ห้องสมุดสีเขียว
แบบไหนที่เรียกว่า ‘ห้องสมุดสีเขียว’
ห้องสมุดที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมหรือที่เรียกกันว่า ห้องสมุดสีเขียว (Green Library) ย่อมไม่ได้หมายถึงห้องสมุดที่ทาสีอาคารด้วยสีเขียว ใช้สีเขียวเป็นธีมหลัก หรือมีเจ้าหน้าที่ใส่ชุดยูนิฟอร์มสีเขียว โดยทั่วไปแล้วตัวบ่งชี้ถึงความเป็นห้องสมุดสีเขียวจะพิจารณาจากการออกแบบอาคารที่ใช้พลังงานน้อย รวมถึงแนวปฏิบัติงานหรือพฤติกรรมการให้บริการ ซึ่งอาจจำแนกเป็นด้านต่าง ๆ ได้แก่
1. สถาปัตยกรรมสีเขียว เรื่องของอาคารและการใช้ไฟฟ้าย่อมเป็นสิ่งแรก ๆ ที่คนจะนึกถึง เพราะตัวอาคารเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกสู่ธรรมชาติ เช่น ในสหรัฐอเมริกา อาคารเป็นปัจจัยซึ่งบริโภคกระแสไฟฟ้าประมาณร้อยละ 70 ของการใช้พลังงานทั้งหมด และผลิตก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ถึงร้อยละ 40 ดังนั้นห้องสมุดสีเขียวจึงต้องหาหนทางลดการใช้พลังงานของตัวอาคาร ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของไฟส่องสว่าง การถ่ายเทอากาศ การควบคุมอุณหภูมิ การออกแบบตกแต่งภายในที่เหมาะสม การใช้พลังงานทดแทน ระบบกำจัดและหมุนเวียนของเสีย การใช้วัสดุจากธรรมชาติ
2. พฤติกรรมสีเขียว เป็นเรื่องของมนุษย์โดยเฉพาะ ซึ่งต้องอาศัยความร่วมใจของ
เจ้าหน้าที่และผู้มาใช้บริการห้องสมุด เช่น ใช้แสงจากธรรมชาติ การลดหรือนำกระดาษกลับมาใช้ใหม่ (reuse) การใช้บันไดแทนการใช้ลิฟต์ การใช้ผลิตภัณฑ์ที่หาได้ในท้องถิ่น ปิดไฟดวงที่ไม่ใช้งาน ใช้หมึกเครื่องพริ้นเตอร์แบบเติมซ้ำได้และเลือกหมึกที่ไม่เป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อม ใช้จอแบบ LCD การคัดแยกขยะ ลดการใช้อุปกรณ์การสื่อสารอิเล็กทรอนิกส์
3. หนังสือสีเขียว การเลือกใช้ทรัพยากรห้องสมุดที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยมี
หลัก 3 ข้อคือ
- เลือกทรัพยากรที่มีเนื้อหาที่ให้ความรู้เกี่ยวกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เช่น ปัญหาพลังงาน ปัญหาโลกร้อน เทคโนโลยีสีเขียว การทำสวนออร์แกนิก
- ใช้ทรัพยากรอย่างรู้คุณค่า โดยการจำหน่ายออกหนังสือเก่าหรือทรัพยากรที่ไม่ใช้แล้วด้วยการรียูสหรือรีไซเคิลแทนที่จะทิ้ง เช่น นำไปขายหรือบริจาค กรณีของหนังสือกระดาษสามารถนำไปหมุนเวียนได้ง่ายกว่าสื่อและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์
- เลือกรูปแบบทรัพยากรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ปัจจุบันสำนักพิมพ์หลายแห่งพยายามผลิตสิ่งพิมพ์โดยใช้กระดาษรีไซเคิลและดำเนินการปลูกต้นไม้ทดแทน ในขณะที่ทรัพยากรอิเล็กทรอนิกส์แม้จะช่วยลดการใช้พลังงานในการเดินทางเพื่อเข้าถึงสารสนเทศ แต่การผลิตอุปกรณ์และการใช้งานก็บริโภคกระแสไฟฟ้าจำนวนมาก ดังนั้นห้องสมุดสีเขียวจึงต้องหาแนวทางลดการใช้พลังงานจากทรัพยากรทั้งสองประเภทไปพร้อม ๆ กัน
4. บริการและกิจกรรมสีเขียว กระแสห้องสมุดสีเขียวกระตุ้นให้บรรณารักษ์ริเริ่มบริการและกิจกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อมใหม่ ๆ ให้กับชุมชน นอกเหนือไปจากบทบาทพื้นฐานในการจัดหาทรัพยากรและสารสนเทศด้านวิถีชีวิตสีเขียว ห้องสมุดประชาชนหลายแห่งมีบทบาทเป็นศูนย์การศึกษาเพื่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม มีการจัดกิจกรรมทางการศึกษาและเวิร์คช็อปเพื่อให้ผู้ใช้บริการมีแนวทางที่จะดำเนินชีวิตแบบสีเขียว เช่น การรีไซเคิล ความปลอดภัยทางอาหาร ฯลฯ ห้องสมุดบางแห่งมีบริการให้ยืมเครื่องมือทำการเกษตรและให้ยืมอุปกรณ์ตรวจวัดกระแสไฟฟ้า บรรณารักษ์ของห้องสมุดบางแห่งสามารถให้ความรู้และสารสนเทศเกี่ยวกับการปลูกพืชผัก การใช้ยาสมุนไพร และการดูแลสุขภาพแบบทางเลือก เป็นต้น
5. ระบบสารสนเทศสีเขียว ICT กลายเป็นประเด็นที่ห้องสมุดเพื่อการอนุรักษ์
สิ่งแวดล้อมให้ความสนใจเป็นพิเศษ เนื่องจากการใช้เทคโนโลยีที่เพิ่มขึ้นนั้นหมายถึงการบริโภคพลังงานและการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากขึ้นด้วย มีการวิจัยที่พิสูจน์ให้เห็นว่าการใช้ ICT อย่างเหมาะสมสามารถช่วยลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกได้ แนวทางที่จะนำไปสู่ระบบสารสนเทศสีเขียวก็คือ กระบวนการประมวลผลที่ได้มาตรฐานและมีประสิทธิภาพ การแบ่งปันทรัพยากรอิเล็กทรอนิกส์ การรียูสเครื่องมือและเนื้อหาอิเล็กทรอนิกส์ และพฤติกรรมการใช้ ICT ที่คำนึงถึงการประหยัดพลังงาน
การเรียนรู้อย่างยั่งยืนด้วยทักษะสีเขียว
การให้บริการสารสนเทศเพื่อสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืนภายในห้องสมุดมีปริมาณเติบโตขึ้นเรื่อยๆ แต่แง่มุมที่ยังมีการกล่าวถึงกันไม่มากนักก็คือ บทบาทของห้องสมุดในการพัฒนาทักษะการเรียนรู้ที่จะนำไปสู่กระบวนการคิดอย่างยั่งยืน อันได้แก่ ทักษะการรู้สารสนเทศ (information literacy skill) และทักษะการคิดเชิงวิพากษ์ (critical thinking skill) ทักษะทั้งสองด้านนี้มีส่วนอย่างสำคัญในการสร้างจิตสำนึกและพฤติกรรมรักษ์โลก
ทักษะการค้นหาสารสนเทศที่คล่องแคล่วช่วยลดระยะเวลาและทรัพยากรในการแสวงหาความรู้ได้ทางอ้อม ห้องสมุดอาจลองนำเสนอข้อเท็จจริงและผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม ซึ่งเกิดขึ้นจากการใช้เทคโนโลยี เช่น ปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ซึ่งเกิดขึ้นขณะใช้งานเว็บไซต์ และสอนวิธีการพัฒนากลยุทธ์ในการค้นหาอย่างมีประสิทธิภาพ หรืออาจนำเสนอข้อมูลปริมาณการใช้พลังงานหรือปริมาณของเสียที่เกิดขึ้นอยู่ทุกขณะที่เราดำเนินชีวิตประจำวัน เพื่อก่อให้เกิดความตระหนักถึงต้นทุนทางสิ่งแวดล้อมซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นในอนาคต
กระบวนการที่สำคัญคือการกระตุ้นให้ผู้ใช้บริการรู้จักคิดเชื่อมโยงระหว่างการกระทำและผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับสิ่งแวดล้อม จนกระทั่งท้ายที่สุดแล้วสามารถตัดสินและประเมินคุณค่าว่าจะดำรงชีวิตร่วมกับธรรมชาติในยุคที่ต้องพึ่งพาเทคโนโลยีได้อย่างไรให้เกิดความยั่งยืนที่สุด
สิ่งที่เราสามารถทำได้ง่ายๆ
ปิดก๊อกน้ำเมื่อไม่ใช้งาน
เปิดแอร์ที่ 25 องศา
อ่านหนังสือตรงริมหน้าต่างแทนการเปิดไฟอ่านหนังสือ
ปิดคอมพิวเตอร์หรือเครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆเมื่อไม่ใช้งาน
ปิดไฟในส่วนห้องหรือบริเวณที่ไม่ใช้งานเพื่อประหยัดพลังงาน
อ้างอิง
The KOMMON. (2561). Green Library ห้องสมุดสีเขียว ห้องสมุดรักษ์โลก. https://www.thekommon.co/green-library/
- Log in to post comments
- 80 views