วิธีการสร้างสุขและการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีของคนในองค์กร

สำนักวิทยบริการจัดกิจกรรมพัฒนาบุคลากร ประจำปี 2560 เมื่อวันที่ 3-4 สิงหาคม 2560 ณ อนันตา รีสอร์ท จังหวัดตรัง ภายใต้หัวข้อ "วิธีการสร้างสุขและการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีของคนในองค์กร" วิทยากรโดย คุณสานุพันธ์ ใบศรี

กิจกรรมหลักเป็นการฟังบรรยายและการร่วมกิจกรรมที่วิทยากรจัดขึ้นในแต่ละช่วงเวลา กิจกรรมส่วนใหญ่เป็นการส่งเสริมให้บุคลากรได้ทำความรู้จักกันมากขึ้น เช่น การถามว่า ชอบผลไม้อะไร เกิดวันที่เท่าไหร่ ถ้าพรุ่งนี้โลกแตกจะทำอะไรเป็นสิ่งสุดท้าย เป็นต้น มีเรื่องสนุกๆ ขำๆ มากมายเกิดขึ้น หากนำมาเล่าจะสนุก แต่นำมาเขียนไม่แน่ใจว่าจะสนุกหรือเปล่า ผมเขียนไม่เก่งเสียด้วย เลยขอเอาข้อคิดที่ได้จากการร่วมกิจกรรมนี้มานำเสนอไว้น่าจะเป็นประโยชน์มากกว่า

"สนุก สุขใจ ได้ข้อคิด"

ข้อสรุปแสั้นๆ ของกิจกรรมนี้

ข้อคิดประการที่หนึ่งที่ได้ คือ ผู้ใหญ่ (หัวหน้า, ผู้บริหาร) ฟังคนอยาก ตัวตนสูง การที่จะให้ผู้ใหญ่ฟังผู้น้อยนั้นเป็นไปแทบไม่ได้เลย ประเด็นนี้ผู้น้อยต้องเข้าใจไว้ก่อนเลย เพราะปกติแล้วหน่วยงานจะต้องมีผู้น้อยมากกว่าผู้ใหญ่อยู่แล้ว หากผู้น้อยไม่เข้าใจข้อนี้เสียแล้วก็จะทำให้การพูดคุยกันระหว่างผู้น้อยกับผู้ใหญ่ก็จะไม่เกิดขึ้นเลย จะมีแต่การสั่งงานเท่านั้น เช่นกันผู้ใหญ่ก็ควรใจกว้างในการรับฟังความเห็นของผู้น้อยด้วยเช่นกัน 
การที่ผู้น้อยต้องเข้าไปปรึกษางานกับผู้ใหญ่ วิทยากรได้แนะนำว่า ต้องเป็นสังเกตดูก่อนว่าผู้ใหญ่อารมณ์ดีไหม หากอารมณ์ไม่ดีก็ต้องพับเก็บไว้ก่อนรอช่วงอารมณ์ดีๆ แล้วค่อยกลับมาปรึกษาใหม่ นอกจากนี้ยังได้แนะนำช่วงเวลาที่ไม่ควรเข้าไปค่อยงานกับผู้ใหญ่ไว้ว่า หิวก็อารมณ์แปรปรวน อิ่มก็อารมณ์แปรปรวน ฉะนั้น ช่วงเวลา 11.00-14.00 น. ไม่ควรเข้าไปปรึกษางานหรือขออนุมัติใดๆ เนื่องจากเป็นช่วงเวลาที่อารมณ์แปรปรวนได้ง่าย

 ข้อคิดประการที่สอง คือ อยู่ด้วยกันต้องเข้าใจความแตกต่างระหว่างบุคคล ความแตกต่างที่ต้องเข้าใจ เช่น

  • ทางกายภาพ ร่างกายแข็งแรง อ่อนแอ ฯลฯ
  • ทางสติปัญญา การศึกษา
  • ความอดทนต่อแรงกดดัน
  • สถานะทางสังคม
  • ประสบการณ์

ข้อคิดประการที่สาม คือ ปัญหาพื้นฐานของการทำงาน การทำงานร่วมกันย่อมมีปัญหาเกิดขึ้นบ่อยครั้ง ซึ่งเราอาจประมวลปัญหาเหล่านั้นเป็นประเด็นได้ดังนี้

  • ใช้อารมณ์มากกว่าเหตุผล
  • ไม่ตระหนักในความสำคัญของการทำงานเป็นทีม
  • ทัศนคติไม่ดีต่อความสามารถของผู้อื่น
  • รู้ทุกเรื่อง แต่ไม่ทำตามที่ตัวเองรู้

ฉะนั้น ใครทราบว่ามีลักษณะดังที่กล่าวมาก็ขอให้ทราบว่ามันเป็นปัญหาพื้นฐานการทำงาน มันไม่ใช้ปัญหาของคุณนะครับ (ประชดนะ 555)

มีคำถามหนึ่งที่วิทยากรทิ้งไว้ให้คิด ซึ่งผมจะนำมาเตือนใจตัวเองเสมอเวลารู้สึกว่างานที่ตัวเองทำเริ่มทำให้ตัวเองรู้สึกไม่มีคุณค่า รู้สึกว่าทำงานได้ไม่เต็มที่ คำถามนั้นก็คือ

ทำงานคุ้มค่ากับผลตอบแทนหรือยัง? 

ใครรู้สึกแบบผมลองใช้คำถามนี้ถามตัวคุณเองดูนะครับ

Rating

Average: 3 (2 votes)