เพียงพลิกวิธีคิด… ชีวิตก็เปลี่ยน

ผมอยากจะให้พวกเราเปลี่ยนวิธีคิดในการทำงาน จึงได้เสนอบทความมาให้อ่านครับ ขอใช้เวทีนี้นำเสนอนะครับ เนื่องจาก วทท.ยังไม่มีเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ผ่านออนไลน์เลย ผมทำอยู่เป็น Blog เล็กๆ มีคนอ่านไม่มาก เวทีนี้น่าจะดีที่สุด ครับ

หัวใจของการวิจัยจากงานประจำไม่ได้อยู่ที่การประยุกต์เทคนิคหรือวิธีการวิจัยเพื่อให้ได้มาซึ่งผลงานวิจัย แต่ที่สำคัญคือ การ “พลิกวิธิ คิด” หรือ การปรับกระบวนทัศน์ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงในระดับรากฐานเกี่ยวกับการทำงานประจำและการเป็นผู้สร้างความรู้ การวิจัยจากงานประจำจึงเป็นการทำงานบนรากฐานวิธีคิดที่อาจเรียกว่าเป็นการจัดการความรู้ในกระบวนทัศน์ใหม่ที่แตกต่างไปจากกระบวนทัศน์เดิมหลายประการ คือ

  1. การจัดการความรู้ในกระบวนทัศน์ใหม่ถือว่า ความรู้มีหลากหลายลักษณะซึ่งต้องการการเรียนรู้ที่แตกต่างกันเช่น ความรู้เปิดเผย (explicit knowledge) ความรู้แฝงเร้น (tacit knowledge และ implicit knowledge) ความรู้ในเชิงทฤษฎีกับความรู้จากประสบการณ์การปฏิบัติและความรู้ที่ครอบคลุมครบถ้วนกับความรู้ที่ใช้งานได้ (working knowledge) ทัศนะต่อความรู้แบบใหม่นี้ถือว่ามีความสำคัญมาก เพราะเป็นการให้คุณค่ากับความรู้ที่ถูกละเลยในกระบวนทัศน์เดิม ซึ่งเน้นเฉพาะความรู้ที่เปิดเผยหรือจดบันทึก ได้การทำงานประจำผู้ปฏิบัติงานจะสั่งสมความรู้แฝงเร้นที่เรียนรู้จากปฏิสัมพันธ์ในชีวิตประจำวัน เป็นความรู้ที่แยกไม่ออกจากการปฏิบัติ การให้คุณค่ากับความรู้เชิงปฏิบัตินี้ได้ท้าทายวิธีคิดการจัดการองค์กรแบบเดิมที่ถือว่า ผู้บริหาร ผู้เชี่ยวชาญ หรือที่ปรึกษา รู้ดีที่สุด ส่วนผู้ปฏิบัติเป็นผู้คอยรับการถ่ายทอดความรู้จากผู้รู้ ทัศนะใหม่นี้ถือว่าผู้ปฏิบัติเป็นผู้รู้ดีที่สุด โดยเฉพาะการรู้ว่าความรู้ส่วนไหนเป็นความรู้ที่ใช้งานได้หรือที่เรียกกันว่า ความรู้ในการปฏิบัติงาน (working knowledge)
  2. ความรู้หลากหลายแบบต้องการเรียนรู้หลากหลายลักษณะ การขี่จักรยานเป็นตัวอย่างที่มักถูกพูดถึงในแง่ที่ว่า เป็นความรู้แบบหนึ่งที่ฝังแฝงอยู่ในร่างกาย (embodied knowledge) เราจะไม่สามารถถ่ายทอดการขี่จักรยานด้วยการบรรยายให้เข้าใจว่า การที่จะทรงตัวบนจักรยานและปั่นให้วิ่งไปข้างหน้าโดยไม่ล้มนั้นต้องทำอย่างไร การเรียนรู้ที่จะขี่จักรยานจึงไม่ใช่สิ่งที่ต้องการจดจำทฤษฎีการทรงตัวและแรงโน้มถ่วง แต่ต้องอาศัยการปฏิบัติแม้แต่ความรู้ที่เป็นความเข้าใจเองก็ยังมีความแตกต่างที่แยกแยะได้หลายลักษณะ ซึ่งต้องการการเรียนรู้ที่แตกต่างกัน การรู้หรือเข้าใจในหลักการอย่างเป็นนามธรรม (abstract) ก็แตกต่างไปจากการรู้และเข้าใจผ่านเรื่องราวที่เป็นรูปธรรม (narrative) หรือการเข้าใจผ่านตัวแทนของความจริงที่เป็นตัวเลข (ซึ่งพบในการวิจัยเชิงปริมาณ) กับการเข้าใจโลกผ่านเรื่องเล่าและการอธิบายเชื่อมโยงกัน หากการวิจัยเชิงปริมาณเป็นการเรียนรู้และเปลี่ยนแปลงโลกด้วยตัวเลข การวิจัยเชิงคุณภาพก็เป็นการเรียนรู้และเปลี่ยนแปลงโลกด้วยเรื่องเล่างานวิจัยที่ได้กล่าวถึงไปแล้วในบางส่วนเป็นตัวอย่างการเรียนรู้จากเรื่องเล่าที่ไม่ได้แค่เพียงความรู้ในเชิงตรรกะ หรือในระดับความรู้ความเข้าใจเท่านั้น แต่ยังให้คุณค่าและแรงบันดาลใจกับงานประจำเพราะการเรียนรู้อุดมคติเป็นเรื่องของคุณค่าและแรงบันดาลใจ ที่ไม่มีตัวชี้วัดเชิงปริมาณไหนจะทำให้เกิดขึ้นได้
  3. ความรู้และการเรียนรู้เป็นเครื่องปลดปล่อยศักยภาพของมนุษย์ กระบวนทัศน์เดิมของวิทยาศาสตร์สมัยใหม่นั้นถือว่ามนุษย์ไม่ต่างจากเครื่องจักรกลทางชีววิทยา มนุษย์ดำรงชีวิตอยู่เพื่อเป้าหมายที่ไม่แตกต่างไปจากสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ คือ เพื่อความอยู่รอด ความสุขสบาย และการขยายเผ่าพันธุ์ ทัศนะดังกล่าวได้ทำให้ระบบการจัดการความรู้ไม่สนใจมิติทางจิตวิญญาณและละเลยเรื่องราวทางด้านอุดมคติของชีวิต แนวคิดใหม่ของการจัดการความรู้เกิดจากกระบวนทัศน์ที่มองชีวิตอย่างเป็นองค์รวม ซึ่งประกอบขึ้นจากมิติทางชีวภาพและมิติทางจิตวิญญาณอันเป็นคุณค่าสูงสุดของชีวิต

บุญเลิศ วทท.

Rating

Average: 3.5 (2 votes)