและเป็นที่ยอมรับ ปราศจาก Biasness จากการได้รับการตอบแทนด้วยเงิน ทั้งนี้อยู่ระหว่างประสานงานเพื่อสื่อสารไปยังที่ประชุมอธิการบดี (ทปอ.) และออกแบบระบบ Journal Reviewer Certificates และ TCI Reviewer Awards คาดว่าจะใช้ได้ในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2566
สำหรับการจำกัดการใช้งานเฉพาะวารสารที่อยู่ใน TCI กลุ่มที่ 1 เท่านั้น คงเป็นแนวทางที่ TCI ใช้ในการปลุกไฟในการพัฒนากระบวนการทำงานและคุณภาพของวารสาร เสมือนหนึ่งเป็นรางวัลให้กับวารสารที่สามารถพัฒนาและนำพาวารสารมาอยู่ใน TCI กลุ่มที่ 1 ได้สำเร็จ
3. การเก็บค่าดำเนินการหรือค่าธรรมเนียม (Processing fees) และค่าตีพิมพ์บทความ (Article Page Charges)
TCI จึงได้ทำการสำรวจข้อมูล Processing fees/Article Page Charges (APC) ในเว็บไซต์ของวารสารในฐานข้อมูล TCI จำนวน 1,020 วารสาร พบว่า วารสารกลุ่มที่ 1 (374) และกลุ่มที่ 2 (568) จำนวน 942 วารสาร ระบุว่ามี APC จำนวน 422 วารสาร คิดเป็น 45%, ระบุว่าไม่มี APC จำนวน 136 วารสาร คิดเป็น 14% และไม่ระบุข้อมูล APC บนเว็บไซต์ 384 คิดเป็น 41%
ที่มา: แนวคิดการพัฒนาและเชิดชูผู้ทรงคุณวุฒิประเมินบทความในวารสารไทย (Reviewer Recognition)
รูปแบบในการเรียกเก็บค่า Processing fees/Article Page Charges (APC)
- Processing fees คือ ค่าดำเนินการหรือค่าธรรมเนียม ควรเรียกเก็บเมื่อมีการดำเนินการของวารสาร
- Article Page Charges (APC) คือ ค่าตีพิมพ์บทความ ควรเรียกเก็บเมื่อบทความได้รับการตีพิมพ์
ศ.ดร.ณรงค์ฤทธิ์ สมบัติสมภพ ให้ข้อเสนอแนะว่า ควรเรียกเก็บค่า APC อย่างเหมาะสม ไม่ควรมีการเรียกเก็บแบบ Fasttrack เนื่องจากเป็นการพิจารณาบทความที่ไม่เท่าเทียมและมีอคติในการดำเนินการบทความ ซึ่งวารสารสากลไม่มีการเรียกเก็บแบบ Fasttrack ทั้งนี้วารสารใน TCI มีรูปแบบการเรียกเก็บค่า Processing fees/Article Page Charges (APC) หลายรูปแบบ
ที่มา: แนวคิดการพัฒนาและเชิดชูผู้ทรงคุณวุฒิประเมินบทความในวารสารไทย (Reviewer Recognition)
การประกาศเกี่ยวกับรายละเอียดการเก็บ Processing fees/Article Page Charges (APC) ในอัตราที่เหมาะสม คือ จริยธรรมการตีพิมพ์ (Ecthic) และความโปร่งใสในการดำเนินการ (Transparent) ของวารสาร ซึ่งจะเป็นเกณฑ์หลักในการประเมินคุณภาพวารสารที่อยู่ในฐานข้อมูล TCI รอบที่ 5 (พ.ศ. 2568-2572) โดยที่วารสารกลุ่มที่ 1 จะต้องผ่านเกณฑ์หลักทุกข้อ หากไม่ผ่านข้อใดข้อหนึ่งก็จะตกจากกลุ่มที่ 1 ทันที
ดังนั้น TCI จึงมีแผนงานในการพัฒนาและเชิดชูผู้ทรงคุณวุฒิประเมินบทความในวารสารไทย (Reviewer Recognition) เพื่อสร้างมาตรฐานในการประเมินบทความและเชิดชูให้เกียรติผู้ทรงคุณวุฒิไปพร้อมกัน รวมทั้งช่วยลดค่าใช้จ่ายหรือต้นทุนที่วารสารต้องใช้ในการตอบแทนผู้ทรงคุณวุฒิ โดยจ่ายในรูปแบบ Certificate หรือการยกย่องเชิดชูแทนการจ่ายเป็นเงิน เพื่อให้วารสารไม่ต้องเรียกเก็บค่าดำเนินการหรือค่าตีพิมพ์บทความในอัตราที่สูงเกินไป
4. เกณฑ์การประเมินคุณภาพวารสาร TCI รอบที่ 5 (พ.ศ. 2568-2572)
ศ.ดร.ณรงค์ฤทธิ์ สมบัติสมภพ กล่าวว่า เกณฑ์การประเมินคุณภาพวารสารของ TCI รอบที่ 5 มีความคล้ายคลึงกับเกณฑ์การประเมินคุณภาพวารสารของ Scopus มากกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ ซึ่ง TCI ได้ประกาศร่างเกณฑ์การประเมินคุณภาพวารสารวิชาการที่อยู่ในฐานข้อมูล TCI รอบที่ 5 สำหรับรับรองคุณภาพวารสารระหว่างปี พ.ศ. 2568 - 2572 โดยแบ่งเกณฑ์เป็น 2 ส่วน คือ
- เกณฑ์หลัก (Primary criteria) ไม่คิดคะแนน แต่ต้องผ่านทุกข้อ โดยเน้นการออกตรงเวลาเป็นสำคัญ
- เกณฑ์รอง (Secondary criteria) 20 คะแนน ประกอบด้วย ด้านการบริหารจัดการวารสาร (Journal management criteria) 15 คะแนน และด้านคุณภาพของบทความ (Content quality criteria) 5 คะแนน
อย่างไรก็ตาม สำหรับรายละเอียดของเกณฑ์การประเมินมีบางข้อที่เพิ่มขึ้นมาและบางข้อย้ายจากเกณฑ์รองมาเป็นเกณฑ์หลักจากเกณฑ์เดิมในรอบที่ 4 ที่ผ่านมา ซึ่งมีรายละเอียดดังตาราง
ตารางเปรียบเทียบเกณฑ์การประเมินคุณภาพวารสาร TCI รอบที่ 4 กับร่างรอบที่ 5
ที่มา: ร่างเกณฑ์ประเมินคุณภาพวารสารในฐานข้อมูล TCI รอบที่ 5 (พ.ศ. 2568-2572)
สำหรับรายละเอียดวิธีการพิจารณาให้คะแนนในเกณฑ์แต่ละข้อส่วนใหญ่จะเหมือนกับเกณฑ์การประเมินในรอบที่ 4 ที่ผ่านมา ทั้งนี้กองบรรณาธิการควรพิจารณาอย่างละเอียดจากลิงก์เอกสารของ TCI ซึ่งเป็นรายละเอียดที่ชัดเจนและง่ายในการทำความเข้าใจ นอกจากนี้ TCI ได้กำหนดช่วงระยะเวลาดำเนินการของการประเมินคุณภาพวารสารวิชาการที่อยู่ในฐานข้อมูล TCI รอบที่ 5 โดยจะประกาศอย่างเป็นทางการในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2566 นี้ และจะเปิดรับข้อมูลการประเมินฯ รอบที่ 5 และวารสารใหม่ปี 2567 เดือนเมษายน – พฤษภาคม พ.ศ. 2567
ที่มา: ร่างเกณฑ์ประเมินคุณภาพวารสารในฐานข้อมูล TCI รอบที่ 5 (พ.ศ. 2568-2572)
การที่ TCI ประกาศเกณฑ์ประเมินคุณภาพวารสารในฐานข้อมูล TCI รอบที่ 5 ก่อนล่วงหน้าอย่างน้อย 1 ปี เพื่อให้เวลาแก่วารสารในการปรับปรุงและพัฒนากระบวนการทำงานให้สอดรับการเกณฑ์การประเมินได้อย่างทันท่วงที ดังนั้น เมื่อกองบรรณาธิการวารสารรับทราบเกณฑ์เรียบร้อยแล้ว พิจารณาเกณฑ์อย่างรอบคอบ และดำเนินการปรับปรุงพัฒนาการทำงานอย่างเหมาะสม TCI กลุ่มที่ 1 คงไม่ไกลเกินเอื้อมของทุกวารสาร ทั้งนี้ TCI ไม่ได้จำกัดจำนวนวารสารในกลุ่มที่ 1 ไว้ ว่าต้องมีจำนวนไม่เกินเท่าไหร่ หากมาตรฐานและคุณภาพของวารสารไปถึง TCI คงพร้อมที่จะมอบเหรียญทอง รวมทั้งสิทธิประโยชน์ในการใช้งานระบบต่างๆ ที่ TCI เตรียมไว้มอบให้แก่วารสารกลุ่มที่ 1 ทุกวารสาร
อ้างอิง
ศูนย์ดัชนีการอ้างอิงวารสารไทย. (2566). การประชุมวิชาการเครือข่ายการพัฒนาคุณภาพวารสารวิชาการไทยครั้งที่ 14 (The 14th Symposium for Thai Journal Development Network). TCI. https://tci-thailand.org/p/9606/
- Log in to post comments
- 306 views