การพัฒนาวารสารเข้าสู่ฐานข้อมูล TCI (1)
เนื้อหานี้ผมวางแผนและตั้งใจที่จะเขียนตั้งแต่ทราบผลการประเมินคุณภาพวารสารวิชาการที่อยู่ในฐานข้อมูล TCI รอบที่ 4 พ.ศ. 2563-2567 เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2563 แล้ว แต่ตั้งใจว่าจะเขียนเมื่อทราบผลการประเมินรอบที่ 4 ครั้งที่ 2 ซึ่งเป็นการประเมินเพื่อปรับกลุ่มอีกครั้ง เพื่อบันทึกไว้ว่าผมได้ทำอะไรไปบ้าง ทั้งยังหวังว่าจะเป็นประโยชน์กับคนทำงานวารสารด้วยกันอีกด้วย
จากผลการประเมินรอบที่ 4 (10 มกราคม 2563) วารสารวิทยบริการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ที่ผมเป็นผู้รับผิดชอบตกลงมาอยู่ TCI 2 (เดิม TCI 1) และหากพิจารณาเกณฑ์การประเมิน TCI รอบนี้ก็ไม่ได้แตกต่างจากรอบที่ 3 มากนัก แต่เกณฑ์ข้อหนึ่งที่เพิ่มเข้ามาและคะแนนสูงมาก (5 คะแนน) คือ เกณฑ์คุณภาพของบทความในวารสาร ซึ่งหากกวารสารใดถูกประเมินว่าขาดคุณภาพ การขาด 5 คะแนนนี้ ทำให้ไม่สามารถอยู่ใน TCI 1 ได้ทันที เนื่องจากมีหลักการพิจารณากลุ่มวารสาร ดังนี้
-
วารสารกลุ่มที่ 1 (TCI 1) วารสารที่ผ่านการรับรองคุณภาพของ TCI พิจารณาจากวารสารที่ผ่านเกณฑ์หลักทุกข้อ และมีคะแนนในเกณฑ์รองรวมกันไม่ต่ำกว่า 16 คะแนน (จากคะแนนเต็ม 20 คะแนน)
-
วารสารกลุ่มที่ 2 (TCI 2) วารสารที่อยู่ระหว่างการปรับปรุงคุณภาพ และอยู่ในฐานข้อมูล TCI พิจารณาจากวารสารที่ผ่านเกณฑ์หลัก และมีคะแนนในเกณฑ์รองรวมกัน ระหว่าง 10-15 คะแนน (จากคะแนนเต็ม 20 คะแนน)
-
วารสารกลุ่มที่ 3 (TCI 3) วารสารที่ไม่ผ่านการรับรองคุณภาพ และอาจไม่ปรากฏอยู่ในฐานข้อมูล TCI ในอนาคต พิจารณาจากวารสารที่ไม่ผ่านเกณฑ์หลัก หรือ มีคะแนนในเกณฑ์รองรวมกันต่ำกว่า 10 คะแนน (จากคะแนนเต็ม 20 คะแนน) หรือ ไม่ส่งข้อมูลเพื่อขอรับกำรประเมิน ภายในระยะเวลาที่กำหนด
คราวนี้เราลองไปดูเกณฑ์หลักและเกณฑ์รองในการประเมินของ TCI ว่ามีอะไรบ้าง
เกณฑ์หลัก (เป็นเกณฑ์ที่ไม่คิดเป็นคะแนน แต่วารสารกลุ่ม 1 ต้องผ่านเกณฑ์หลักนี้ทุกข้อ)
-
วารสารต้องออกตรงตามเวลาที่กำหนด
-
วารสารมีเลขมาตรฐานสากลประจำวารสาร (ISSN) ที่จดทะเบียนถูกต้องตามหลักสากล
-
วารสารต้องมีเว็บไซต์ที่มีข้อมูลครบถ้วน
-
บทความมีรูปแบบการตีพิมพ์ที่ได้มาตรฐาน
เกณฑ์รอง (เป็นเกณฑ์ที่คิดเป็นคะแนน โดยมีคะแนนเต็ม 20 คะแนน)
-
วารสารต้องมี citation ที่ตรวจสอบได้จากฐานข้อมูล TCI
-
วารสารต้องมีกองบรรณาธิการเป็นผู้ทรงคุณวุฒิมาจากหลากหลายหน่วยงาน
-
วารสารต้องตีพิมพ์บทความที่มีผู้นิพนธ์มาจากหลากหลายหน่วยงานทั้งภายในและภายนอก
-
วารสารมีรูปแบบการอ้างอิงที่ถูกต้องตามมาตรฐาน
-
วารสารมีกระบวนการประเมินคุณภาพจากผู้ทรงคุณวุฒิก่อนตีพิมพ์
-
วารสารต้องมีระบบการจัดการวารสารแบบออนไลน์
-
คุณภาพของบทความในวารสาร
-
เกณฑ์คุณภาพอื่นๆ
สำหรับเกณฑ์หลักและเกณฑ์รอง วารสารที่อยู่ในฐานข้อมูล TCI จะทราบกันดีอยู่แล้วว่ามีเกณฑ์อะไรบ้างและมีหลักในการพิจารณาให้คะแนนอย่างไร เนื่องจาก TCI ได้มีการชี้แจงเกณ์การประเมินในการประชุมเพื่อชี้แจงเกณฑ์รอบที่ 4 เมื่อปี พ.ศ. 2561 ไปแล้ว วารสารจึงมีการปรับองค์ประกอบและกระบวนการทำงานให้สอดรับกับเกณฑ์การประเมิน แต่ผลการประเมินวารสารรอบที่ 4 จำนวนกว่า 900 วารสาร (วารสารที่อยู่ใน TCI 1 เดิมจำนวน 400 ต้นๆ) มีวารสารเกือบ 200 วารสารเท่านั้นที่ได้รับการรับรองคุณภาพใน TCI 1 (ขออภัยที่จำตัวเลขที่ชัดเจนไม่ได้) แสดงว่า TCI มีการปรับระดับความเข้มข้นในการปรับเมินมากขึ้นเป็นสองเท่า คาดเดาว่า TCI คงต้องการให้วารสารมีการปรับตัวมากกว่านี้ เพื่อให้วงการวารสารวิชาการไทยพัฒนาไปในระดับนานาชาติต่อไป
ผมในฐานะคนรับผิดชอบวารสารไม่คาดคิดว่า วารสารวิทยบริการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จะได้รับการประเมินให้อยู่ TCI 2 เนื่องจากมีการปรับองค์ประกอบและกระบวนการทำงานให้สอดรับกับเกณฑ์เกือบทั้งหมดแล้ว แต่เมื่ออ่านรายละเอียดการประเมินจาก TCI ที่แจ้งว่า วัตถุประสงค์และนโยบายการตีพิมพ์ของวารสารกว้างมาก อาจเป็นเหตุผลที่ทำให้คุณภาพบทความไม่ได้มาตรฐานระดับเดียวกัน บทความที่ตีพิมพ์ไม่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์และนโยบายการตีพิมพ์ของวารสาร บทคัดย่อไม่ได้คุณภาพ บทความที่ตีพิมพ์ไม่ใช่องค์ความรู้ใหม่เป็นแค่องค์ความรู้เดิม จากรายละเอียดการประเมินทำให้ทราบว่า TCI ต้องการให้วารสารมีวัตถุประสงค์การตีพิมพ์ที่ชัดเจน มีอัตลักษณ์ในตัววารสารเอง เนื่องจากเดิมที วารสารวิทยบริการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มีการตีพิมพ์เผยแพร่บทความในหลากหลายสาขาทั้งด้านศึกษาศาสตร์ และด้านมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ด้วยเหตุผลเพื่อการเปิดกว้างทางวิชาการ แต่ TCI ไม่คิดแบบนั้น นอกจากนี้ รายละเอียดอีกประเด็นหนึ่งที่สำคัญ คือ การใช้ผู้ทรงคุณวุฒิสังกัดหน่วยงานเดียวกันกับผู้เขียน TCI มองว่าเป็นเรื่องของจริยธรรมการตีพิมพ์ ความโปร่งใสในกระบวนการพิจารณาบทความ ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ควรเกิดขึ้นอย่างยิ่ง แม้ว่าในทางปฏิบัติวารสารไม่ได้มีส่วนได้ส่วนเสียกับผู้เขียนก็ตาม และน่าจะด้วยเหตุผลทั้งหมดนี้ทำให้ วารสารวิทยบริการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ไม่ผ่านเกณฑ์คุณภาพของบทความซึ่งมี 5 คะแนน นั่นเอง
ผลกระทบที่ตามมาจากการที่วารสารอยู่ TCI 2 เนื่องจากมหาวิทยาลัยส่วนใหญ่มีหลักเกณฑ์การสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโทและปริญญาเอก และการยื่นขอตำแหน่งทางวิชาการที่ต้องตีพิมพ์เผยแพร่ผลงานในวารสารที่อยู่ใน TCI 1 เท่านั้น ทำให้จำนวนบทความที่ส่งเข้ามาพิจารณาตีพิมพ์มีจำนวนลดลงทันที จากเดิมบทความที่ตีพิมพ์ฉบับละ 20 บทความ เหลือเพียง 6-8 บทความเท่านั้น และมีบทความไม่เพียงพอในการพิจารณาตีพิมพ์ในปี พ.ศ. 2564 นอกจากนี้ ยังมีบทความรอตีพิมพ์ที่ตกค้าง ซึ่งต้องทำความเข้าใจกับผู้เขียน และมีผู้เขียนบางท่านขอถอนออกไปเนื่องจากไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้หากตีพิมพ์ในวารสาร TCI 2 ซึ่งก็เข้าใจกันทั้ง 2 ฝ่าย
หลังจากทราบผลการประเมินสิ่งที่ผมทำคือ ทบทวนว่าตัวเองพลาดอะไรไปบ้าง แล้วจะปรับการทำงานส่วนใดบ้าง และเรื่องนี้ก็ติดอยู่ในหัวตลอดทั้งเดือน (นอนไม่หลับเป็นเดือน) แต่เพื่อแบ่งลำดับเนื้อหาและไม่ให้เนื้อหาแต่ละตอนยาวจนเกินไป จึงขอไปต่อกันในเนื้อหาต่อไป "การพัฒนาวารสารเข้าสู่ฐานข้อมูล TCI (2)" นะครับ
- Log in to post comments
- 2082 views