โครงการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ Creative & Innovation Inspiration

จากการเข้าร่วมโครงการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ Creative & Innovation Inspiration วันที่ 16,17 มีนาคม 2558 ณ สำนักวิทยบริการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
วิทยากรโดย ดร.วีรินยาอร เหลืองบริบูรณ์ จากบริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด 

การอบรมสมกับเป็นการอบรมเชิงปฏิบัติการ เพราะวิทยากรนำทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติ มีเกมและกิจกรรมหลายๆ รูปแบบมาใช้ในการอบรมครั้งนี้
ผมเชื่อว่ามีหลายคนที่ประทับใจ 2 กิจกรรมที่นำ LaQ (ตัวต่อคล้าย Lego) มาใช้ พร้อมทั้งการกำหนดเงื่อนไขที่ซับซ้อนยิ่งขึ้นจากวิทยากร ทั้งการต่อให้สูง พัดไม่ล้ม ใช้เวลา 20 นาที และการต่อให้เคลื่อนที่ไกลที่สุด บรรทุกสิ่งของได้ไม่ตก ใช้เวลา 30 นาที ทำให้การอบรมเต็มไปด้วยความตื่นเต้นและตื่นตัวตลอดเวลา

ในภาคทฤษฎีผมยอมรับว่าการอบรมครั้งนี้ทำให้ผมเข้าใจความหมายของคำว่า "นวัตกรรม" ได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น โดยวิทยากรทำกิจกรรมระดมสมองเพื่อค้นหาความหมายของ "นวัตกรรม" ในความคิดของแต่ละคน แต่ละคู่ และแต่ละกลุ่ม วิทยากรกล่าวว่า "นวัตกรรม" ประกอบด้วย 4 คำ ได้แก่

     1. วิทยาศาสตร์ (Science) ความรู้เกี่ยวกับสิ่งต่างๆ หรือปรากฏการณ์ในธรรมชาติซึ่งเกิดขึ้นมาจากที่มนุษย์พยายามสืบค้นด้วยกระบวนการต่างๆ เพื่อหาคำตอบเกี่ยวกับความจริงที่เกิดขึ้นรอบๆ ตัวเอง มีลักษณะเป็นข้อเท็จจริง หลักการ กฏ สมมติฐานทางวิทยาศาสตร์ และทฤษฎี เรียกได้ว่าเป็นวิทยาศาสตร์บริสุทธิ์ เพราะไม่ใช่การศึกษาเพื่อธุรกิจ

     2. เทคโนโลยี (Technology) การนำความรู้ทางวิทยาศาสตร์ เครื่องมือ ความคิด หลักการ เทคนิค ระเบียบวิธี กระบวนการ ตลอดจนถึงผลงานทางวิทยาศาสตร์มาประยุกต์ สร้างสรรค์เป็นสิ่งประดิษฐ์เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกในรูปแบบต่างๆ ต่อมนุษย์ ช่วยให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในการทำงานให้ดียิ่งขึ้นก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในการทำงานให้ดียิ่งขึ้น ก่อให้เกิดประโยชน์ที่เป็นรูปธรรมให้กับมวลมนุษย์

     3. สิ่งประดิษฐ์ (Invention) สิ่งที่มนุษย์สร้างสรรค์ขึ้นมาไม่ว่าจะเกิดจากความตั้งใจ หรือความบังเอิญ หรือการทำให้ความคิดใหม่เป็นความจริงขึ้นมาและสามารถจับต้องได้ หรือเป็นผลิตภัณฑ์ที่ประดิษฐ์ขึ้นมาใหม่

     4. นวัตกรรม (Innovation) ประกอบด้วย 3 ลักษณะ ได้แก่ 
         4.1 Things หมายถึง ผลิตภัณฑ์ กระบวนการ การบริการ โมเดลธุรกิจใหม่ การออกแบบ จะเห็นว่า นวัตกรรม ไม่ได้หมายความถึงสิ่งประดิษฐ์เพียงอย่างเดียว แต่ยังรวมถึง กระบวนการทำงาน การบริการ โมเดลธุรกิจใหม่ และการออกแบบด้วย คนส่วนใหญ่มักติดว่า นวัตกรรม ต้องเป็นเทคโนโลยีหรือสิ่งประดิษฐืใหม่เท่านั้น ซึ่งความจริงแล้วนวัตกรรมกินความกว้างกว่านั้น ดังที่กล่าวมาแล้ว
         4.2 New ความใหม่ สิ่งใหม่ ซึ่งสามารถแบ่งระดับความใหม่ได้ ดังนี้ 
                - ใหม่สำหรับตนเอง
                - ใหม่สำหรับแผนก
                - ใหม่สำหรับส่วน
                - ใหม่สำหรับองค์กร
                - ใหม่สำหรับตลาด
                - ใหม่สำหรับอุตสาหกรรม
                - ใหม่สำหรับประเทศ
                - ใหม่สำหรับโลก
         4.3 Value คุณค่าและประโยชน์การใช้งาน ผู้ที่จะบอกได้ว่ามีคุณค่าหรือไม่ คือ ลูกค้า มีประโยชน์หรือไม่ให้ดูว่ามีคนใช้ไหม

การพิจารณานวัตกรรมจึงต้องพิจารณาทั้ง Things, New และ Value เมื่อประกอบด้วยลักษณะทั้ง 3 ประการ จึงเรียกได้ว่า "นวัตกรรม"

นอกจากนี้ วิทยากรยังแนะนำให้ค้นหาและสรรค์สร้างนวัตกรรมจากปัญหาการทำงานใน 4 M ดังนี้
     1. Man (คน)
     2. Machine (อุปกรณ์ เครื่องมือ)
     3. Method (กระบวนการ วิธีการ)
     4. Material (วัตถุดิบ)

ขอให้มีความสุขกับการค้นหาและสร้างสรรค์นวัตกรรมในการทำงานนะครับ

Rating

Average: 1 (2 votes)