การสื่อสารอย่างสันติจากเสมสิกขาลัย
การเข้าร่วมอบรมการสื่อสารอย่างสันติที่สำนักวิทยบริการจัดให้กับบุคลากรของสำนักวิทยบริการ โดยทีมวิทยากรจากเสมสิกขาลัย ความจริงผมอยากเขียนบล็อกนี้มาสักระยะหนึ่งแล้ว แต่ก็ไม่ได้เขียนสักที ล่วงเลยมาเกือบสองเดือนทีเดียว แต่ผมกลับมองในแง่ดีว่าเขียนตอนนี้ดูว่าสิ่งที่ได้รับจากการอบรมตกผลึกมากกว่า เนื่องจากการได้นำความรู้ที่ได้รับจากการอบรมมาประยุกต์ใช้งานจริง (ถ้ามีสติรู้ได้ทัน)
ก่อนจะบอกเล่าเรื่องราวต่อๆ ไป ผมเองต้องยอมรับก่อนว่าหลังจากอบรมเสร็จสิ้นเรียบร้อยก็ไม่กล้าที่จะนำหลักการสื่อสารอย่างสันติไปใช้กับใครที่ไม่ได้ผ่านการฝึกอบรม เนื่องจากมันค่อนข้างแปลกจากการพูดคุยปกติในความคิดของผม และหากใช้กับผู้ที่ผ่านการอบรมมาด้วยกันก็จะเป็นเหมือนการพูดคุยแบบสนุกสนานไปโดยในทันที อย่างไรก็ตามหลังจากทดลองนำไปใช้พูดคุยจริงๆ ก็ทำให้รู้สึกว่าเราสื่อสารกับคนรอบข้างเราได้ดียิ่งขึ้น แม้กระทั้งนำไปบอกเล่ากับคนรอบข้างก็เห็นว่าดีด้วยเช่นกันในการสื่อสารด้วยวิธีการนี้ (แต่ไม่รู้ว่าเขานำไปใช้หรือไม่)
มาดูเรื่องของหัวใจของการสื่อสารอย่างสันติกันก่อนครับผม (คัดลอกมา)
* มนุษย์ทุกคนมีความกรุณาเป็นพื้นฐาน
* เบื้องหลังการกระทำของมนุษย์ คือการตอบสนองความต้องการบางอย่าง
* ใส่ใจและให้คุณค่ากับความต้องการของทุกคน
* ให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์หรือความเข้าใจก่อนหาทางแก้ไขปัญหา
ดูเป็นเรื่องยากสำหรับผมที่จะอธิบายทั้ง 4 หัวใจของการสื่อสารอย่างสันติอย่างถ่องแท้ อย่างไรก็ตามขออธิบายตามความเข้าใจของผมที่ได้จากการอบรมก็แล้วกัน
มนุษย์ทุกคนมีความกรุณาเป็นพื้นฐาน
มนุษย์ทุกคนมีความรู้สึกทางใจที่อยากช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์และเพื่อนร่วมโลกด้วยกันทั้งสิ้น เราคงไม่ปฏิเสธกันว่าเราทุกคนอยากเป็นคนดี คงไม่มีใครอยากเป็นคนเลว เมื่อเราทำดีใจเราก็มีความสุข แต่เมื่อทำเลวใจเรากลับเป็นทุกข์ นี่เป็นข้อยืนยันว่าเราทุกคนอยากเป็นคนดี ส่วนจะดีอย่างไรในแบบของแต่ละคนนั้นคงต้องใช้เวลาทำความเข้าใจ
เบื้องหลังการกระทำของมนุษย์ คือ การตอบสนองความต้องการบางอย่าง
การกระทำทุกอย่างของมนุษย์ย่อมผ่านกระบวนการคิดมาแล้วทั้งสิ้น และความคิดย่อมสะท้อนความต้องการของผู้คิด เบื้องหลังการกระทำของมนุษย์จึงมีความต้องการเป็นแรงผลักดันอยู่เสมอ เพียงแต่บางครั้งเรามักให้ความสำคัญกับการกระทำมากกว่าความต้องการเบื้องหลัง จึงทำให้มองต่างมุม และเป็นเหตุทำให้เข้าใจไม่ตรงกันเนื่องจากการพยายามตีความการกระทำนั้น มากกว่าที่จะรับรู้ความต้องการหรือความรู้สึกเบื้องหลังการกระทำ
ใส่ใจและให้คุณค่ากับความต้องการของทุกคน
เราอยากได้รับการให้เกียรติ การยอมรับ การให้ความสำคัญจากคนรอบข้าง ฉันใด คนรอบข้างก็อยากได้รับการให้เกียรติ การยอมรับ การให้ความสำคัญจากเรา ฉันนั้น เอาใจเขามาใส่ใจเรายังใช้ได้อยู่เสมอ เอาใจใส่ความรู้สึก ความต้องการของคนรอบข้างอยู่เสมอ แล้วเราจะเข้าใจคนรอบข้างมากขึ้น
ให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์หรือความเข้าใจก่อนหาทางแก้ไขปัญหา
หลายครั้งที่เรารับฟังเรื่องราวความทุกข์หรือสุขของคนรอบข้าง แล้วเรามักช่วยคิดหาวิธีการแก้ปัญหาหรือทางออกให้กับเขาทันทีที่รับฟัง การสื่อสารอย่างสันติบอกให้เราย้อนกลับที่ดูเรื่องความรู้สึก ความต้องการเบื้องหลังของผู้พูด ก่อนที่จะนำเสนอทางออกให้กับเขา เพราะบางครั้งผู้พูดไม่ได้ต้องการทางออก การแก้ไขปัญหาจากเรา แต่ต้องการแค่คนรับฟัง
ครั้งแรกที่รับฟังหัวใจ 4 ประการของการสื่อสารอย่างสันติจากท่านวิทยากร ทำให้ผมนึกย้อนได้หลายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับตัวเอง และรู้สึกตรงใจของผมยิ่งนึก แต่สิ่งที่สะกิดใจผมอีกอย่างก็คือ เราจะทำอย่างไรให้เรารู้ได้ทันในการสื่อสาร ก่อนที่จะก้าวข้ามหัวใจทั้ง 4 ประการของการสื่อสารอย่างสันติไป คำตอบที่ชัดเจนจากวิทยากรก็คือ สติ
นั่นหมายความว่าการสื่อสารอย่างสันติต้องมีสติประกบอยู่ด้วยเสมอ ซึ่งฟังดูก็ไม่ใช่เรื่องยากเพราะ เราต้องใช้ชีวิตด้วยสติอยู่ตลอดเวลาอยู่แล้ว (ควรจะเป็นอย่างนั้น) แต่ในความจริงก็คือ เรามักไม่ได้ใช้ชีวิตด้วยสติตลอดเวลานี่สิ ยิ่งมีเวลาโกรธด้วยแล้ว คำว่า สติ สะกดอย่างไรยังนึกกันไม่ออกเลย (ดูว่าน่าจะจัดอบรมเรื่องการใช้ชีวิตด้วยสติอีกสักหลักสูตรหนึ่ง)
สิ่งที่อยากนำเสนออีกประการหนึ่งก็คือ เรื่องของการสังเกตกับการตีความ ทันที่ที่วิทยากรอธิบายผมก็บอกได้ทันทีว่าผมแยกระหว่างการสังเกตกับการตีความได้อยู่แล้ว แต่พอมีการตั้งคำถาม สิ่งที่ตอบไปกลับผิดทั้งหมด (ตกลงเราเข้าใจผิดมาตลอดหรือนี่) เช่น ถ้าบอกว่าผู้หญิงคนนี้น่ารัก เป็นการสังเกตหรือตีความ............(ผมจะตอบว่าการสังเกต)...............ซึงความจริงคือการตีความ ทำไมถึงเป็นการตีความไปได้ ก็เนื่องจากเราประมวลผลจากรูปร่างหน้าตา รูปร่าง กริยามารยาท การนั่ง การยืน การเดิน จนเราสรุปได้ว่าผู้หญิงคนนี้น่ารัก ล้วนผ่านการตีความจากสิ่งที่สังเกตเห็น (แสดงว่าเราเคยชินกับการตีความจนติดเป็นนิสัยเสียแล้ว)
ประเด็นนี้นำไปสู่การตีความเรื่องการกระทำของคนรอบข้าง เนื่องจากเรามักจะตีความสิ่งที่เกิดขึ้นทั้งจากการกระทำ และการพูดจนเคยชิน มากกว่าที่จะพูดจากสิ่งที่สังเกตเห็นหรือความจริงที่ควรจะเป็น การตีความมีความเสี่ยงต่อความเข้าใจที่ไม่ตรงกัน เนื่องจากพื้นฐานของความคิด ประสบการณ์ ความรู้ ทัศนคติ ความเชื่อของแต่ละบุคคลแตกต่างกัน เช่น แม่จ้ำจี้จ้ำไชลูก ลูกมักตีความจากการจ้ำจี้จ้ำไชว่าแม่จุ้นจ้าน น่ารำคาญ ทั้งทีความรู้สึกที่แท้จริงของแม่คือเป็นห่วงลูก
ความจริงเนื้อหาในการอบรมมีมากกว่านี้เยอะครับ สิ่งที่ผมนำเสนอเป็นแค่จุดเริ่มต้นของการอบรม ซึ่งนำไปสู่กิจกิจกรรมหลากหลายรูปแบบ แต่ผมอยากเขียนในส่วนของจุดเริ่มต้นมากกว่า เพราะถ้ากลัดกระตุมเม็ดแรกผิดก็จะผิดทั้งหมด
การอบรมครั้งนี้สำหรับผมถือได้ว่าได้ประสบการณ์การสื่อสารในแบบที่ตนเองไม่เคยรู้จักมาก่อน ถือว่าเป็นการเปิดโลกทัศน์การสื่อสารของผมเลยทีเดียว และคิดว่าเป็นประโยชน์อย่างแท้จริงสำหรับผู้นำไปปฏิบัติ
การอบรมเป็นการเสริมสร้างประสิทธิภาพการสื่อสารของคนในหน่วยงาน และเป็นการเสริมสร้างประสิทธิภาพการทำงานในทางอ้อม การอบรมจะไม่สูญเปล่าหากเรานำมาใช้
- Log in to post comments
- 70 views